วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554

หลักการเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย

หลักการเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย

การเขียนตอบให้ได้คะแนนดีไม่ใช่เพียงแต่ตอบถูกธงคำตอบเท่านั้นการที่อาจารย์ผู้ตรวจจะให้คะแนนเต็มหรือเปล่าขึ้นอยู่กับการจับประเด็น การเรียงลำดับข้อเท็จจริงที่จะนำมาปรับกับหลักกฎหมาย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการวินิจฉัยนั่นเอง ข้อสอบกฎหมายมีหลายลักษณะอีกทั้งรูปแบบการเขียนก็จะแตกต่างกันไปตามระดับการศึกษาและเวลาในการทำข้อสอบด้วย


แต่กรณีต่อไปนี้จะเป็นการให้เทคนิคการเขียนตอบข้อสอบในระดับปริญญาตรีซึ่งเหมาะสำหรับนิสิตปี 1 หรือนิสิตกฎหมายที่ยังอ่อนประสบการณ์ในด้านการเขียนซึ่งการเขียนตอบก็จะเป็นในลักษณะที่เรียกว่า การตอบแบบสามส่วน คือมีหลักกฎหมาย การวินิจฉัย และสรุป กล่าวคือ


ข้อสอบแบบตุ๊กตาหรือแบบอุทาหรณ์


ส่วนที่ 1 หลักกฎหมาย


ประมวลกฎหมาย................มาตรา .......................................(กรณีท่องจำตัวบทได้แม่นยำทุกตัวอักษร) หรือ

ประมวลกฎหมาย................วางหลักว่า..................................................(กรณีจำแค่หลักตัวบทในมาตรานั้นหรือยกมาใช้เฉพาะหลัก/วรรคที่เกี่ยวข้อง)


ส่วนที่ 2 วินิจฉัย


กรณีตามปัญหาวินิจฉัยได้ว่า........................................................

(เป็นการปรับบทคือ ปรับหลักกฎหมายในส่วนที่ 1 ให้เข้ากับข้อเท็จจริงที่โจทย์ให้มา
การวินิจฉัยนั้นเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นการวัดความเข้าใจของผู้เขียนได้ดีว่านอกจากจะจำตัวบทได้แล้วยังสามารถนำหลักกฎหมายนั้นมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย แต่มันก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยากสำหรับคนที่เข้าใจแต่ถ่ายทอดออกมาไม่เป็น ซึ่งคนประเภทนี้ต้องฝึกเขียนและฝึกพูดให้เพื่อนหรืออาจารย์ช่วยทดสอบบ่อย ๆ หรือก็คือ หัดมีน้ำใจช่วยติวให้เพื่อน ๆ บ่อย ๆ ก็จะสามารถเป็นนักกฎหมายที่มีการถ่ายทอดเป็นเลิศได้ แถบยังได้ทบททวนความรู้ตัวเองและช่วยเหลือเพื่อนๆ ได้ดีอีกด้วย)


ส่วนที่ 3 สรุป

ดังนั้น.....................................................................


(เป็นการตอบคำถามตามที่ถาม เช่น คำถามถามว่านิติกรรมนี้มีผลทางกฎหมายอย่างไร ก็ตอบไปว่า นิติกรรมนี้เป็นโมฆะ เท่านั้นเองไม่ต้องอธิบายอะไรอีกเพราะเราเขียนไว้ในส่วนที่สองหมดแล้ว)




ตัวอย่างข้อสอบอุทาหรณ์


กฎหมายอาญา


EX. นายชมว่าจ้างนายชิตให้ไปฆ่านายใส นายชิตตกลงทำตาม แต่ก่อนที่จะไปฆ่านายชิตเกิดป่วยกะทันหัน นายชิตจึงไปว่าจ้างนายชื่นให้ไปฆ่านายใสแทนตน เมื่อนายชื่นจ้องเล็งปืนจะยิงนายใส นายชมเกิดสำนักผิดจึงวิ่งเข้ามายังที่เกิดเหตุและปัดปืน ทำให้ปืนตกลงในน้ำ


