วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

โครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญ

โครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 15 คน มีที่มา 2 ทาง
1. สายผู้พิพากษาในศาลฎีกา 5 คน และตุลาการศาลปกครองสูงสุด 2 คน
2. สายผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 5 คนและสาขารัฐศาสตร์ 3 คน
โดยมีคณะกรรมการสรรหา 13 คน คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วย
ประธานศาลฎีกา
ผู้แทนคณบดีคณะนิติศาสตร์ 4 คน
ผู้แทนคณบดีคณะรัฐศาสตร์ 4 คน
ผู้แทนพรรคการเมือง 4 คน
คณะกรรมการสรรหาเสนอชื่อ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 10 คนและสาขารัฐศาสตร์ 6 คน
ต่อประธานวุฒิสภา วุฒิสภาต้องมีคะแนนเสียง ?
วาระการดำรงตำแหน่ง
ผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ในวาระของตนเอง คือ 9 ปี มาตรา 259
อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญแบ่งได้ ๖ กลุ่ม ดังนี้
1. การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของปทัสฐาน(บรรทัดฐาน)ทางกฎหมาย
2. การวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ
3. การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของพรรคการเมือง
4. การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในการดำเนินงานในวงงานของรัฐสภา
5. การตรวจสอบความสมบูรณ์ในการดำรงตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภา รมต.และกรรมการการเลือกตั้ง
6. การตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีอื่น ๆ
การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของปทัสฐาน(บรรทัดฐาน)ทางกฎหมาย
เรื่องที่จะต้องตรวจสอบมี ๓ กรณี คือ
- การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ตามมาตรา ๒๖๒
(ก่อนใช้บังคับ)
- การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ตามมาตรา ๒๖๔
(หลังใช้บังคับแบบรูปธรรม)
- การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ตามมาตรา ๑๙๘
(หลังใช้บังคับแบบนามธรรม)
ความแตกต่างระหว่าง ม.๒๖๒ กับม.๒๖๔
1. การร้องขอให้วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญตาม ม.๒๖๒ จะทำได้เมื่อสภาผ่านร่างกฎหมายนั้นแล้วแต่ยังมิได้ส่งให้ลงพระปรมาภิไธย ส่วน ม. ๒๖๔ ต้องกระทำหลังจากที่กฎหมายนั้นประกาศในราชกิจจาฯและมีผลบังคับใช้แล้ว
2. การร้องขอตาม ม. ๒๖๒ นั้นเฉพาะสมาชิกสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดของรัฐสภาหรือของแต่ละสภาที่จะสามารถเป็นผู้เข้าชื่อร้องขอ หรือไม่น้อยกว่า ๒๐ คน ถ้าเป็น พ.ร.บ.ประกอบฯ แต่ ม.๒๖๔ เป็นเรื่องที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความยกขึ้นโต้แย้ง
3. ม.๒๖๒ ครอบคลุมไปถึงทั้งเนื้อหาและกระบวนการของการตรากฎหมาย แต่ ม.๒๖๔ จำกัดเฉพาะเนื้อหาของกฎหมายเท่านั้น
1) ม. ๒๖๔ เป็นการบัญญัติรองรับหลักการของ ม.๒๘ วรรคสอง ...เพื่อใช้สิทธิทางศาลและยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ ม. ๒๖๔ เป็นการบัญญัติช่องทางการนำเรื่องสู่ศาลรัฐธรรมนูญทั้งกรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่ากฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
2) ม.๒๖๔ หากคู่ความเป็นผู้เสนอข้อโต้แย้ง ศาลรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัยไม่รับคำโต้แย้งได้หากพิจารณาแล้วไม่มีสาระอันควรรับการวินิจฉัย ซึ่งต่างกับกรณีที่ศาลเห็นเอง
สรุป อำนาจควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ
1. การควบคุมตรวจสอบแบบนามธรรม (ไม่มีคดีเกิดขึ้นในศาล)
- ก่อนประกาศใช้กฎหมาย ใช้สิทธิตามมาตรา 262 เสนอให้ประธานสภาส่งไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งนายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า
- กรณี พรบ. มีสมาชิกรัฐสภา 1/10
- กรณี พรบ.ประกอบฯ มีสมาชิกรัฐสภา ไม่น้อยกว่า 20 คน
- กรณีนายกรัฐมนตรี เห็นว่า พรบ.หรือ พรบ.ประกอบฯ มีข้อความขัดหรือแย้ง
หรือตราโดยไม่ถูกต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้ง ประธาน สส.
