วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความรู้เกี่ยวกับรัฐ

ความหมายของรัฐ ชาติ ประเทศ
รัฐหมายถึง ชุมชนทางการเมืองของมนุษย์ อันประกอบด้วยดินแดนที่มีขอบเขตแน่นอน มีประชากรอาศัยอยู่ในจำนวนที่เหมาะสม โดยมีรัฐบาลปกครองและมีอำนาจอธิปไตยของตัวเอง
ชาติหมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางวัฒนธรรม และมีความผูกพันกันในทางสายโลหิต เผ่าพันธุ์ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ตลอดจนมีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน หรือมีวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองร่วมกัน เช่นคำว่า ชาติไทย
ประเทศความหมายกว้าง หมายรวมถึงดินแดนที่มีฐานะเป็นรัฐหรือไม่มีฐานะเป็นรัฐ แต่โดยสรุปแล้ว คำว่า ประเทศตามกฎหมายระหว่างประเทศ หมายถึง ดินแดน อาณาเขต และสภาพภูมิศาสตร์ เป็นต้นว่า ความอุดมสมบูรณ์ ดินฟ้าอากาศ แม่น้ำภูเขา ทะเล ป่าไม้ ฯลฯ เช่น ประเทศไทย ประเทศสหรัฐอเมริกา

องค์ประกอบของรัฐ
1. ประชากร (Population) หมายถึง มนุษย์ทุกคนที่อยู่ในอาณาเขตของรัฐถือว่ามีฐานะเป็นส่วนของรัฐโดยอัตโนมัติสิ่งที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับประชากรก็คือ
1) จำนวนประชากรแต่ละรัฐมีประชากรจำนวนเท่าใด ไม่มีการกำหนดที่แน่นอนแต่ควรจะมีมากพอที่จะกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครองได้
2) ลักษณะของประชากร หมายถึง ลักษณะทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เพราะมีหลายรัฐที่ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติภาษา และวัฒนธรรม
3) คุณภาพของประชากร ขึ้นอยู่กับการศึกษา สุขภาพ อนามัย ทัศนคติ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการพัฒนาทุกรูปแบบ
2. ดินแดน (Territory) มีข้อสังเกตดังนี้คือ
     1)ที่ตั้ง ดินแดนของรัฐหมายถึง อาณาเขตพื้นดิน น่านน้ำ อาณาเขตในท้องทะเล น่านฟ้า บริเวณใต้พื้นดิน พื้นน้ำและพื้นทะเล
     2) ขนาดของดินแดนไม่มีหลักเกณฑ์ไว้แน่นอนตายตัวว่าจะต้องมีขนาดเท่าใดจึงจะถือว่าเป็นรัฐ แต่ควรจะมีความเหมาะสมกับจำนวนประชากรด้วย
3. รัฐบาล (Government) คือ องค์กร หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปกครองและบริหารภายในโดยเป็นผู้กำหนดนโยบายและนำนโยบายไปปฏิบัติ เพื่อจัดระเบียบทางสังคม และดำเนินทุกอย่างเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ รัฐบาลจึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองรัฐ
4. อำนาจอธิปไตย (Sovereignty) เป็นองค์ประกอบประการสุดท้ายที่สำคัญของรัฐ อำนาจอธิปไตย คือ อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ อำนาจอธิปไตยมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ อำนาจอธิปไตยภายใน (Internal Sovereignty) หมายถึง การที่มีอำนาจที่จะปกครองตนเองและมีอำนาจสูงสุดที่จะดำเนินการ ใด ๆ ในประเทศอย่างมีอิสระ ปราศจากการควบคุมจากรัฐอื่น อำนาจอธิปไตยภายนอก (External Sovereignty) หมายถึง การมีอิสระ มีเอกราชสามารถจะดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ หรือกล่าวกันอีกอย่างหนึ่งว่าเอกราชก็คืออำนาจอธิปไตยภายนอกนั่นเอง
องค์ประกอบของรัฐทั้ง 4 ประการนี้ มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ถ้ารัฐใดขาดองค์ประกอบในข้อใดข้อหนึ่ง แม้เพียงองค์ประกอบเดียวก็ตาม ถือว่าขาดคุณสมบัติของความเป็นรัฐโดยสิ้นเชิง

จุดประสงค์ของรัฐ
1. สร้างความเป็นระเบียบ
2. การส่งเสริมสวัสดิภาพแก่ประชาชน
3. การส่งเสริมสวัสดิการแก่ส่วนรวม
4. การส่งเสริมคุณธรรม

หน้าที่ของรัฐหน้าที่ของรัฐแล้วมีอยู่ 4 ประการ คือ
1. การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน
2. การให้บริการและสวัสดิการทางสังคม
3. การพัฒนาประเทศ
4. การป้องกันการรุกรานจากภายนอก

รูปแบบของรัฐ (Forms of State)
1. รัฐเดี่ยว (Unitary State) คือ รัฐที่มีรัฐบาลกลางเป็นผู้มีอำนาจปกครอง และอำนาจบริหารสูงสุดเพียงองค์กรเดียว รัฐบาลกลางเป็นผู้ที่ใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อำนาจคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
รัฐบาลเป็นองค์กรกลางองค์กรเดียวของรัฐที่ปกครองประชาชนได้โดยตลอด รวมถึงการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศด้วย ตัวอย่างรัฐเดี่ยว ได้แก่ อังกฤษ ญี่ปุ่น และไทย เป็นต้น

ขอสังเกตลักษณะของรัฐเดี่ยว
1.1 ตองมีรูปลักษณะการปกครองที่มีกฎหมาย ระเบียบแบบแผน เปนแบบอยางเดียวกันทั้งประเทศ
1.2 มีอาณาเขตไมกวางขวางเทาใดนัก
1.3 รัฐบาลกลางรวมอํานาจไวที่สวนกลางแหงเดียว
1.4 ประชาชนในรัฐจะมีเชื้อชาติ ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม เปนแบบอยางเดียวกัน
1.5 ตัวอยางประเทศที่มีลักษณะเปนรัฐเดียว ไดแก ญี่ปุน อังกฤษ ฝรั่งเศส นอรเวย สวีเดน เดนมารก ฟลิปปนส อินโดนีเซีย ฯลฯ


2. รัฐรวม (Composit State) ได้แก่ การรวมตัวกันของรัฐ ตั้งแต่ 2 รัฐขึ้นไป โดยมีรัฐบาลเดียวกันซึ่งแต่ละรัฐยังคงมีสภาพเป็นรัฐอยู่เช่นเดิมแต่การใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐที่มารวมกัน อาจถูกจำกัดลงไปตามข้อตกลงที่ทำขึ้น

ขอสังเกตลักษณะของรัฐรวม
2.1 มีรัฐบาล2 ระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลสวนทองถิ่น
2.2 สวนใหญจะมีอาณาเขตกวางขวาง
2.3 รัฐบาลกลางจะไมมีเอกภาพในการบริหารเพราะรัฐบาลสวนทองถิ่นจะวางนโยบายปกครองตนเอง
2.4 ประชาชนจะมีหลายเชื้อชาติและหลายวัฒนธรรมมาอยูรวมกัน
2.5 ชื่อประเทศมักจะขึ้นตนดวยคําวาสหรัฐ สหภาพ สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ

รัฐรวมมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกันคือ
1) สหพันธรัฐ (Federal State) สหพันธรัฐ คือ รัฐที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันระหว่างรัฐต่าง ๆ ตั้งแต่ 2 รัฐขึ้นไปโดยใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับเดียวกันร่วมกันและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเหล่านั้นเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น ๆ รูปแบบการปกครองแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ มีรัฐบาลกลางของสหพันธรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นเป็นของแต่ละรัฐซึ่งเรียกกันว่า มลรัฐตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย มาเลเซีย 2) สมาพันธรัฐ (Confederation State) สมาพันธรัฐเป็นการรวมตัวกัน ระหว่าง 2 รัฐขึ้นไป โดยไม่มีรัฐธรรมนูญ หรือรัฐบาลร่วมกัน แต่เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆเพื่อจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการชั่วคราวและเป็นบางกรณีเท่านั้น เช่นการเป็นพันธมิตรกันเพื่อทำสงครามร่วมกัน เป็นต้น ในปัจจุบันนี้รูปแบบของรัฐแบบสมาพันธรัฐไม่มีอีกแล้ว แต่จะกลายเป็นลักษณะของการรวมตัวกันในรูปขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การนาโต้ องค์การอาเซียน เป็นต้น
       นิติศาสตร์

1.) ความหมายของนิติศาสตร์


          คำว่า นิติ ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ขนบธรรมเนียม แบบแผน แต่ในระยะหลังวงการกฎหมายไทยเข้าใจว่า นิติ หรือ เนติ แปลว่า กฎหมาย แต่ตามศัพท์ดั้งเดิมของอินเดียแท้ๆ นิติ แปลว่า ขนบธรรมเนียม เช่น ราชนิติ โลกนิติ ในอินเดียคำว่า นิติศาสตร์จึงหมายถึง วิชาเกี่ยวกับราชนิติประเพณี เป็นความรู้ที่ราชปุโรหิตจะต้องรู้เพราะปุโรหิตเป็นที่ปรึกษาราชการ   แผ่นดิน
           คำว่านิติศาสตร์ตามความหมายของอินเดียจึงมีความหมายใกล้กับ รัฐศาสตร์ ในภาษาไทยปัจจุบัน เพราะฉะนั้นผู้รู้ทางนิติศาสตร์ของอินเดียจึงหมายถึงผู้ทรงปัญญาที่จะให้คำแนะนำเรื่องกิจการบ้านเมือง คำที่หมายถึงกฎหมายแท้ๆ ไทยเราแต่เดิมมาเรียกว่า ธรรมะ เช่น กฎหมายดั้งเดิมของไทยเราเรียกว่า พระธรรมศาสตร์ มิได้เรียกว่า พระนิติศาสตร์คำว่า พระธรรมศาสตร์ เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ในความคิดของคนไทยสมัยก่อน
           อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึง
นิติศาสตร์Ž ในปัจจุบันหมายถึง วิชาที่ศึกษาเรื่องกฎหมายŽ กฎหมายนั้นมีอุดมคติที่สำคัญซึ่งเป็นจิตวิญญาณของกฎหมาย 3 ประการ คือ ความยุติธรรม ความสงบเรียบร้อยของสังคม และความมีประโยชน์สมประสงค์