ให้วินิจฉัยว่า นายชื่น นายชิต นายชม ต้องรับผิดฐานใดหรือไม่

ตอบ

หลักกฎหมาย


ประมวลกฎหมายอาญา
ข้อ 1 วางหลักว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่น โดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต้องระวางโทษ


ข้อ 2 วางหลักว่า ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิดผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น


ข้อ3 วางหลักว่า ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ไม่ว่าด้วยการ ใช้ บังคับ จ้าง วานหรือด้วยวิธีการอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดถ้าผู้ใช้ได้กระทำผิด ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดไม่ได้กระทำไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น


ข้อ 4 ถ้าความผิดที่ได้ใช้ ได้กระทำถึงขั้นลงกระทำความผิด แต่เนื่องจากการเข้าขัดขวางของผู้ใช้ ผู้กระทำได้กระทำไปไม่ตลอดหรือกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้ใช้รับผิดเพียงที่บัญญัติไว้ใน มาตรา๘๔ วรรคสอง




วินิจฉัย

สำหรับความผิดของนายชื่น การที่นายชื่นได้รับจ้างฆ่านายใสถือได้ว่า มีเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อนายชื่นจ้องเล็งปืนจะยิงนายใส เป็นการกระทำขั้นลงมือกระทำความผิดที่ได้กระทำลงจนใกล้ชิดกับผลสำเร็จ อันพึงเห็นได้ประจักษ์แล้ว คือได้กระทำในขั้นสุดท้ายของการจะฆ่านายใสแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะนายชมได้วิ่งมาปัดปืนทิ้ง การฆ่านายใสจึงไม่บรรลุผลสมดั่งเจตนา อันเป็นการพยายามกระทำความผิด ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต้องระวางโทษ สองในสามของความผิดฐานดังกล่าว ตามหลักกฎหมายข้อ 2 ประกอบหลักกฎหมายข้อ1


กรณีของนายชิตที่รับจ้างฆ่านายใสแต่ไปจ้างนายชื่นให้ฆ่าแทน จึงเป็นการก่อให้นายชื่อกระทำความผิด โดยการว่าจ้าง ซึ่งนายชื่นไม่มีเจตนาจะฆ่านายใสมาก่อน นายชิตจึงเป็นผู้ใช้ ตามหลักกฎหมาย ข้อ 3 วรรคแรก เมื่อนายชื่นได้กระทำความผิดตามที่รับจ้างมาคือ เล็งปืนจ้องจะยิง อันเป็นการกระทำความผิดตามที่ได้ใช้มาแล้ว นายชิต ต้องรับโทษเสมือนตัวการคือ รับโทษเท่ากับนายชื่นผู้ลงมือกระทำความผิด นายชิตจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยเป็นผู้ใช้ตามหลักกฎหมายข้อ 3 วรรคสองประกอบหลักกฎหมายข้อ 2 และ ข้อ1


ส่วนกรณีของนายชมที่ไปว่าจ้างนายชิตให้ฆ่านายใสเป็นการก่อให้นายชิตกระทำความผิดเพราะนายชิตไม่มีเจตนาจะฆ่านายใสมาก่อน นายชมจึงเป็นผู้ใช้ ตามหลักกฎหมายข้อ 3 วรรคแรก เช่นเดียวกับนายชิตแม้นายชิตจะไปว่าจ้างนายชื่นอีกต่อก็ตาม ก็ถือได้ว่าการที่นายชื่นพยายามฆ่านายใสนั้นเป็นผลโดยตรงมาจากการว่าจ้างของนายชม นายชมจึงมีความผิดตาม หลักกฎหมายข้อ 3 ประกอบหลักกฎหมายข้อ 2และข้อ1รับโทษเสมือนตัวการเช่นเดียวกับนายชิต


แต่อย่างไรก็ตามการที่นายชมได้เข้ามาปัดปืนตกน้ำนั้น ทำให้นายชื่นกระทำไปไม่ตลอดเพราะการขัดขวางเองของนายชมผู้ใช้ เป็นผลให้การฆ่านายใสไม่บรรลุผล นายชมจึงคงรับผิดเพียงหนึ่งในสามของโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เสมือนว่าความผิดที่ใช้ยังไม่ได้กระทำลงตาม หลักกฎหมาย ข้อ 4 ประกอบหลักกฎหมายข้อ 3 วรรคสอง