ประธาน สว. และประธานรัฐสภาทราบโดยไม่ชักช้า
- หลังประกาศใช้กฎหมาย มาตรา 198 เป็นกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของบุคคลใดตามมาตรา 197(1) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลปกครอง แล้วแต่กรณี(ถ้าไม่เกี่ยวพันกับรัฐธรรมนูญ ต้องส่งศาลปกครอง เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตามมาตรา 198 เฉพาะบทบัญญัติองกฎหมายเป็นหลักเท่านั้น)
2. การควบคุมตรวจสอบแบบรูปธรรม (มีคดีเกิดขึ้นในศาล)
มาตรา 264 เป็นการควบคุมหลังจากที่กฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว ศาลหรือคู่ความเห็นว่า กฎหมายที่ต้องใช้ในคดีนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ ศาลต้องระงับกระบวนพิจารณา แล้วส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าขัดฯ ศาลจะนำเอากฎหมายมาใช้กับคดีนั้นไม่ได้
กรณีขัดรัฐธรรมนูญ
- สิทธิตรวจสอบ เป็นอำนาจที่จะพิจารณาในเบื้องต้นว่ากฎหมายนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
- สิทธิวินิจฉัยชี้ขาด เป็นอำนาจในการชี้ขาดเป็นที่สุด เป็นอำนาจเบื้องต้นว่ากฎหมายนั้นขัดฯ
ระบบรวมศูนย์การควบคุมตรวจสอบ
1. ถ้าเป็นกฎหมายลำดับพระราชบัญญัติ ใช้ระบบรวมศูนย์อำนาจในการตรวจสอบ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ
2. ถ้าเป็นกฎหมายลำดับรอง ใช้ระบบกระจายอำนาจในการควบคุมตรวจสอบ
ขอบเขตการควบคุมตรวจสอบ
1. ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบเฉพาะเนื้อหา ไม่มีอำนาจตรวจสอบรูปแบบหรือกระบวนการตรากฎหมาย
2. ผู้มีสิทธิตรวจสอบ คือ ศาลและคู่ความในคดี
3. ถ้ากฎหมายนั้นศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยแล้วไม่ต้องส่ง
4. ต้องเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับคดี
ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 264
แนวทางที่ 1 กฎหมายไม่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมมีคำวินิจฉัย (ทำให้กฎหมายใช้บังคับไม่ได้ต่อไป แต่ไม่เกี่ยวกับอดีตที่ผ่านมา)
แนวทางที่ 2 กฎหมายไม่มีผลใช้ตั้งแต่แรก (ตั้งแต่วันประกาศใช้กฎหมาย)
แนวทางที่ 1 เน้นความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ
ข้อดี กฎหมายมีผลสมบูรณ์ ถูกต้องบนฐานของกฎหมายที่มีสภาพบังคับ
ข้อเสีย อธิบายไม่ได้ว่ากฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญมาแต่ต้น ทำไมยังมีผลใช้บังคับโดยบริบูรณ์
แนวทางที่ 2 เน้นในเรื่องความยุติธรรม (คดีถึงที่สุดและมีการบังคับคดีเสร็จสิ้นแล้ว)
ข้อดี สามารถอธิบายให้ถูกต้องตรงสภาพความเป็นจริง
ข้อเสีย มีปัญหาในการอธิบายของการดำรงอยู่ของการกระทำต่างๆที่เกิดขึ้นบนฐานของกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
การวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ม.๒๖๖
ม.๒๖๖ กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งหวังให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญทุกองค์กรที่เกิดปัญหาและเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ จากการศึกษาวิเคราะห์ประกอบกับแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดคดีเหล่านี้ พบข้อสังเกตดังต่อไปนี้
1) องค์กรตามรัฐธรรมนูญตามมาตรานี้ ควรเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ยังต้องมีอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง โดยจะต้องเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระและใช้อำนาจในลักษณะที่เป็นอำนาจทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย
2) การวินิจฉัยชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญตาม ม.๒๖๖ มีการพัฒนาการของแนวความคิดทางกฎหมายของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนในระยะเวลาอันสั้น คำวินิจฉัยที่ ๔/๒๕๔๑ ศาลว่าเทศบาลเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่ต่อมาในคำวินิจฉัยที่ ๕๘-๖๒/๒๕๔๓ ศาลวินิจฉัยว่า อบต. อบจ.และเทศบาลเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นที่ตันขึ้นตามกฎหมายมิได้จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ จึงมิใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญตาม ม.๒๖๖
3) ต้องเป็นปัญหาขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรต่าง ๆ ไม่ใช่องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตนเอง คำวินิจฉัยที่ ๘/๒๕๔๒
4) ปัญหาเกี่ยวกับองค์กรกลุ่ม จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญจะต้องกระทำโดยเป็นมติองค์กรกลุ่ม เช่น ต้องมีมติเสียงข้างมากของที่ประชุมสภา ประธานสภาจะใช้อำนาจเสนอเรื่องโดยลำพังไม่ได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ใช้อำนาจเฉพาะของประธานรัฐสภาตาม ม.๒๖๖ ได้กำหนดไว้โดยแจ้งชัดในฐานะผู้เสนอเรื่องแทนองค์กรอื่นเท่านั้น
ปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ มี 2 ประเด็นปัญหา คือ
1. ปัญหาเกี่ยวกับวิธีพิจารณาของศาล
2. ปัญหาที่เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาล

1. ปัญหาเกี่ยวกับวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาที่มีความสำคัญอันจะนำไปสู่ข้อเสนอในการแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมาย มีอยู่ทั้งสิ้น ๔ ประการ ได้แก่
1.1 การให้ศาลรัฐธรรมนูญตราข้อกำหนดว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญได้เอง ตามมาตรา ๒๖๙ ของรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติดังกล่าวน่าจะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและความเป็นไปได้ในการที่จะสามารถมีข้อกำหนดที่ละเอียดครบถ้วนและกำหนดหลักเกณฑ์ในกระบวนพิจารณาที่เหมาะสม โดยต้องผ่านความเห็นชอบด้วยมติเอกฉันท์ของตุลาการรัฐธรรมนูญทุก ๆ คนในทุก ๆ เรื่อง และผลที่ตามมาจากการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลก็เป็นเรื่องที่จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบกฎหมาย ดังนั้นข้อกำหนดว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจึงควรจะต้องกำหนดให้มีขึ้นในรูปของกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ มิใช่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดขึ้นเอง (ศาลมีอำนาจตรากฎหมายเช่นเดียวกับฝ่ายนิติฯ)
1.2 ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องผูกพันต่อคำวินิจฉัยชี้ขาดที่ได้มีมติไปแล้ว ถึงแม้ว่าตุลาการเสียงข้างน้อยจะไม่เห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่ เมื่อต้องทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นปัญหาแห่งคดี ตุลาการเสียงข้างน้อยก็ยังคงยืนยันความเห็นเดิม เช่นนี้เท่ากับว่าเป็นการปฏิเสธความยุติธรรมหรือปฏิเสธการวินิจฉัยชี้ขาดคดี ซึ่งโดยหลักการต้องไม่มีปรากฏขึ้นในองค์กรตุลาการ ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ควรจะต้องมีการแก้ไขโดยต้องกำหนดให้ตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญทุกคนจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นหลักแห่งคดี หากว่าศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับเรื่องดังกล่าวเข้ามาในอำนาจพิจารณาของศาลโดยมติเสียงข้างมากมาแล้ว