2.) บ่อเกิดของกฎหมาย
          กฎหมายมีบ่อเกิด 2 ประเภท คือ กฎหมายที่บัญญัติขึ้น เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา เป็นต้น และกฎหมายที่มิได้บัญญัติขึ้น ได้แก่ กฎหมายประเพณี  หลักกฎหมายทั่วไป และคำพิพากษาของศาล

ก. กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร           หมายถึง กฎหมายที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนิติบัญญัติ หรือ กฎหมายลายลักษณ์อักษรที่เป็นบทมาตรา ซึ่งผู้มีอำนาจในการบัญญัติมี 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และ องค์การอิสระ
          (1) กฎหมายนิติบัญญัติ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ได้แก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ซึ่งเป็น กฎหมายแท้ เพราะออกมาโดยฝ่ายที่มีหน้าที่บัญญัติกฎหมายโดยตรง
           ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 169-178 ร่างพระราชบัญญัตินั้นจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาได้โดยคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต้องมีมติพรรคที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้สังกัดให้เสนอและต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคนั้นรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน และถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจะต้องได้คำรับรองจากนายกรัฐมนตรี โดยเบื้องต้นจะให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อน เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้วจึงเสนอให้สมาชิกวุฒิสภาพิจารณา ถ้าสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบ ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วจึงมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย
          (2) กฎหมายบริหารบัญญัติ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งตามระบบกฎหมายไทยกฎหมายบริหารบัญญัติแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ พระราชกำหนด และ กฎหมายลำดับรอง
  "พระราชกำหนด" (พ.ร.ก.) คือ กฎหมายที่ฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีได้รับอำนาจจากรัฐธรรมนูญให้ตรากฎหมายแทนฝ่ายนิติบัญญัติ ในกรณีมีเหตุจำเป็นบางประการ พระราช-กำหนดจึงมีค่าบังคับเท่ากับพระราชบัญญัติ และอาจแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกพระราชบัญญัติได้ แต่ทั้งนี้ฝ่ายบริหารจะตราพระราชกำหนดได้เฉพาะกรณีพิเศษที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น
  "กฎหมายลำดับรอง" เป็นกฎหมายที่ฝ่ายบริหารได้รับมอบอำนาจจากฝ่ายนิติบัญญัติให้ตราบทบัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในรายละเอียดที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติภายใต้หลักการที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้ โดยฝ่ายบริหารจะตรากฎหมาย  ลำดับรองให้ขัดแย้งกับกฎหมายแม่บทคือพระราชบัญญัติไม่ได้ กฎหมายลำดับรองนั้นมีดังต่อไปนี้ คือ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง และ ข้อบังคับต่างๆ
          (3) กฎหมายองค์การบัญญัติ เป็นกฎหมายซึ่งออกโดยองค์การมหาชนที่มีอำนาจอิสระ กล่าวคือ มีอำนาจปกครองตนเองภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ องค์การปกครองตนเองในปัจจุบันนี้ได้แก่ เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา องค์การปกครองตนเองเหล่านี้ต่างมีอำนาจออกกฎหมายบังคับแก่ราษฎรที่อาศัยอยู่ในอาณาเขตปกครองของตนได้ภายในขอบเขต ที่พระราชบัญญัติก่อตั้งองค์การเหล่านั้นกำหนดไว้  นอกจากนี้ยังมีองค์การมหาชนอิสระอื่นอีกที่มีอำนาจออกข้อบังคับ ที่เป็นกฎหมายได้ เช่น มหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นต้น

ลำดับชั้นของกฎหมายลายลักษณ์อักษร
            (1) กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดเป็นแม่บทของกฎหมายทั้งหลาย ดังนั้นกฎหมายทุกประเภทจะออกมาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้
            (2)  พระราชบัญญัติ  เป็นกฎหมายที่มีลำดับชั้นรองจากรัฐธรรมนูญเพราะเป็นกฎหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจของรัฐธรรมนูญโดยตรง
            (3) พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายบริหารเพื่อใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการหรือกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการหรือเงื่อนไขในการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ
            (4) กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ออกโดยอาศัยแม่บทคือ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดเพื่อบัญญัติเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ของกฎหมายแม่บท โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ในการบังคับการหรือปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้กฎกระทรวงจะขัดกับกฎหมายแม่บทไม่ได้ 
           (5) กฎหมายองค์การบัญญัติ  ได้แก่ ข้อบัญญัติท้องถิ่นต่างๆ เช่น เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อบังคับสุขาภิบาล เป็นต้น

ข. กฎหมายที่มิได้บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร   
             ในทางวิชานิติศาสตร์ยอมรับว่า นอกจากกฎหมายที่บัญญัติขึ้นแล้ว ยังมีกฎเกณฑ์แบบแผนความประพฤติของคนในสังคมบางอย่างที่มิได้บัญญัติขึ้น แต่มีผลบังคับเป็นกฎหมาย   ได้นั่นคือ กฎหมายประเพณี นอกจากนี้กฎหมายที่มิได้บัญญัติยังมีอีก 2 ประการ คือ หลักกฎหมายทั่วไป และคำพิพากษาของศาล

      กฎหมายประเพณี      จารีตประเพณีที่มีลักษณะเป็นกฎหมายประเพณีจะต้องมีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ

          (1) เป็นจารีตประเพณีที่ประชาชนได้ปฏิบัติกันมานานและสม่ำเสมอ
          (2) ประชาชนมีความรู้สึกว่าจารีตประเพณีเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและต้องปฏิบัติตาม
ส่วนจารีตประเพณีใดที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ทั้งสองประการนี้จึงไม่ได้ชื่อว่า เป็นกฎหมายประเพณี  เหตุที่ต้องมีกฎหมายประเพณีเพราะว่าการดำเนินชีวิตของคนในสังคมสลับซับซ้อนเกินกว่าสติปัญญาของมนุษย์จะเขียนเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรให้ครอบคลุมครบถ้วนได้ ในบางกรณีจึงต้องใช้จารีตประเพณีมาประกอบการพิจารณา

      หลักกฎหมายทั่วไป
         หลักกฎหมายทั่วไป หมายถึง หลักกฎหมายที่มีอยู่ในระบบกฎหมายของประเทศนั้นโดยค้นหาได้จากกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรของประเทศนั้นเอง เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งหรือกฎหมายลายลักษณ์อักษรอื่นที่มีหลักใหญ่พอที่จะทำให้เป็นหลักอ้างอิง สำหรับนำมาปรับแก่คดี โดยจะใช้ในคดีที่ไม่มีจารีตประเพณี เป็นต้น เป็นหลักในการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 4 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป"

      คำพิพากษาของศาล         คำพิพากษาของศาลตาม Civil Law อันเป็นระบบกฎหมายภาคพื้นยุโรปและเอเชีย ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน ญี่ปุ่น เกาหลี และไทย ถือว่าคำพิพากษาโดยทั่วไปไม่ใช่บ่อเกิดของกฎหมาย นอกจากคำพิพากษานั้นจะเป็นคำพิพากษาบรรทัดฐานคือเป็นคำพิพากษาตัวอย่างที่คนปฏิบัติตาม เป็นคำพิพากษาที่ดีไม่มีคำพิพากษาอื่นมาคัดค้านหรือโต้แย้ง  มีคนรู้จักกันทั่วไป แล้วก็ปฏิบัติตามกันมานาน

3.) หมวดหมู่ของกฎหมาย          ในปัจจุบันสามารถจัดหมวดหมู่กฎหมายออกเป็น 4 หมวดด้วยกัน คือ กฎหมายมหาชน กฎหมายเอกชน กฎหมายสังคม และกฎหมายเศรษฐกิจ
           กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยอำนาจสูงสุดในการปกครอง อันประกอบด้วย รัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
           กฎหมายเอกชน ได้แก่ กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ และกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
          (1) กฎหมายแพ่ง  เป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนในเรื่องบุคคล หนี้ ทรัพย์สินครอบครัว และมรดก
          (2) กฎหมายพาณิชย์ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ เช่น หุ้นส่วน บริษัท ประกันภัย ตั๋วเงิน กฎหมายทะเล เป็นต้น ในประเทศไทยทั้งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์รวมอยู่ในประมวลกฎหมายฉบับเดียวกันในชื่อว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          (3) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนแต่เอกชนนั้นมีสัญชาติต่างกัน
           กฎหมายสังคม เป็นกฎหมายที่มีลักษณะความเกี่ยวกันระหว่างกฎหมายเอกชนและมหาชน เช่น กฎหมายแรงงาน กฎหมายประกันสังคม เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อความสงบสุขและความเป็นธรรมในสังคม
           กฎหมายเศรษฐกิจ หมายถึง บทบัญญัติที่บัญญัติถึงกิจการทางเศรษฐกิจ เพื่อที่จะควบคุมชี้แนวทาง ส่งเสริม หรือจำกัดการกระทำหรือกิจการทางเศรษฐกิจ

4.) การใช้กฎหมาย
           การใช้กฎหมาย คือ การนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีมาปรับกับตัวกฎหมายและวินิจฉัยชี้ขาดว่า ข้อเท็จจริงนั้นมีผลทางกฎหมายอย่างไร  ข้อเท็จจริงในคดีสำหรับการพิจารณาของศาลคือบรรดาเรื่องราวอันเป็นประเด็นข้อพิพาทและรายละเอียดในสำนวนคดี ซึ่งศาลได้สรุปจากพยานหลักฐานต่างๆ ที่คู่ความได้กล่าวอ้างในกระบวนการพิจารณาและศาลรับฟังเป็นที่ยุติว่า  เป็นเช่นนั้น เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วจึงนำข้อเท็จจริงมาปรับกับตัวบทกฎหมายเรียกว่า เป็นการใช้ กฎหมายหรือเรียกว่า การปรับบท นั่นเอง โดยสามารถสรุปขั้นตอนการใช้กฎหมายได้ดังนี้