ดังนั้น นายชื่นมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน นายชิตมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยเป็นผู้ใช้ ส่วนนายชมมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยเป็นผู้ใช้ แต่รับผิดเพียงหนึ่งในสามของโทษฐานดังกล่าว

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์


Ex. เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2548 นาย จ. ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) ที่มีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ในราคา 1,000.000 บาทให้แก่นาย อ. ซึ่งขณะนั้นยังเหลือเวลาที่ห้ามโอนอีกเพียง 6 เดือน นาย อ. ได้ชำระราคาให้บางส่วนจำนวน 800,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระในวันจดทะเบียนโอน นาย จ. ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และส่งมอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวให้นาย อ. ในวันทำสัญญาจะซื้อขายแล้ว และตกลงว่าจะจดทะเบียนโอนให้นายอ.ในวันที่ 12 ตุลาคม 2548 ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากพ้นกำหนดห้ามโอน แต่เมื่อถึงกำหนด นาย จ.ไม่ยอมโอนที่ดินที่จะซื้อขายให้นาย อ. นาย อ.ได้เรียกเงินจำนวน 800,000 บาท คืนจาก นาย จ. แต่นาย จ.ไม่มีเงินที่จะคืนให้ทันที จึงได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินจำนวน 800,000 บาท และตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี กำหนดชำระคืนภายใน 12 กุมภาพันธ์ 2549 ให้ไว้แก่ นาย อ. แต่เมื่อครบกำหนด นายจ. ไม่ชำระให้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย นาย อ. ยื่นฟ้องนาย จ. ให้ชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยดังกล่าว ในวันที่ 17 เมษายน 2549 เนื่องจากวันที่ 12-14 เมษายน 2549 เป็นวันหยุดสงกรานต์และวันที่ 15-16 เมษายน 2549 เป็นวันเสาร์ อาทิตย์ นาย จ. ให้การต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง และคดีโจทก์ขาดอายุความ


ให้วินิจฉัยว่า นาย จ. ต้องรับผิดต่อนาย อ. หรือไม่ และวันที่นาย อ. ยื่นฟ้องนั้นคดีขาดอายุความหรือไม่


ตอบ

หลักกฎหมาย


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 บัญญัติว่า การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ


มาตรา 411 บัญญัติว่า บุคคลใดได้ทำการเพื่อชำระหนี้ เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่


มาตรา 419 บัญญัติว่า ในเรื่องลาภมิควรได้นั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น


มาตรา 193/8 บัญญัติว่า ถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณี ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา


วินิจฉัย


กรณีที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายระหว่างนาย อ. กับนาย จ. ที่ได้กระทำขึ้นนั้นยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย ถือได้ว่าสัญญาจะซื้อขายมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายตกเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น ตามมาตรา 150 ข้างต้น


เมื่อนิติกรรมเสียเปล่านาย อ. ก็ยังชำระเงินค่าที่ดินให้นาย จ. ตามสัญญานั้นอีก ทั้งยังได้รู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นห้ามโอนตามกฎหมายแต่ก็ยังฝืนชำระ จึงเป็นการชำระหนี้อันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย นายอ.จึงไม่อาจเรียกคืนเงินจำนวนนี้ได้ในฐานลาภมิควรได้ ตามมาตรา 411


ต่อมาการที่นาย อ. นำสัญญากู้ยืมเงินที่นาย จ.ได้ทำ ไว้กับตนมาฟ้อง เป็นสัญญาที่นาย จ.ตกลงรับผิดใช้หนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการที่นาย อ.ได้ชำระหนี้ฝ่าฝืนกฎหมาย จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายชัดแจ้ง ย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม มาตรา 150 นาย อ. ก็ไม่อาจเรียกให้นาย จ. ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินได้


สรุป นายจ.ไม่ต้องรับผิดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ให้แก่นาย อ. (ฎ.1876/2542)