1.3 ปัญหาในการกำหนดและประกาศองค์คณะพิจารณาคดีให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินกระบวนพิจารณาและทำให้หลักการคัดค้านตุลาการที่กำหนดไว้ในวิธีพิจารณาสามารถปฏิบัติได้โดยการกำหนดองค์คณะจะต้องไม่ต่ำกว่าเก้าคน หรือในคดีบางประเภทที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น คำโต้แย้งของคู่ความว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๑๔ วรรคสอง อาจบัญญัติกำหนดองค์คณะพิจารณาให้แตกต่างจากคดีอื่น หรือกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ
1.4 ปัญหาในการไม่แยกประเภทวิธีพิจารณาในกรณีต่าง ๆ ออกจากกันให้ชัดเจน โดยพันธะกิจทั้ง ๖ ประการของศาลรัฐธรรมนูญมีลักษณะและธรรมชาติที่แตกต่างกัน จึงควรมีวิธีพิจารณาที่แยกต่างหากจากกันในแต่ละกรณีด้วยเช่นนี้ ควรมีการยกร่างหลักเกณฑ์เกี่ยวกับวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยแยกหลักทั่วไปร่วมกันของวิธีพิจารณาคดีทุกประเภทออกไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก และจะต้องมีบทบัญญัติเฉพาะว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีแต่ละประเภทตามพันธะกิจทั้ง ๖ ประการของศาลรัฐธรรมนูญแยกต่างหากอีกส่วนหนึ่ง
2. ปัญหาเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
2.1 ปัญหาในเรื่องผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยชี้ขาดหรือที่เรียกว่า คำวินิจฉัยกลาง จะมีผลบังคับใช้เป็นคำพิพากษาตั้งแต่เมื่อใด จากพฤติการณ์ในการมีคำวินิจฉัยสองคราวคือมีการประกาศคำวินิจฉัยด้วยวาจากับคำวินิจฉัยเป็นลายลักษณ์อักษรที่มีขึ้นโดยสมบูรณ์ในวันที่เขียนคำวินิจฉัยกลางเสร็จและมีการลงนามครบถ้วนแล้ว จึงเป็นปัญหาสำคัญและจะส่งผลร้ายต่อสถานะและสิทธิทางกฎหมายของสมาชิกของสถาบันการเมืองที่สำคัญตามรัฐธรรมนูญ และจำเป็นต้องมีการแก้ไขโดยเร่งด่วน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเคร่งครัดกับสถานะความเป็นองค์กรตุลาการที่จะต้องทำคำวินิจฉัยชี้ขาดเป็นลายลักษณ์อักษร ในทุกประเด็นที่พิพากษาและจะต้องให้เหตุผลที่ชัดแจ้งประกอบด้วย หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องมีการแถลงด้วยวาจาก่อนที่คำพิพากษาจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2.2 ปัญหาในเรื่องคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการ ตามมาตรา ๒๖๗ วรรคสอง ปัญหาคือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละท่านได้เขียนคำวินิจฉัยส่วนตนและแถลงต่อที่ประชุมก่อนที่จะได้มีการจัดทำคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตาม ม. ๒๖๔ มี ๒ แนวความคิด คือ
แนวที่ ๑ เป็นแนวทางตามออสเตรีย
แนวที่ ๒ เป็นตามเยอรมัน
แนวคิดที่ ๑ ผลของคำวินิจฉัยไม่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย(ex nunc) คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลก่อสภาพแห่งความใช้บังคับไม่ได้ของกฎหมาย มีผลตั้งแต่วันที่ศาลวินิจฉัย(ยกเลิกกฎหมาย) จุดอ่อนคือ อธิบายไม่ได้ว่ากฎหมายฉบับนั้นทำไมจึงมีผลบังคับได้อยู่ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย (ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจนิติบัญญัติในทางปฏิเสธกฎหมาย) เป็นหลักการเน้นความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ
แนวคิดที่ ๒ ผลของคำวินิจฉัยไม่มีผลใช้บังคับตั้งแต่แรก(วันประกาศใช้กฎหมาย) (ex tunc) คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลเป็นการแสดงความเสียเปล่าของกฎหมาย หรือการบังคับใช้ไม่ได้ตั้งแต่แรกประกาศใช้กฎหมายนั้นมีผลย้อนไปในอดีต จุดอ่อนคือ กฎหมายส่งผลต่อการกระทำทางปกครองที่เกิดก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอย่างไร (เมื่อกฎหมายนั้นสิ้นผลตั้งแต่วันที่ประกาศใช้) เป็นหลักการเน้นความยุติธรรม