         (1) ตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงในคดีว่าเกิดขึ้นจริงดังข้อกล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิสูจน์ด้วยพยานหลักฐานต่างๆ
         (2) เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วจะต้องค้นหากฎหมายที่ตรงกับข้อเท็จจริงนั้นมาปรับบท
         (3) วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงในคดีนั้นปรับได้กับข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบในบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่
         (4) ถ้าปรับได้ให้ชี้ว่ามีผลต่อกฎหมายอย่างไร หากกฎหมายกำหนดผลทางกฎหมายไว้หลายอย่างให้เลือก ผู้ใช้กฎหมายจะต้องใช้ดุลพินิจตัดสินใจเลือกผลทางกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งให้เหมาะสมกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

      ลำดับการใช้กฎหมาย          ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 กำหนดให้ใช้กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน เมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายลายลักษณ์อักษรมาปรับใช้กับคดีได้จึง    ให้นำจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้ หากไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาปรับใช้ได้ ก็ให้นำเอาบทบัญญัติกฎหมายลายลักษณ์อักษรมาปรับใช้อีกครั้งหนึ่งในฐานะที่เป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หากไม่สามารถทำได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรมอีก ก็ต้องนำหลักกฎหมาย ทั่วไปมาปรับใช้เป็นขั้นสุดท้าย


วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

สำคัญผิดในข้อเท็จจริง

สำคัญผิดในข้อเท็จจริง

มาตรา ๖๒
ข้อเท็จจริงไม่มีอยู่จริง
ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง
ผู้กระทำได้กระทำไปเพราะการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงนั้น
ผู้กระกระทำอาจไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง

มาตรา ๖๒ เป็นเรื่องสำคัญผิดในเหตุการณ์ แต่มาตรา ๖๑ เป็นเรื่องสำคัญผิดในตัวบุคคลที่ถูกกระทำ ผลของการสำคัญผิดตามมาตรา ๖๒ ผู้กระทำอาจไม่มีความผิด อาจได้รับยกเว้นโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง แต่การสำคัญผิดตามมาตรา ๖๑ ผู้กระทำไม่พ้นผิด

เมื่อมีการสำคัญผิดในข้อเท็จจริง เราจะปรับด้วยมาตรา ๖๒ ไม่ปรับด้วยมาตรา ๖๑ เช่น มีคนร้ายมาวางเพลิงเผาทรัพย์ เจ้าของบ้านเห็นผู้ตายเดินอยู่ใกล้ๆ ที่เกิดเหตุ เข้าใจว่าเป็นคนร้ายที่มาเผาบ้าน จึงยิงผู้นั้นไป ๑ นัด กรณีนี้หากอ้างความสำคัญผิดตามมาตรา ๖๑ ว่า เป็นการยิงผิดตัว กรณีนี้เจ้าของบ้านยังมีความผิด แต่ถ้าอ้างมาตรา ๖๒ เจ้าของบ้านสำคัญผิดว่าคนที่เดินเป็นคนร้ายมาเผาบ้าน จึงยิงไปเพื่อป้องกัน กรณีนี้เป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริง แม้ความจริงผู้นั้นไม่ได้เป็นคนร้าย แต่เจ้าของบ้านเข้าใจว่าเป็นคนร้าย เจ้าของบ้านก็ได้รับประโยชน์จากมาตรา ๖๒ วรรคแรก

คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๒๙/๒๕๑๗ บ้านของจำเลยถูกลอบวางเพลิง ไฟกำลังไหม้หน้าบ้าน จำเลยออกมาจากบ้านถือปืนออกมาด้วย แสดงว่าจะยิงคนร้าย ครั้นเห็นผู้ตายยืนอยู่ที่หน้าบ้านจำเลยก็สำคัญผิดคิดว่าเป็นคนร้ายที่มาลอบวางเพลิง จำเลยจึงยิงผู้ตาย ถือได้ว่าจำเลยกระทำไปเพื่อป้องกันทรัพย์ของจำเลย แต่ไม่ได้ความว่าผู้ตายกำลังทำอะไรแก่บ้านของจำเลยที่ถูกไฟไหม้ ไม่มีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะต้องยิงผู้ตายจึงเป็นการเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันทรัพย์

การสำคัญผิดในข้อเท็จจริง จะต้องมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ทำให้ผู้กระทำสำคัญผิด จึงลงมือกระทำการเพราะความสำคัญผิดนั้น ถ้าไม่มีเหตุการณ์ใดที่จะทำให้สำคัญผิดได้เลย ผู้กระทำจะอ้างความสำคัญผิดไม่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๑๙/๒๕๓๗ คืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 2 นาฬิกา สุนัขในบ้านจำเลยเห่า จำเลยรู้สึกตัวลุกออกจากบ้านเห็นโจทก์ร่วม สำคัญผิดว่าเป็นคนร้าย

คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๗๑/๒๕๓๘ ผู้เสียหายเข้าไปในโรงเรียนในเวลากลางคืนจำเลยทั้งสองทำร้ายผู้เสียหายโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นคนร้ายจะเข้าไปลักทรัพย์ในโรงเรียน

คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๓๑๔/๒๕๓๖ จำเลยถูก พ.ชกล้มลง ผู้ตายก้มตัวจะดึงจำเลยขึ้น จำเลยสำคัญผิดว่าผู้ตายจะเข้ามาทำร้ายจำเลย จึงใช้มีดแทงผู้ตาย

คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๗๗/๒๕๓๖ ขณะเกิดเหตุเป็นยามวิกาลและหมู่บ้านที่เกิดเหตุมีโจรผู้ร้ายชุกชุม มีเสียงปืนจากทางฝ่ายผู้ตาย ย่อมมีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเข้าใจว่าฝ่ายผู้ตายซึ่งใช้อาวุธปืนยิงก่อนนั้นเป็นคนร้ายและใช้อาวุธปืนยิงใส่จำเลย

คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๗๑๖/๒๕๓๕ โจทก์ร่วมทั้งสองเดินผ่านสวนของจำเลยไปทางหน้าบ้านจำเลยในเวลากลางคืนโดยไม่ได้ร้องบอกว่าเป็นโจทก์ร่วมที่ ๑ กับพวก ขออาศัยเดินผ่าน เป็นเหตุให้จำเลยสำคัญผิดว่าโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นคนร้ายที่เข้ามาลักทรัพย์
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๔๕/๒๕๓๑ จำเลยจูงรถจักรยานยนต์ของบุคคลอื่นซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไว้ไปจากที่จอดรถหน้าสถานีตำรวจ โดยไม่มีเหตุที่จะทำให้สำคัญผิดได้ว่ารถจักรยานยนต์ดังกล่าวเป็นของจำเลย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตามไปทันขณะจำเลยกำลังจูงรถจักรยานยนต์อยู่ จำเลยก็ไม่ได้โต้เถียงว่าเป็นรถจำเลย เจ้าหน้าที่ตำรวจขอดูใบอนุญาตขับขี่และสำเนาทะเบียนรถจำเลยก็ไม่มีแสดง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยนำรถจักรยานยนต์ไปโดยเจตนาทุจริต

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและทำให้เกิดความสำคัญผิดนั้นไม่จำต้องมีอยู่จริง แต่ถ้าหากข้อเท็จจริงนั้นมีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด หรือไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง ผู้กระทำย่อมได้รับประโยชน์จากมาตรา ๖๒ วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๖/๒๕๑๔ (ประชุมใหญ่) ผู้ตายชอบทำตัวเป็นอันธพาล เคยพกปืนติดตัวอยู่เสมอ ทั้งเคยทำท่าจะไล่ยิงจำเลยมาครั้งหนึ่งแล้ว ครั้นคืนเกิดเหตุเมื่อผู้ตายเข้าใจว่าจำเลยแกล้งขว้างผู้ตาย ผู้ตายได้หันหลังกลับเข้าหาจำเลยในท่านั่งยอง ๆ ห่างกัน ๒ วา พร้อมกับเอามือล้วงกระเป๋ากางเกงทำท่าจะล้วงอะไรออกมาและพูดว่า " อ้ายเตี้ยมึงจะเอาอะไรกับกู มึงตาย เสียเถิดอย่าอยู่เลย " แม้ว่าผู้ตายจะไม่มีอาวุธปืน แต่เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลสมควรทำให้จำเลยสำคัญผิดเข้าใจว่าผู้ตายมีอาวุธปืนและกำลังจะยิงทำร้ายจำเลยในระยะห่างกัน ๒ วา อันนับได้ว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัวจำเลย จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิกระทำเพื่อป้องกันตนได้ และการที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตายเพื่อป้องกันตนไป ๑ นัดในทันทีนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ ด้วยความสำคัญผิดในข้อเท็จจริง

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๒ วรรคแรก

การสำคัญผิดในข้อเท็จจริงที่จะได้รับประโยชน์ตามมาตรา ๖๒ วรรคแรก ได้แก่
๑. การสำคัญผิดในข้อเท็จจริงที่ทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด
๒. การสำคัญผิดในข้อเท็จจริงที่ทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ
๓. การสำคัญผิดในข้อเท็จจริงที่ทำให้ผู้กระทำได้รับโทษน้อยลง

การสำคัญผิดในข้อเท็จจริงที่ทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด ได้แก่
๑. สำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่าทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง

คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๗๘/๒๕๓๖ ในคืนเกิดเหตุจำเลยเมาสุรามาก จำเลยจะกลับบ้านพบรถยนต์คันหนึ่งจอดอยู่โดยไม่ได้ล๊อกประตูและเสียบกุญแจคาไว้ จำเลยจึงขับออกไปโดยสำคัญผิดว่ารถยนต์คันนั้นเป็นของจำเลย ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาลักรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์

๒. สำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่ามีภยันตรายที่ใกล้จะถึง