ส่วนประเด็นที่นาย อ. ยื่นฟ้องนั้น คดีขาดอายุความหรือไม่ อันเป็นการฟ้องเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ ซึ่งตามมาตรา 419 ห้ามฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นบแต่รู้ว่ามีสิทธิเรียกคืนหรือเมื่อพ้น10 ปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น สำหรับนิติกรรมที่เป็นโมฆะเพราะคู่กรณีมีเจตนาทำสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายนั้น ต้องถือว่าบุคคลทุกคนได้รู้ถึงกฎหมายเช่นว่านี้แล้ว


เมื่อไม่ปรากฏว่า นาย อ. ได้อ้างว่าตนไม่รู้และไม่อยู่ในฐานะที่อาจรู้ได้เช่นนั้น สิทธิในการเรียกคืนทรัพย์ของนาย อ. ย่อมเกิดขึ้นทันทีที่นาย จ. ได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย และปรากฏว่านาย อ. ได้ชำระหนี้ค่าที่ดินให้นาย จ. วันที่ 12 เมษายน 2548 นายอ.เมษายน 2549 แต่วันที่ 12-16 เมษายน 2549 เป็นวันหยุดราชการ นาย อ.ย่อมมีสิทธิยื่นฟ้องได้ในวันที่ 17 เมษายน 2549 ซึ่งเป็นวันแรกที่ศาลเปิดทำการตามมาตรา193/8 คดีจึงไม่ขาดอายุความ


ดังนั้น คดีที่นาย อ.ยื่นฟ้องนาย จ. จึงยังไม่ขาดอายุความ




กรณีข้อสอบบรรยาย


การตอบข้อสอบบรรยายต้องจำในเรื่องของความหมายของคำที่ให้ เพื่อที่จะได้อธิบายความหมายของคำหรือประโยคที่โจทย์กำหนดมาได้ ซึ่งผู้สอบจะต้องอ่านหนังสือให้มากและละเอียด ทั้งจะต้องยกตัวอย่างด้วยในการอธิบายความหมายนั้น จึงจะทำให้ได้คะแนนเต็ม แต่ทั้งนี้การตอบข้อสอบบรรยายก็ไม่ควรโม้มากเกินไป ควรโม้(บรรยาย) ให้มีสาระ ได้ใจความ ไม่เยิ่นเย้อเพราะถ้าตอบมากไป เป็นน้ำเสียส่วนมากก็จะทำให้อาจารย์ผู้ตรวจไม่ชอบ เบื่อ(ขี้เกียจอ่าน) และผลที่ตามมาก็คือขี้เกียจให้คะแนนดี ๆ ด้วย


ฉะนั้นการตอบข้อสอบบรรยายควรอ่านให้มาก แต่เขียนแบบย่อความ เอาเฉพาะประเด็นที่ถามพร้อมยกตัวอย่างประกอบให้ถูกต้องและเข้าใจง่าย คุณก็จะได้คะแนนเต็มแน่นอน


Ex สิทธิคืออะไร เหมือนหรือแต่ต่างกับหน้าอย่างไร จงอธิบายพอสังเขป


สิทธิ คือ ……………………………………………………...


ตัวอย่าง เช่น.................................................................


หน้าที่ คือ…………………………………………………….


ตัวอย่าง เช่น...........................................................


ข้อที่เหมือนกัน คือ
1………………………………

2………………………………


ข้อที่แตกต่างกัน คือ
1……………………………….

2……………………………….


ข้อเสนอแนะ


การเรียนกฎหมายไม่ใช่เรื่องยากแต่ก็ไม่ใช่ของง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็เรียนจบอย่างสวยงามได้ ผู้เขียนมีเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการเรียน-การสอบดังนี้


1. อ่านก่อนเรียน เพื่อที่เวลาเรียนจะได้ตั้งใจฟังเป็นพิเศษเพราะอ่านเองงงไม่ค่อยเข้าใจ ต้องมาอาศัยอาจารย์ท่านบรรยายยกตัวอย่างให้ฟัง


2. อ่านทวนหลังเรียนเสร็จเผื่อเจอปัญหาไม่เข้าใจอีกจะได้ถามอาจารย์ในชั่วโมงหน้า พร้อมกับอ่านเตรียมเรียนชั่วโมงหน้าด้วย