จากแนวความคิดทั้งสองทางทำให้เกิดแนวการประสานความคิดใน รธน.ม.๒๖๔ วรรคสาม เป็นเสมือนหนึ่งว่าผลของกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ มีผลย้อนไปในอดีตแต่ไม่กระทบกับคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้ว มีประเด็นปัญหาที่ต้องทำความเข้าใจอีก ๒ ประเด็น คือ คำพิพากษาถึงที่สุดหมายความว่าอย่างไร และถ้าการกระทำในทางกฎหมายขององค์กรของรัฐไม่ใช่คำพิพากษาถึงที่สุดแต่เป็นคำสั่งทางปกครองที่มีการบังคับการตามคำสั่งจบสิ้นไปแล้ว เช่น คำสั่งประเมินภาษีที่มีการชำระเรียบร้อยไปแล้ว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญจะมีผลกระทบกับคำสั่งดังกล่าวหรือไม่ (ฐานของกฎหมายที่เก็บภาษีขัดรัฐธรรมนูญ)
ประเด็นแรก คำพิพากษาถึงที่สุด ถึงที่สุดในที่นี้อาจารย์เห็นว่าต้องถึงที่สุดและมีการบังคับคดีจบสิ้นไปแล้ว เพราะ ม.๒๖๔ วรรคสาม ตั้งอยู่บนความแน่นอนของนิติฐานะที่นิ่งแล้ว จึงเยียวยาความเสียหายของจำเลยในคดีนั้น
ประเด็นที่สอง คำสั่งทางปกครองที่ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ตาม ม.๒๖๔ วรรคสาม คำสั่งทางปกครองที่ถูกปฏิบัติหรือดำเนินไปแล้วโดยกฎหมายที่ถูกต้องในขณะนั้น มีผลผูกพันบังคับการได้สามารถดำรงอยู่ได้ด้วย จึงไม่มีผลย้อนหลังกับไป อาจารย์เห็นว่าคำสั่งทางปกครองที่ไม่อุทธรณ์โต้แย้งมีสภาพคล้ายคลึงกับคำพิพากษาถึงที่สุด ใช้หลัก Analogy คำสั่งทางปกครองต้องมีจุดตัด คือ ถ้าเรื่องใดจบแล้วคือจบ เป็นการนำหลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะมาใช้ ถ้าเรื่องยังไม่จบก็นำเอาหลักความยุติธรรมมาใช้
แต่ในกรณีของคดีทางอาญาแตกต่างกัน เมื่อมีการบังคับคดี ต้องมีการดำเนินกระบวนการเพื่อลบล้างคำพิพากษาจากกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ คือ ขอรื้อฟื้นคดีใหม่
อำนาจวินิจฉัยความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ม.๒๖๖
ประเด็นปัญหาคือ อะไรคือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรตามรัฐธรรมนูญศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่า องค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญและกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังก่อปัญหาอีกว่าอย่างไรจึงถือว่าจัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ อย่างเช่นศาลปกครองถือว่าจัดตั้งโดยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะว่ามี พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง อำนาจของศาลปกครองมาก็จาก พ.ร.บ.จัดตั้งนี้ อาจารย์เห็นว่าศาลปกครองถือว่าเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ปัญหานี้เกิดเพราะการแยกชั้นของกฎหมายยังมีข้อถกเถียงกัน แต่ในต่างประเทศการแยกกฎหมายปกครองกับรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างชัดเจน กล่าวคือรัฐธรรมนูญเป็นสถาบันหรือว่าเป็นองค์การตัวขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญให้เป็นไปได้คือองค์การตามรัฐธรรมนูญ
เงื่อนไขทางทฤษฎี ตาม ม.๒๖๖ คดีขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร คนที่มีสิทธิยื่นเรื่องตาม ม.๒๖๖ คือ องค์กรที่มีปัญหาขัดแย้งนั้นเอง และประธานรัฐสภา ปัญหาคือ ทำไมประธานรัฐสภาจะต้องทำหน้าที่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ในเมื่อ ม. ๒๖๖ เป็นกรณีการขัดแย้งในอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคู่กรณีก็ส่งเรื่องเอง
สรุป คดีของศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 266)
ผู้มีสิทธิตามมาตรา 266 คือ องค์กรที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ และประธานรัฐสภา

เรียบเรียงโดย...ธีรวัฒน์ สุขมล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น