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๓๙/๒๕๑๕ จำเลยได้ยินเสียงคนร้องทางฝั่งคลองตรงข้าม เข้าใจว่ามีเรื่องทะเลาะกัน จึงเดินลุยน้ำข้ามไปดู พอถึงก็ถูกคนตีที่แสกหน้าล้มลง เห็นคนตีวิ่งหนีไปทางทิศเหนือ แล้วมีคนวิ่งมาจากทางทิศเหนืออีก จำเลยเข้าใจว่าเป็นคนร้ายจะเข้ามาทำร้ายจำเลย จึงใช้มีดดาบฟันคนที่วิ่งเข้ามานั้น ๑ ทีถูกศีรษะ กลับปรากฏว่าเป็นนายดินผู้ตายซึ่งเป็นญาติกัน ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง กระทำป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๐๙/๒๕๐๒ แม้จำเลยจะคิดว่าพลตำรวจม้วนเป็นคนร้ายงัดห้องแต่จำเลย ก็มิได้เจตนาจะยิงคนร้าย จำเลยเพียงแต่ยิงเพื่อขู่โดยไม่เห็นตัวและได้ยิงลงต่ำ ไม่ประสงค์ให้ถูกใคร หากแต่เผอิญกระสุนไปถูกไม้คร่าวจึงแฉลบไปถูกพลตำรวจม้วนเข้าถือว่า จำเลยไม่มีเจตนาฆ่าหรือแม้แต่เจตนาจะทำร้ายพลตำรวจม้วนเลย ฎีกานี้เป็นเรื่องมีเจตนายิงขู่เท่านั้น
๓. สำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่าเจ้าของทรัพย์อนุญาตให้เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์และอนุญาตให้ตัดฟันต้นไม้ได้

ข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๖ นายฟ้าเป็นพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปปรับปรุงระบบสายไฟฟ้าบริเวณทางโค้งแห่งหนึ่ง ซึ่งมีต้นไม้กีดขวางแนวทางพาดสายไฟฟ้าอยู่ ๔ ต้นในที่ดินของนายขาว นายฟ้าจึงไปสอบถามนายแดงซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านท้องที่ นายแดงทราบดีว่าต้นไม้เป็นของนายขาว แต่ต้องการแกล้งนายขาว จึงบอกแก่นายฟ้าว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของมารดานายแดง และมารดานายแดงอนุญาตให้ตัดต้นไม้ได้ นายฟ้าเชื่อเช่นนั้นจึงไปจ้างนายเขียวมาตัดต้นไม้ นายเขียวตัดฟันต้นไม้ทั้ง ๔ ตน โดยรู้ว่าเป็นของนายขาวและรู้ว่านายขาวไม่ได้อนุญาตให้ตัดฟันต้นไม้แต่อยากได้ค่าจ้าง ให้วินิจฉัยว่า นายเขียว นายฟ้า นายแดง มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด

คำตอบ นายเขียวเข้าไปตัดฟันต้นไม้ในที่ดินของนายขาวโดยรู้ว่านายขาวมิได้อนุญาตให้ตัดและไม่ยินยอมให้นายเขียวเข้าไปตัดต้นไม้ เป็นการทำให้ต้นไม้ของนายขาวเสียหาย แสดงว่านายเขียวมีเจตนาทำให้เสียทรัพย์ และมีเจตนาที่จะเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของนายขาวโดยปกติสุข การกระทำของนายเขียวจึงเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๘ และฐานบุกรุกตามมาตรา ๓๖๒ อีกบทหนึ่งด้วย

นายฟ้า เชื่อตามที่นายแดงบอกว่าที่ดินเป็นของมารดานายแดงและมารดานายแดงอนุญาตให้เข้าไปตัดฟันต้นไม้ได้ จึงว่าจ้างนายเขียวเข้าไปตัดฟันต้นไม้ทั้ง ๔ ต้น ถือว่านายฟ้ากระทำไปโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่าเจ้าของที่ดินและต้นไม้อนุญาตให้เข้าไปในที่ดินและตัดฟันต้นไม้ได้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงดังกล่าวมีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะไม่มีอยู่จริง แต่นายฟ้าสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง นายฟ้าย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา ๖๒ วรรคแรก

นายแดง ทราบว่าที่ดินและต้นไม้เป็นของนายขาวแต่ต้องการแกล้งนายขาว จึงบอกแก่นายฟ้าว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของมารดาตนและมารดาอนุญาตให้ตัดฟันต้นไม้ได้นั้น แม้ถือไม่ได้ว่านายแดงเป็นผู้ใช้ให้นายฟ้ากระทำความผิดตามมาตรา ๘๔ เพราะการกระทำของนายฟ้าไม่เป็นความผิดก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่านายฟ้าจ้างนายเขียวให้ตัดฟันต้นไม้ทั้ง ๔ ต้น และนายเขียวได้กระทำผิดโดยรู้ว่านายขาวเจ้าของที่ดินไม่ได้อนุญาตให้เข้าไปในที่ดินและไม่ได้อนุญาตให้ตัดฟันต้นไม้ ย่อมถือได้ว่านายแดงเป็นผู้ก่อให้นายเขียวกระทำความผิดด้วยวิธีอื่นใด จึงเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด เมื่อนายเขียวไปกระทำความผิดตามที่ใช้ นายแดงจึงต้องรับโทษเสมือนหนึ่งเป็นตัวการ นายแดงมีความผิดตามมาตรา ๓๕๘, ๓๖๒ ประกอบด้วยมาตรา ๘๔ ( เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๖๗๗/๒๕๔๐ )

๔. ความสำคัญผิดเรื่องอายุของผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับเพศ

คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๙๘/๒๕๔๐ พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบน่าเชื่อว่าจำเลยไม่ทราบว่าผู้เสียหายอายุไม่เกิน ๑๕ ปี ข้อเท็จจริงจึงไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยรู้อยู่แล้วว่าผู้เสียหายมีอายุไม่เกิน ๑๕ ปี เป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๖๒ วรรคหนึ่ง จำเลยไม่มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว

คดีนี้ จากคำเบิกความของพนักงานสอบสวนที่ว่า ผู้เสียหายมีรูปร่างสูงใหญ่ และผู้เสียหายก็เบิกความว่าหลังเกิดเหตุได้มีการผูกข้อมือเป็นสามีภริยากับจำเลย แสดงว่าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าผู้เสียหายมีสภาพร่างกายเจริญเติบโตพร้อมที่จะเป็นภริยาจำเลยได้แล้ว และจำเลยอยู่กินกับผู้เสียหายอย่างสามีภริยา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้จำเลยสำคัญผิดได้

การสำคัญผิดที่ทำให้ไม่ต้องรับโทษ เช่น แดงลักสร้อยคอทองคำของมารดาไปโดยเข้าใจว่าเป็นสร้อยคอของนางดำภริยา กรณีนี้ แม้สร้อยคอจะไม่ใช่ของภริยา แต่นายแดงสำคัญผิดว่าเป็นสร้อยคอของภริยา นายแดงไม่ต้องรับโทษตามมาตรา ๖๒ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๗๑ วรรคแรก

การสำคัญผิดที่ทำให้รับโทษน้อยลง เช่น แดงถูกดำทำร้าย แดงโกรธจึงวิ่งไล่จะทำร้ายดำ แดงไปพบขาวสำคัญผิดว่าขาวเป็นดำที่ทำร้ายตน แดงจึงทำร้ายขาว กรณีนี้แดงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายขาวตามมาตรา ๒๙๕, ๗๒ โดยสำคัญผิดข้อเท็จจริงตามมาตรา ๗๒

การสำคัญผิดข้อเท็จจริงอาจเป็นการกระทำโดยประมาทได้

มาตรา ๖๒ วรรคสาม ถ้าความสำคัญผิดเกิดขึ้นโดยความประมาท ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาทด้วย จะต้องมีข้อเท็จจริงให้เห็นว่าผู้กระทำมีความประมาทหรือไม่
กรณีที่มีการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงแม้จะมีผลให้ผู้กระทำไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง เป็นข้อยกเว้นให้สำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยเจตนาเท่านั้น การสำคัญผิดในข้อเท็จจริงถ้ากระทำโดยไม่ระมัดระวังในการพิจารณาข้อเท็จจริงให้ดี เป็นการกระทำโดยประมาท เพราะไม่ดูข้อเท็จจริงให้ดี ถ้าดูให้ดีก็จะไม่สำคัญผิด กรณีเช่นนี้หากเกิดผลที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาท ผู้กระทำจะไม่ได้รับยกเว้นความผิด หรือยกเว้นโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง

คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๗๒/๒๕๑๐ (ประชุมใหญ่) จำเลยใช้ปืนยิงเด็กซึ่งส่องไฟหากบที่ริมรั้วบ้านจำเลยถึงแก่ความตาย โดยจำเลยสำคัญผิดว่าเป็นคนร้ายจะมาฆ่าพี่จำเลย เป็นการป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๖๙

จำเลยยิงคนตายโดยสำคัญผิดว่าเป็นคนร้าย เป็นการกระทำโดยเจตนา แต่เป็นการป้องกันซึ่งเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน จึงเป็นความผิดตามมาตรา ๒๘๘, ๖๙
และความสำคัญผิดนั้นก็เกิดโดยความประมาทของจำเลย เช่นนี้ จำเลยย่อมผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาทโดยผลของมาตรา ๖๒ วรรคสอง ด้วย กรณีเช่นนี้เป็นเรื่องกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท
จึงต้องลงโทษในเรื่องฆ่าโดยป้องกันเกินกว่ากรณี อันเป็นบทหนักตามมาตรา ๙๐ แต่ถ้าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุซึ่งไม่เป็นความผิดก็คงเหลือเพียงความผิดในส่วนที่สำคัญผิดโดยประมาทตามมาตรา ๖๒ วรรคสอง คือความผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาทตามมาตรา ๒๙๑ ฐานเดียว

คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๑/๒๕๑๒ สามีนอนอยู่ชั้นบนของเรือน ภริยานอนอยู่ชั้นล่างต่างคนก็หลับไปแล้ว ต่อมาสุนัขเห่า ภริยาจึงตื่นไปแอบฝาห้องดูคนร้ายที่ห้องนอนของสามี สามีตื่นภายหลังมองเห็นคนอยู่ที่ฝาห้องตะคุ่มๆ เข้าใจว่าเป็นคนร้ายเพราะมืด จึงหยิบมีดฟันไป ๑ ที ภริยาถึงแก่ความตาย ดังนี้ ถือว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง สามีมีสิทธิป้องกันได้โดยไม่ต้องพูดจาไต่ถาม หรือรอให้ผู้นั้นแสดงกิริยาว่าจะเข้ามาประทุษร้ายก่อน และสามีไม่รู้ว่าคนที่เข้าใจว่าเป็นคนร้ายจะมีอาวุธร้ายแรงหรือไม่สามีฟันไปทีเดียว ถือได้ว่ากระทำไปพอสมควรแก่เหตุ และยังไม่พอถือว่าการกระทำของสามีเกิดขึ้นด้วยความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงโดยประมาทตามมาตรา ๖๒ วรรคสอง