3. เวลาเรียนให้จดไปด้วย โดยฟังแล้วสรุปเอาจากการบรรยายของอาจารย์ ไม่ใช่มาคอยจดเอาจากหน้าจอฉาย power point จะทำให้เราไม่สนใจฟังมัว แต่ขมักเขม่นกับการจดตามและหงุดหงิดเวลาอาจารย์คลิกผ่านหน้านั้นไปเร็วจนจดไม่ทัน ทั้งที่กลับไปอ่านในตำราก็ได้ แต่ควรฟังก่อนเพื่อความเข้าใจและจดสรุปเป็นคำพูดของตัวเองตามความเข้าใจ อาจจะจดใส่สมุดด้วยและโน้ตย่อไว้ในประมวลมาตรานั้นด้วยก็ยิ่งดี เวลาอ่านทวนจะได้ถือประมวลไปเล่มเดียวก็สามารถอ่าน ท่องจำได้อย่างเข้าใจ


4. คนที่เพิ่งเรียนกฎหมายหรือที่ยังไม่ได้เรียนมักมีคำถามว่า เรียนกฎหมายต้องท่องจำเก่งใช่ไหม ขอให้ทราบเอาไว้เลยว่ามีวิชาใดบ้างที่ไม่ต้องท่องจำ ทุกสาขาวิชาต้องอาศัยการจำ และการท่องก็เป็นการทำให้จำได้ แต่ไม่ใช่แบบนกแก้วนกขุนทองนะ ต้องเป็นการท่องเพื่อจำและจำอย่างเข้าใจ จึงจะเรียนวิชานั้น ๆ อย่างเข้าใจได้ รวมถึงการเรียนวิชากฎหมายด้วย


การทดสอบความเข้าใจได้ดีที่สุดคือ การพูดให้เพื่อนฟัง การเขียนให้เพื่อนอ่าน หรือให้อาจารย์ รุ่นพี่ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องนั้น ช่วยให้คะแนน ก็จะเป็นการทดสอบตัวเองและช่วยได้ดีเวลาสอบด้วย เพราะการเขียนเป็นสิ่งสำคัญถ้าเขียนแล้วผู้ตรวจไม่รู้เรื่อง เขียนวนไปเวียนมา หาที่ลงไม่ได้ ผู้ตรวจก็จะหาคะแนนลงให้ไม่ได้เช่นเดียวกัน ฉะนั้นต้องฝึกหัดเขียนทำข้อสอบเก่าเยอะ ๆก็จะช่วยได้มากทีเดียว


5. การอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบควรอ่านวิชาที่สอบวันสุดท้ายก่อนไล่มาถึงเล่มที่สอบวันแรก กรณีตารางสอบออกช้า ก็ควรถามรุ่นพี่ ว่าปีก่อนนั้นตารางสอบเป็นยังไง วิชาไหนสอบก่อนหลัง เพื่อเป็นแนวทาง (ตารางอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละปีอย่าถือตามเสียทีเดียว) การอ่านหนังสือควรสม่ำเสมอมาตั้งแต่ต้นเทอมเพื่อที่ปลายเทอมจะได้ไม่หนักเกินไปในการอ่านหนังสือแถมเวลาเรียนก็เข้าใจเร็วและง่ายกว่าคนอื่น ๆ ด้วย ในการอ่านหนังสือแต่ละครั้งควรขีดเส้นใต้ใจความสำคัญหรือสัญลักษณ์ไว้ด้วยเพราะเวลาอ่านทวนจะได้อ่านเฉพาะที่สำคัญ สำหรับบางคนที่เป็นคุณสะอาดไม่ชอบเลอะเทอะก็แนะนำว่าให้ทำบันทึกย่อ ๆเอาไว้ในสมุดก็จะทำให้ได้ สรุปวิชานั้น ๆ หนึ่งเล่มสำหรับอ่านทบทวนตอนใกล้สอบ