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๓๙/๒๕๑๕ จำเลยได้ยินเสียงคนร้องทางฝั่งคลองตรงข้าม เข้าใจว่ามีเรื่องทะเลาะกันจึงเดินลุยน้ำข้ามไปดู พอถึงก็ถูกคนตีที่แสกหน้าล้มลง เห็นคนตีวิ่งหนีไปทางทิศเหนือ แล้วมีคนวิ่งมาจากทางทิศเหนืออีก ซึ่งจำเลยเข้าใจว่าเป็นคนร้ายจะเข้ามาทำร้ายจำเลย จำเลยจึงใช้มีดดาบฟันคนที่วิ่งเข้ามานั้น ๑ ทีถูกศีรษะ กลับปรากฏว่าเป็นนายดินผู้ตายซึ่งเป็นญาติกัน ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง กระทำป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ และไม่ปรากฏว่าความสำคัญผิดนี้เกิดขึ้นจากความประมาทของจำเลย จำเลยไม่มีความผิด

หมายเหตุ ตามคำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้ภยันตรายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บุคคลที่อยู่ในภาวะ วิสัย และพฤติการณ์เช่นเดียวกับจำเลยย่อมไม่อาจใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาข้อเท็จจริงให้ดีกว่านี้ได้ จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาท

คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๑๓/๒๕๓๔ จำเลยสำคัญผิดว่าคนที่มาเคาะประตูห้องพักเป็นสามีเก่าของผู้ตายจะมาทำร้ายจำเลย แต่กลับเป็นผู้ตาย ข้อเท็จจริงนั้นก็ไม่มีอยู่จริง ตาม ป.อ. มาตรา ๖๒ วรรคแรก ซึ่งตามกฎหมายกรณีดังกล่าวจำเลยมีสิทธิป้องกันได้ แต่สำหรับคดีนี้ปรากฏว่าประตูห้องเกิดเหตุมีโซ่คล้องอยู่สามารถเปิดได้ประมาณ ๑ คืบ การที่จำเลยใช้ปืนยิงออกไปจึงเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องทำเพื่อป้องกันตามมาตรา ๖๙

เหตุเกิดในแฟลตซึ่งมีคนเช่าอยู่จำนวนมาก และผู้ตายซึ่งมาเคาะประตูก็อยู่บนทางเดินระหว่างกลางห้องพัก ทั้งขณะเกิดเหตุไฟฟ้าระหว่างทางเดินก็เปิดแล้ว จำเลยซึ่งอยู่ในห้องสามารถมองออกไปทางหน้าห้องได้ชัดเจน ประตูห้องเกิดเหตุมีโซ่คล้องอยู่ การที่จำเลยยิงผู้ตายจึงเกิดขึ้นด้วยความประมาทตาม มาตรา ๖๒ วรรคสอง ด้วย

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

คาถา รพีพัฒน์ สำหรับผู้เรียนกฎหมาย

คาถา รพีพัฒน์ สำหรับผู้เรียนกฎหมาย - อ.จิตติ ติงศภัทิย์
ได้ข้อมูลนี้มาจาก ท่านศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ขณะท่านยังมีชีวิตอยู่ โดยท่านมอบแผ่นกระดาษเก่า ๆให้ ท่านบอกว่าท่านประสบความสำเร็จในชีวิตสูงสุดได้ก็เพราะข้อปฏิบัติ ทั้ง 10 ประการนี้ (ท่านศรัทธาในพระคาถามาก)

- บูชาพระบิดาแห่งกฎหมายไทยด้วย พระคาถาที่ว่า
"รพีพร ประสิทธิ มังคละ พัฒนะ จิตติยา มะอะอุ สติปัญญัง
จิตตะ จิตัง สติปัญญัง อาโรปิเต สติปัญโญ โสตถี โหนตุ ภะวันตุ เม ฯ"
ตัวบทกฎหมายใด ๆ จะเรียก คัมภีร์แทน (ตามที่พระท่านเรียก)

พระคาถานี้ ข้าพเจ้าได้เจอกับหลวงตาองค์หนึ่งซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่เดินป่าธุดงค์ พรรษาน่าจะไม่น้อยและได้ขอพระคาถาท่องจำ เพราะเรียนกฎหมายจำยากท่านถามว่า จำเรื่องอะไร ใครเป็นที่เคารพบูชา ในเรื่องนั้นข้าพเจ้า ถวายตอบไปว่า โดยมากจะบูชา พระบิดากฎหมายไทย พระนามเต็มของพระองค์คือ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ หรือกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ แต่ก็ไม่มีพระนามหลังปรากฏในพระคาถาแต่อย่างใด ก่อนกราบนมัสการลา ท่านกำชับว่า เราให้คาถานี้เพื่อเจ้าได้ใช้เพียงส่วนตนข้าพเจ้าหวังอยากให้เพื่อนสนิท ได้นำไปใช้ด้วย จึงนมัสการขอให้ใช้กับผู้อื่นได้ด้วย ท่านบอกกับข้าพเจ้าว่า เจ้ามาพบเราโดยบังเอิญ และเจ้าจะไม่นำความที่ได้มาพบเราไปเล่าโดยวาจาของเจ้าแต่ผู้ใด

ดังนั้น คาถานี้ก็เช่นกัน จะถ่ายทอด ให้แก่ผู้อื่นได้ก็แต่ สลักเป็นลายอักษร ให้ผู้อื่นรับไว้เองและผู้นั้นจะไม่ นำคาถานี้ไปถ่ายทอดสืบต่อไป ไม่ว่าโดยทางวาจาหรืออักษรอีกเป็นอันขาด มิเช่นนั้น อานิสงค์ของพระคาถา จะตกแก่ผู้รับคาถานั้น ต่อ ๆ ไป

กล่าวง่าย ๆ ข้าพเจ้า(หมายถึงท่านอาจารย์จิตติ)นำมาบอกได้ แต่ต้องแสดงให้เห็นโดยตัวอักษร แล้วท่านที่อ่านพระคาถาไม่ว่ากรณีใด ๆ หากนำไปถ่ายทอดต่อเป็นวาจาหรืออักษร จะเป็นผลให้อานิสงค์ของพระคาถา สูญสิ้นไป.

-จิตบริสุทธิ์ศรัทธาและรำลึกเฉพาะแต่ตัวบทกฎหมายอันเป็นตัวแทนของพระบิดา
ขณะท่องพระคัมภีร์(หนังสือตำราของพระบิดาสมเด็จกรมหลวงฯ)ขั้นแรกในการทำให้การท่องจำของเราง่ายขึ้นนั้นก็คือ ความบริสุทธิ์ใจ เราควรท่องจำคัมภีร์กฎหมายเพื่อหวังผลตอบแทนคือ การจำได้ และ ความเข้าใจ อันเปรียบเสมือนการเข้าถึงองค์พระบิดา มิใช่เพื่อโอ้อวดหรือเพื่อลาภยศชื่อเสียง ซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะเป็นผลพลอยได้หาก พระบิดาทรงพอพระทัยทราบถึงจิตบริสุทธิ์ของเราและจะประทานมาให้เราเอง

-อ่านและออกเสียงพระคัมภีร์ให้ถูกวิธีปัจจัยที่จะช่วยให้เราจำคัมภีร์กฎหมายคือ การอ่านและออกเสียงให้ถูกวิธี โดยอาจจะฟังจากเสียงท่านอาจารย์ผู้บรรยายเราชอบสิ่งนี้จะทำให้เรารู้สึกใกล้ชิดกับคัมภีร์กฎหมาย

-การกำหนดจำนวนที่เราต้องการท่องในแต่ละวัน เช่น 3,5,10,20 หน้าคัมภีร์ต่อวัน ถ้าตั้งเป้าหมายในการท่องจำอยู่ที่ 3 หน้าคัมภีร์ต่อวัน เราควรอ่าน 3 หน้าคัมภีร์ที่เราจำแล้ว กับอีก 3 หน้าคัมภีร์ที่เราต้องการจำ กล่าวอย่างชัดเจนก็คือ ถ้าเราจำ 3 หน้าคัมภีร์แล้วในวันนี้ วันถัดไป เราควรท่องอีก 3 หน้าคัมภีร์พร้อมๆกับทบทวน 3 หน้าคัมภีร์ที่เราจำในวันนี้ด้วย แทคติคเสริมในการท่องจำคัมภีร์กฎหมาย คือ การทวนหน้าคัมภีร์ต่างๆ ในทุกๆโอกาสด้วยท่วงทำนอง(ร้อยกรอง) เพราะร้องกรองจะทำให้เราสนุกกับการอ่านและจะทำให้เราจำได้ง่ายขึ้น

-อย่าละเมิดข้อจำกัดในแต่ละวันถ้าเราตั้งใจว่าจะท่อง 5 หรือ 10 หน้าคัมภีร์ต่อวัน ก็อย่าได้ท่องให้เกินนั้น มอบหมายแก่ตัวเราให้ท่องตามจำนวนนั้นอย่างสม่ำเสมอ อย่าเปลี่ยนรูปแบบ ไม่อย่างนั้น พรแห่งความทรงจำจากพระบิดาจะไม่บังเกิด และจะไม่ทรงประสิทธิประสาทพรให้สำเร็จแต่อย่างใด

-ใช้คัมภีร์กฎหมายเล่มเดียวในการท่องจำก่อนเปิดคัมภีร์เล่มดังกล่าวนั่นก็เพราะ คัมภีร์กฎหมายแต่ละเล่มมีการจัดวางรูปแบบหน้าที่แตกต่างกัน ถ้าเราใช้คัมภีร์กฎหมายเล่มเดียวกันในการท่องจำ มันจะทำให้เรามีภาพของหน้าคัมภีร์ที่เราท่องในหัวใจตรงกันข้ามถ้าเราท่องจำจากคัมภีร์กฎหมายหลายๆฉบับ มันจะทำให้เราสับสนและยากต่อการจำคัมภีร์กฎหมาย

-การเข้าใจในกลไกของการท่องจำการเข้าใจความหมายของหน้าคัมภีร์ที่เราท่อง จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการจำและจะทำให้เกิดความร่าเริงแก่เรา เช่น ในคัมภีร์ท่อนหนึ่งมีคำว่า รับช่วงสิทธิ หากเราเข้าใจในเวลาต่อมาว่า หมายถึง การที่บุคคลซึ่งมิใช่เจ้าหนี้เดิมในมูลหนี้นั้นได้เข้ารับสิทธิของเจ้าหนี้เดิมที่มีอยู่ด้วยอำนาจแห่งกฎหมาย ก็จะเป็นการเพิ่มความจำได้ดียิ่งขึ้น

-อย่าข้ามไปบทอื่นจนกว่าเราจะจบในบทนั้นๆ การท่องจำคัมภีร์กฎหมายเป็นบทๆ

-ท่องหรืออ่านต่อหน้าพระรูป พระบิดา (หากจะทดสอบตัวเองว่าท่องได้หรือยัง ให้ท่องต่อหน้า บูชนียบุคคลทางด้านกฎหมาย(อันนี้คงยาก) เขียนทดสอบจะง่ายกว่า

-รื้อฟื้นตัวคัมภีร์ที่จำได้แล้วโดยการกวาดสายตาอย่างเร็วทุก ๆ 7 วัน (อันนี้ต้องทำตารางให้ดี ทำได้ยาก)

อันที่จริงข้าพเจ้าไม่อาจจะนำบทความเหล่านี้มาแนะนำต่ออีกได้ หากไม่ได้ฝันเห็นท่านอาจารย์อนุญาตให้นำไปแจกจ่ายแก่วงการนักศึกษากฎหมายได้ ปัจจุบันนี้ ข้าพเจ้าเป็น ผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ จึงไม่หวงแหนและเก็บข้อมูลที่ได้รับจากท่านอาจารย์จิตติมาแต่ประการใด

หมายเหตุ
กระผม ด.ต.ธีรวัฒน์ สุขมล ขอขอบคุณและขออนุญาตเผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานต่อไปครับ

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

คาถาชินบัญชร ฉบับไทย

คาถาชินบัญชร ฉบับไทย

ข้าฯ ขอเชิญเสด็จ พระสรรเพชญ พุทธองค์
นราสภาทรง พิชิตมาร และเสนา
ยี่สิบแปดพระองค์ นายกสงฆ์ทรงสมญา
ตัณหังกรเป็นต้นมา ทรงดื่มแล้ว ซึ่งรสธรรม
จตุสัจอันประเสริฐ ทรงคุณเลิศ ดิลกล้ำ
ยอดบุญ พระคุณนำ ยิ่งเทพไท ไตรวิชชา
โปรดรับ ประทับทรง ณ ที่ตรง กระหม่อมข้า
พระพุทธเจ้าสา- ธุประฌม บังคมเชิญ
ขอให้พระพุทธะ สักกยะ พระจำเริญ
ประทับบนเศียรเทอญ ปราชญ์สรรเสริฐพระบารมี
ขอให้พระธรรมะ อริยะวิสุทธิ์ศรี
ประทับจักขุนทรีย์ ให้ข้ามีปัญญาญาณ
ขอให้พระสังฆะ วิสุทธะคุณาจารย์
สถิตประดิษฐาน อุระข้า อย่ารู้ไกล
ให้พระอนุรุทธิ์ บริสุทธิ์ อยู่หทัย
พระสารีบุตรไพ- โรจนัย ณ เบื้องขวา
เบื้องหลังพระโกณทัญ- ญะสถิต จิตตสา
เบื้องซ้ายพระโมคคัลลา- นะสถิต สถาพร
หูขวา พระอานนท์ ประชุมชน ประณมกร
พระราหุล อุดมพร สถิตร่วม จรัญญา
หูซ้ายพระกัสสป นิราศภพ กิตติมา
คู่กับพระมหา- นามสถิตย์ ประดิษฐาน
พระพุทธะโสภิต ผู้เรืองฤทธิ์ อุดมญาณ
จอมมุนี วีระหาญ ไตรวิชชา ประภากร
ดุจดวง พระอาทิตย์ แร่งร้อยฤทธิ์ พันแสงศร
สถิตเกศ อุดมกร ปัญฉิมภาค พิบูลพรรณ
พระกุมาระกัสสป ผู้เจนจบ วจีสัณห์
บ่อคุณคุณานันท์ สถิตโอษฐ์ อลังการ
ขอให้พระปุณณะ เถระพระอังคุลิมาล
พระอุบาลีศานต์ พระนันทะ พระสีวลี
บรรจบเป็นเบญจะ พระเถระ ผู้เรืองศรี
สถิตอยู่นลาตมี เสน่ห์ดี ไมตรีตาม
แปดสิบ พระสาวก มนต์สาธก ผู้เรืองนาม
เรืองเดช ทุกโมงยาม ด้วยลีลา ธิคุณคง
สถิตทั่วทุกส่วนกาย ทั้งน้อยใหญ่ประทับทรง
เป็นคุณจำเริญมง คลเลิศประเสริฐศรี
ขอเชิญพระปริตร อันศักดิ์สิทธิ์ในแดนตรี่
เมตตาและปรานี บริรักษ์ นิราศภัย
เบื้องหน้ารัตนสูตร ธรรมาวุธ อันเกรียงไกร
ทักษิณ อันฤาชัย เมตตสูตร พระพุทธมนต์
ปัจฉิม ธชัคคสูตร พุทธาวุธ วิเศษล้น
บุดรมหามนต์ อังคุลิมา ละสูตรเสริม
ขันธโมพระปริตร ดังจักรกฤช ประสิทธิ์เฉลิม
อาฏานาฎสูตรเติม พระขรรค์เพ็ชรเผด็จมาร
เพดารกั้นมารอากาศ ให้ปลาส เกษมศาสตร์
อีกให้เป็นปราการ กำแพงแก้วกำขัตภัย
กำแพงแก้วเจ็ดชั้น ดำรงมั่น เดโชชัย
พระชินราช ประสาทให้ เป็นเกาะใหญ่ คุ้มครองตน
ด้วยเดช พระชินศรี เรืองฤทธิ์ มากเหลือล้น
กำจัดภัย ทุกแห่งหน ทั้งวิบัติ อุปัททวา
ทั้งภายนอกและภายใน เกิดเป็นภัย ไม่นำพา
เพียงลมร้าย พัดไปมา ไม่บีฑา อย่าอาวรณ์
เมื่อข้า สวดพระสูตร พระสัมพุทธบัญชร
สูงสุด พุทธพร ในพื้นเมธนีดล
กลางชินนะบัญชร คุณากร กิตติพล
หวังใดให้เป็นผล จากกุศลสาธยาย
ขอมวลมหาบุรุษ หน่อพระพุทธฤาสาย
รักษา ข้าอย่าคลาย ตลอดกาล นิรันดร
อีกเวทมนต์ ดลคาถา ที่มวลข้า ประฌมกร
เล่าเรียน เพียรว่าวอน อนุสรณ์ ตลอดมา
เป็นคุณ คุ้มครองดี อย่าให้มี ซึ่งโรคา
เป็นคุณ ช่วยรักษา สรรพภัย ไม่แผ้วพาน
อานุภาพ พระชินะ อุปัทวะ อย่ารู้หาญ
ห่างไกร ไม่ระราน ประสบงาน สวัสดี
อานุภาพ พระธรรมมะ ให้ชำนะ ความอัปรีย์
ห่างไกล คนใจผี กาลกิณี ไม่กล้ำกราย
อานุภาพ พระสังฆะ ให้ชำนะ อันตราย
ไม่เห็น คนใจร้าย ไม่มั่นหมาย มาราวี
อานุภาพ พระสัทธรรม ทุกเช้าค่ำ รักษาศรี
จำรัส จำเริญดี ร่มพระศรี ชินบัญชรฯ

พระคาถาชินบัญชรและคำแปล

พระคาถาชินบัญชร สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
นะโม ตัสสะ ภะควะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ ( ๓ จบ)
ปุตตะกาโม ละเภ ปุตตัง ธะนะกาโม ละเภ ธะนัง อัตถิ กาเย กายะญายะ เทวานัง ปิยะตัง สุตตะวา
อิติปิ โส ภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ มะระณัง สุขัง อะระหัง สุคะโต นะโม พุทธายะ
๑. ชะยาสะนากะตา พุทธา เชตะวา มารัง สะวาหะนัง
จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เย ปิวิงสุ นะราสะภา
๒. ตัณหังกะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะติ นายะกา
สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเก เต มุนิสสะรา
๓. สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน
สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร
๔. หะทะเย เม อะนุรุทโธ สารีปุตโต จะ ทักขิเณ
โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง โมคคัลลา โน จะ วามะเก
๕. ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะราหุโล
กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเก
๖. เกสะโต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโยวะ ปะภังกะโร
นิสินโน สิริสัมปันโน โสภิโต มุนิปุงคะโว
๗. กุมาระกัสสะโป เถโร มะเหสี จิตตะวาทะโก
โส มัยหัง วะทะเน นัจจัง ปะติฏฐาสิ คุณากะโร
๘. ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ อุปาลี นันทะสีวะลี
เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา นะลาเฏ ตีละกา มะมะ
๙. เสสาสีติ มะหาเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา
เอตาสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา
ชะลันตา สีละเตเชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา
๑๐. ระตะนัง ปุระโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง
ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง
๑๑. ขันทะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะสุตตะกัง
อากาเส ฉะทะนัง อาสิ เสสา ปาการะสัณฐิตา
๑๒. ชินา นานา วะระสังยุตตา สัตตัปปาการะลังกะตา
วาตะปิตตาทิสัญชาตา พาหิรัชฌัตตุปัททะวา
๑๓. อะเสสา วินะยัง ยันตุ อะนันตะชินะเตชะสา
วะสะโต เม สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธะปัญชะเร
๑๔. ชินะปัญชะระมัชณัมหิ วิหะรันตัง มะหีตะเล
สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ เต มะหาปุริสาสะภา
๑๕. อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข
ชินานุภาเวนะ ชิตูปัททะโว
ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโฆ
สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย
สัทธัมมานุภาวะปาลิโต จะรามิ ชินะปัญชะเรติ.