6. เทคนิคในการสอบอีกอย่างก็คือ หัดทำข้อสอบเก่า เพื่อฝึกจับประเด็นโจทย์ เพราะโจทย์มักมีอะไรซ่อนอยู่เสมอ โดยเฉพาะวิชากฎหมายอาญาคำทุกคำของโจทย์มีความหมายเสมอเพราะผู้ออกข้อสอบจะไม่ออกข้อสอบยาวเกินไป


7. การทำข้อสอบ เมื่อได้ข้อสอบมาควรอ่านอย่างตั้งใจทีละข้อ โดยแต่ละข้อให้โน้ตเอาไว้ว่ามีประเด็นอะไรบ้าง มาตราที่เกี่ยวข้องหรือหลักย่อ ๆ ตามความเข้าใจ พร้อมทั้งฟันธงไปเลยว่าผิดไหม ผิดอะไร ใครบ้าง จนครบทุกข้อ แล้วกลับมาเลือกทำข้อที่ง่ายและมั่นใจที่สุดว่าถูกต้องเรียงลำดับไปจนถึงข้อที่ยากที่สุด


และในการนี้ต้องคำนวณเวลาในการทำข้อสอบด้วยว่าแต่ละข้อควรใช้เวลาเท่าใดและต้องไม่มากไปกว่าที่กำหนดไว้ ถ้าข้อไหนทำเกินเวลาที่กำหนดอีกก็ควรเร่งเวลาให้ทดแทนกัน ซึ่งข้อง่าย ก็จะเขียนได้เร็ว แต่ก็อย่าชะล่าใจมัวแต่บรรยายน้ำ รู้เอาไว้เลยว่าอาจารย์/ผู้ตรวจไม่ให้คะแนนความมากของจำนวนหน้าหรอก ถ้าเขียนดีจำนวนหน้าที่ได้ในการเขียนตอบก็จะสมน้ำสมเนื้อเอง รวมถึงคะแนนด้วย เพราะพึงสังวรไว้เลยว่า การเขียนมากก็ถูกหักมาก เขียนน้อยก็ได้คะแนนน้อย


ตอนสอบไม่ต้องสนใจคนที่ขอสมุดเพิ่มเพราะนั้นอาจเป็นน้ำหรืออาจตอบผิดขีดฆ่าทิ้งก็ได้หรือเขียนเว้นบรรทัด ไม่ต้องสนใจจะทำให้เราเสียสมาธิได้ และที่สำคัญอีกอย่าง การเขียนตอบข้อสอบลายมือควรเขียนให้อ่านง่าย ใครลายมือไม่สวยก็ให้เขียนตัวโต ๆ เข้าไว้ และย่อหน้าใหม่ทุกครั้งสำหรับประเด็นถัดไป ใครลายมือแย่สุดๆ เขียนเว้นบรรทัดเลยก็ได้ แต่ได้เฉพาะสนามปริญญาตรีเท่านั้นนะการเขียนเว้นบรรทัดสนามใหญ่อื่น ๆ มักห้ามเว้นบรรทัด ห้ามทำสัญลักษณ์ และขีดเส้นใต้ เพราะอาจเป็นการส่งสัญลักษณ์ให้ผู้ตรวจจะถูกสันนิฐานว่าโกง


การสะกดคำก็ควรเขียนให้ถูกต้องเพราะแสดงถึงว่าเราอ่านมาดีคำที่น่าจะสะกดผิดก็เขียนถูกต้อง เผื่อเวลาเราผิดพลาดบางประเด็นผู้ตรวจก็อาจเห็นใจไม่หักคะแนนมากก็อาจเป็นได้


8. ห้ามทุจริตเป็นอันขาด นอกจากถูกปรับตกแล้วยังเป็นที่น่าเสื่อมเกียตริอย่างแรง คนที่ตกเพราะเตรียมตัวมาไม่ดี ก็ยังมีศักดิ์ศรีกว่าคนผ่านแบบทุจริต นักนิติศาสตร์รู้ว่าอะไรผิดถูกแต่กลับทำผิดเสียเองโทษนั้นไม่น่าอภัยยิ่งนัก (ความคิดเห็นส่วนบุคคล)


9.หนังสือแนะนำในการศึกษากฎหมาย คือ “คำแนะนักศึกษากฎหมาย” ของศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น