พระคาถาชินบัญชร ( ความหมาย )
๑.พระพุทธเจ้าและพระนราสภาทั้งหลายผู้ประทับนั่งแล้วบนชัยบัลลังก์ ทรงพิชิตพระยามาราธิราชผู้พรั่งพร้อมด้วยเสนาราชพาหนะแล้ว เสวยอมตรส คืออริยสัจธรรมทั้งสี่ประการ เป็นผู้นำสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากกิเลสและกองทุกข์
๒. มี ๒๘ พระองค์ คือ พระผู้ทรงพระนามว่าตัณหังกรเป็นอาทิ พระพุทธเจ้าผู้จอมมุนีทั้งหมดนั้น
๓.ข้าพระพุทธเจ้าขออัญเชิญมาประดิษฐานเหนือเศียรเกล้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่บนศีรษะ พระธรรมอยู่ที่ดวงตาทั้งสอง พระสงฆ์ผู้เป็นอากรบ่อเกิดแห่งสรรพคุณอยู่ที่อก
๔.พระอนุรุทธะอยู่ที่ใจ พระสารีบุตรอยู่เบื้องขวา พระโมคคัลลาน์อยู่เบื้องซ้าย พระอัญญาโกณทัญญะอยู่เบื้องหลัง
๕. พระอานนท์กับพระราหุลอยู่หูขวา พระกัสสปะกับพระมหานามะอยู่ที่หูซ้าย
๖. มุนีผู้ประเสริฐ คือ พระโสภิตะผู้สมบูรณ์ด้วยสิริ ดังพระอาทิตย์ส่องแสงอยู่ที่ทุกเส้นขน ตลอดร่างทั้งข้างหน้าและข้างหลัง
๗. พระเถระกุมารกัสสปะผู้แสวงบุญทรงคุณอันวิเศษ มีวาทะอันวิจิตรไพเราะอยู่ปากเป็นประจำ
๘. พระปุณณะ พระอังคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะ และพระสีวลี พระเถระทั้ง ๕ นี้ จงปรากฎเกิดเป็นกระแจะจุณเจิมที่หน้าผาก
๙. ส่วนพระอสีติมหาเถระที่เหลือ ผู้มีชัยและเป็นพระโอรสเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ทรงชัยแต่ละองค์ล้วนรุ่งเรืองไพโรจน์ ด้วยเดชแห่งศีล ให้ดำรงอยู่ทั่วอวัยวะน้อยใหญ่
๑๐. พระรัตนสูตรอยู่เบื้องหน้า พระเมตตาสูตรอยู่เบื้องขวา พระอังคุลิมาลปริตรอยู่เบื้องซ้าย พระธชัคคะสูตร อยู่เบื้องหลัง
๑๑. พระขันธปริตร พระโมรปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตร เป็นเครื่องกางกั้นดุจหลังคาอยู่บนนภากาศ
๑๒. อนึ่งพระชินพุทธเจ้าทั้งหลายนอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ผู้ประกอบพร้อมด้วยกำลังนานาชนิดมีศีลาทิคุณอันมั่นคง คือสัตตะปราการเป็นอาภรณ์มาตั้งล้อมเป็นกำแพงคุ้มครองเจ็ดชั้น
๑๓. ด้วยเดชานุภาพแห่งพระอนันตะชินเจ้าไม่ว่าจะทำกิจการใด ๆ เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในพระบัญชร แวดวงกรงล้อมแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอโรคอุปัทวะทุกข์ทั้งภายนอกและภายในอันเกิดแต่โรคร้าย คือ โรคลมและโรคดีเป็นต้น เป็นสมุฏฐานจงกำจัดให้พินาศไปอย่าได้เหลือ
๑๔. ขอพระมหาบุรุษผู้ทรงพระคุณอันล้ำเลิศทั้งปวงนั้นจงอภิบาลข้าพระพุทธเจ้า ผู้อยู่ในภาคพื้นท่ามกลางพระชินบัญชร ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการคุ้มครองปกปักรักษาภายในเป็นอันดีฉะนี้แล
๑๕. ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการอภิบาลด้วยคุณานุภาพแห่งสัทธรรม จึงชนะเสียได้ซึ่งอุปัทวันตรายใดๆ ด้วยอานุภาพแห่งพระชินะพุทธเจ้า ชนะข้าศึกศัตรูด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ชนะอันตรายทั้งปวง ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ ขอข้าพระพุทธเจ้าจงได้ปฏิบัติและรักษาดำเนินไปโดยสวัสดีเป็นนิจนิรันดรเทอญ ฯ

สามเณร ชินนะ บัญชะระ

ในอดีตกาลครั้งองค์สมณะโคดมเจ้า ทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ครานั้นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของพระพุทธองค์ คือ พระโมคคัลลานะ ผู้เลิศในอิทธิฤทธิ์ และพระสารีบุตรผู้เลิศในปัญญา ณ แคว้นพาราณสี ปรากฏเด็กน้อยนามว่า ชินนะ บุตรของมะติโตพราหมณ์ และนางยะถานาพราหมณ์ โคตรบัญจะระ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแห่งองค์พระศาสดาแต่ครั้งเยาว์วัย ได้บวชเป็นสามเณร และเป็นศิษย์ของพระโมคคัลลานะ สามเณรชินนะ ทรงภูมิปัญญาเป็นที่เฉลียดฉลาดเป็นยิ่ง ศรัทธาในการบิณฑบาตอย่างสงบขยันหมั่นเพียรเป็นนิจ ครั้นอายุได้เพียง 7 ขวบก็สำเร็จอรหันต์

สามเณร ชินนะ บัญชะระ นับว่ามีรูปงาม เสียงไพเราะ รู้พิธี เจ้าระเบียบ รอบคอบด้วยความสะอาด ตั้งอยู่ในศีลาจาวัตรอันงดงาม
ครั้นย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม รูปร่างของท่านชินนะ บัญจะระ ยิ่งสวยสดงดงาม ผิวขาวละเอียดประดุจหยก หน้าแดงระเรื่อสีชมพู คิ้วโก่งดังคันศร ไว้เกษาเกล้าจุก เยื้องย่างสง่างามประดุจราชสีห์ ด้วยรูปงามเป็นที่ต้องตาต้องใจของสตรีเพศ จึงมีสตรีเพศต่างหลงใหลในตัวของท่านชินนะเป็นอย่างยิ่ง ด้วยท่านชินนะนั้นยึดพรหมจรรย์เป็นสรณะจึงมีแต่ความสงบ

แล้ววันหนึ่ง ขณะที่ท่านชินนะได้ออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ ได้มีหญิงผู้หนึ่งซึ่งแอบหลงรักท่านชินนะ มิอาจยับยั้งใจเอาไว้ได้จึงได้โผผวาเข้ากอดท่านชินนะอย่างลืมตัว ท่านชินนะ เห็นอาการของผู้หญิงคนนั้นกระทำแก่ท่านดังนี้ก็บังเกิดความสังเวชอย่างใหญ่ หลวง อันพรหมจรรย์ของท่านต้องมาแปดเปื้อนเสียดังนี้ ความยึดมั่นในพรหมจรรย์ของท่านต้องมาสะบั้นลง ท่านจึงดำริขึ้นว่า "ตัวท่านนี้มีรูปงามเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดอกุศลกรรมแก่อิตถีเพศ เป็นการสร้างบาปให้เกิดขึ้นด้วยมีกายรูปนี้เป็นเหตุ จะมีสักเท่าใดกันหนอที่ปรารถนาล่วงพรหมจรรย์ของท่านเช่นผู้หญิงคนนี้.."

ท่านชินนะ คิดดังนี้ เห็นกายเป็นเหตุ กายทำให้พรหมจรรย์จิตเสื่อมสลาย กายก่ออกุศลจิตให้เกิดเป็นบาปกับอิตถีเพศผู้ยังมัวเมาในรูป ท่านจึงถอดกายทิพย์ออกจากร่าง ทิ้งสังขารไว้เมื่อยังไม่ถึงกาล เมื่ออายุท่านเพียง 23 ปี 6 เดือน กายทิพย์ของท่านจึงไปได้แค่ชั้นพรหมโลก ท่านชินนะ นับว่าเป็นผู้รอบรู้พิธีการต่างๆของโลกวิญญาณ ท่านสามารถสวดพระคาถาคลายพระเวทย์ได้อย่างเยี่ยมยอดยามท่านสวดพระคาถาไม่ว่า บนโลกหรือบนสวรรค์เสียงของท่านจะก้องกังวานไปทั่วนรกภูมิ และสวรรค์สามสิบสามชั้นเทพพรหมได้ยินจะสะเทือนจิตออกจากสมาบัติหมดสิ้น เพื่อรับทราบพิธีการที่ท่านชินนะจัดขึ้น

ท่านชินนะบัญจะระ มีกายละเอียดอยู่ในชั้นพรหม ขณะนี้เป็นชั้นหัวหน้ารูปพรหม 16 ชั้น ควบคุมทั้งหมด ดังด้วยว่าสตรีเพศเป็นผู้ทำลายความบริสุทธิ์ของท่านเสียก่อนดังนี้ ทำให้ท่านละสังขารก่อนถึงกาลเวลาแห่งอายุดังนี้ จึงทำให้ท่านมีกำลังบุญอยู่ในแค่ชั้นพรหม ดังนั้นท่านจึงต้องสร้างบุญในโลกมนุษย์เพื่อสร้างบุญบารมีนำท่านขึ้นไปสู่ แดนอรหันต์ ดังนั้น ชินบัญชรคาถา หากท่านได้ภาวนาเป็นประจำสม่ำเสมอจักก่อให้เกิดผลดียิ่งแก่ผู้ภาวนา เพราะท่านท้าวมหาพรหม ชินนะบัญจะระ จะทรงแผ่อำนาจลงมาช่วยท่านตลอดเวลาคิดหวังอะไรย่อมสมหวังยิ่ง
คุณลักษณะท้าวมหาพรหมชินะปัญชะระ

ยิงใหญ่... เทพพรหมนั้นมีมากมายกว่าเมล็ดทรายในท้องมหาสมุทร แต่มีพรหมที่มีตบะแรง พรหมที่มีอวุโส มีตำแหน่งในพหรมโลกนั้นมีไม่กี่องค์
ในพรหมโลกมีพระพรหม ๔ องค์ที่เป็นใหญ่ในพรหมโลก มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับพรหมโลก คือ
1. ท้าวมหาพรหมชินะปัญชะระ
2. ท้าวอัปราพรหม
3. ท้าวจตุรพรหม
4. ท้าวมหาพรหมสามภพ
พระพรหมชินนะนี้ เป็นผู้พร้อมทุกอย่าง เขาเรียกว่าเป็นผู้สำเร็จสมัยองค์สมณโคดม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นพรหมที่ไม่ขึ้นต่อพรหมโลก เขาเรียกว่าเป็นพรหมเอกเทศในพรหมโลกและมีบารมีแห่งฌานสมาบัติอันแก่กล้า พรหมองค์นี้ไม่ใช่พรหมที่จะติดสินบนกับมนุษย์ ทรงไว้ด้วยความยุติธรรม และเป็นผู้รอบรู้สรรพสิ่ง เรียกว่าเจ้าพิธีการของโลกวิญญาณ เป็นหัวหน้ารูปพรหมทั้ง ๑๖ ชั้น เป็นพระพรหมที่เรียกว่าเทวดาผู้หญิงหล พรหมผู้หญิงที่ฝึกยังไม่ถึงชั้น ๕ พรหมชั้น ๔ ยังติดกาเม ก็ยังหล แต่มีกฎว่าผู้ใดถูกแม้แต่เท้าพระพหรมชินนะ ผู้นั้นจะต้องถูสาปมาเป็นเกิด พรหมองค์นี้เป็นพรหมที่มติสามโลกเอื้อมไปไม่ถึง ท่านเป็นคนเจ้าระเบียบ เป็นคนมีวินัย รักความสะอาด สงบเสงี่ยม สุขุมคัมภีรภาพ มีความเฉลียวฉลาด เป็นพรหมยิ่งใหญ่ของพรหมโลกที่ขจัดมารได้ทั่วภิภพ... ตอนออกรบจะพิชิตมาร หมายความว่าพรหมโลกเกิดเรื่องยุ่งก็ดี เทวโลกเกิดยุ่งก็ดี ยมโลกเกิดยุ่งก็ดี มารโลกเกิดมาเรื่องมาก เขาช่วยกันไม่ได้ เขาก็ต้องมาเชิญองค์พระพหรมชินนะ พระพหรมชินนะจะออกศึกก็มีพาหนะ
พาหนะ... เท้าขวาเหยียบเต่า ท้ายซ้ายเหยีบพญานาค เป็นพาหนะประจำตำแหน่ง พาหนะเหล่านี้เป็นวิญญาณทิพย์เป็นวิญญาณที่จำศีล เตรียมตัวเกิดเป็นสาวกในยุคพระศรีอริยเมตไตรย เต่ามีอายุยืนนานและแข็งแกร่ง ท้าวขวาท่านหนักมาก ถ้าเหยียบพยานาครับรองว่าแบน ก็เอาเต่ามารอง เท้าซ้ายไม่ค่อยหนักก็เอาพญานาคเหยียบ เต่านั้นถือว่าเป็นสัตว์บก พญานาคเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ เหยีบพญานาคหมายถึงเหยียบสมุทร แสดงว่าทั้งบกทั้งน้ำอยู่ใต้ตีนข้า เวลาท่านประทานน้ำมนต์อาบคนใข้ สองหน่อนี้ก็มาช่วยอยู่
วรกาย... พระวรกายมีแสงดั่งพระอาทิตย์ จิตใจงามเหมือนพระจันทร์ คิ้วโก่งเหมือนคันศร นัยน์ตางามและคมเหมือนเหยี่ยว ผิวกายละเอียดเหมือนหยกขาว ผมเกล้าจุกขมวดไว้บนพระเศียร เศียรมีปิ่นเพชร ปิ่นเพชรมีสีทอง พระพรหมชินะ ไม่ยอมอธิษฐานแปลงกายแห่งกายทิพย์ของตนให้เป็นแปดหน้าสี่กร หรือสี่หน้าแปดกร การที่พระพหรมมีหลายๆหน้า เพราว่าท่านมีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของพรหมโลก และต้องดูแลในการจัดการที่จะมาต้านของเหล่ามาร ที่จะมารังควานในการนั่งสมาธิของพรหม อันนี้อาจจะถามว่า แล้วเหตุไฉนพระพรหมชินนะจึงไม่ต้องมีหลายหน้า เพราะว่าพระพหรมชินนะนั้นมีรังสีแห่งวรกายของแก้ว ๗ ชั้นคลุมอยู่ จึง ไม่ต้องใช้หน้ามาก เพียงแต่เปล่งรัศมีแผ่ไป พรหมเขาก็รู้พวกมารหรืออะไรเขาก็รู้นี่พรหมองค์นี้มา ก็คือสัญลักษณ์ของท้าวมหาพรหรหมองค์นี้มา ท่านจึงไม่ได้เนรมิตในร่างกายให้ผิดแปลกกว่าเขา
กายนั้นเปล่งรัศมีรอบวรกายเป็นพระอาทิตย์ขาวขึ้น ในภาวการณ์ที่เรียกว่า ถ้าพระพหรมองค์นี้ไปไหน เทวดาเห็นเป็นพระอาทิตย์เคลื่อนที่มีรัศมี ๕๐๐ เส้น เทพพรหมจะรู้ว่าท้าวมหาพรหมชินนะมา แต่พวกอมรมนุษย์ เทพ พวกรุขเทวดาเหล่านี้ยังไม่รู้จัก เพียงแต่คิดว่า เอ๊ะ พรหมองค์นี้มีรัศมีมากเพียงพอหนอ
เครื่องแต่งกาย... การแต่งกายของโลกวิญญาณนั้น เสื้อผ้าที่แต่งนั้นเป็นของทิพย์ พอใจก็นุ่งชุดนี้ตลอดกาล ทีนี้การแต่งตัวของท้าวมหาพรหมชินนะเขาเรียกว่าแต่งแบบครึ่งกึ่งพระกึ่งพรหม คือ ทั้งชุดที่นุ่งนั้นเป็นสีขาวบริสุทธิ์ เพราะว่ากายเนื้อทิพย์ของพระพรหมชินนะเป็นเนื้อหยกขาว ชุดที่นุ่งนั้นก็เป็นชุดขาวละเอียด พระวรกายก็เป็นสีที่เรียกว่าขาวอย่างมีสีนวล เปล่งรัศมีไกลถึง ๕๐๐ เส้น

คฑา... มือขวาถือคทาเรียกว่า “คฑาพรหม” เป็นจามจุรีทิพย์หัวคทามีแสงพุ่งออกมาเป็นรัศมีเป็นรุ้ง ๓ สี
วิมาน... วิมาน ท่านอยู่พรหมโลกชั้นที่ ๑๓ วิมานนั้นเนรมิตสร้างขึ้นด้วยแก้วมรกต พื้นวิมานปูด้วยทองคำบริสุทธิ์รอบในหลังคามุงด้วยเพชร บรรทมด้วยสิงห์ ไม่มีคนใช้ไม่มีบริวาร ส่วนมากอยู่เอกเทศเพียงองค์เดียว ไม่ชอบพูดกับใคร ไม่มีใครกล้าเหยียบวิมานโดยพลการ
พหรมเอกเทศหมายความว่า ไม่ขึ้นกับพหรมโลก จะอยู่ในพรหมโลกก็ได้ ไม่อยู่ก็ได้ แล้วแต่ความพอใจ วิมานมีหลายแห่ง
ลัทธิชินโตโนะ... ในประเทศญี่ปุ่นนับถือท้าวมหาพรหมชินนะปัญชะระมาก เขานับเป็นพระอรหันต์ในตำราของเขา แล้วชินนะปัญจะระชินศรีเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง เพราะฉะนั้นในญี่ปุ่นเขานับถือท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระมาก แต่เขาเรียกเป็น “ชินโตโนะ” หรือ ศาสนาชินโตโนะ คือบูชาพระอาทิตย์ ที่เขาบูชาพระอาทิตย์เพราะ ท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระก่อนจะปรากฏร่าง จะต้องเป็นแสงอาทิตย์ เรียกว่ารัศมีพุ่งเป็นรุ้ง ฉะนั้นในญี่ปุ่นเขานับถือเป็นลัทธิหนึ่ง คือ ลัทธิชินโตโนะ
ผู้พิชิตมารทั่วพิภพ... ท้าวมหาพรหมชินนะ ท่านเป็นพระพรหมที่มีฤทธิ์เดช ที่เรียกว่าพญามารหรือมารทั้งหลายกลัว ในด้านของมารโลเก โลกของมารของพวกวิญญาณ ดังนั้นก็เรียกว่า ท่านมีรูปของท้าวมหาพรหมชินนะอยู่ในบ้านก็คิดว่าอุปสรรคในการกลั่นแกล้งของ วิญญาณ พวกที่เรียกว่ารุกขเทพก็ดี พวกอมรมนุษย์ก็ดี พวกผีเปรตอสุรกายก็ดี คิดว่าไม่กล้าย่างกราย
สถานที่กราบนมัสการท้าวมหาพรหมชินปัญชะระ...
ตั้งอยู่ภายในอาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา
เบื้องหน้ามีบ่อน้ำพุทธมนต์อันศักดิ์สิทธิ์
ที่ได้นำมาจากสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ 108 แห่ง

คาถาบูชาท้าวมหาพรหมชินะปัญชะระ
ชินะ ปัญชะริตตัง สะมังกาโย มหาพรหมโม
พุทโธ วิโสธายิ อิติอะระหัง พรหมะโลกัง ปะสิทธิเต
หุลุ หุลู สวาหายะ นะมะพะธะ จะพะกะสะ
นะมะระอะ ศะศิพุทโธ พุทธนัง ธัมมนัง สังฆนัง
ฮะ พิงค์ พิงค์ พิงค์ ฯ

กำเนิดพระคาถาชินบัญชร

กำเนิดพระคาถาชินบัญชร

เรียบเรียงโดยคุณปัญญา นี้ได้คัดลอกมาจากหนังสือ พระคาถาชินบัญชร
จากรายการชินบัญชรทางวิทยุ นานแล้ว ก็ขอจะเล่าประวัติดังนี้

เมื่อครั้งนั้น สมเด็จ (โต) ได้มีโอกาสเดิทางไปยัง จังหวัดกำแพงเพชร ท่านได้เดินทางไปที่วัดเก่าแห่งหนึ่งซึ่งมีกรุโบราณ ที่นั่นท่านได้พบคัมภีร์โบราณผูกหนึ่งฝังอยู่ในเจดีย์หัก สมเด็จจึงนำคัมภีร์ผูกนั้นมาเก็บไว้ที่กุฏิ ขณะนั้นสมเด็จ (โต) ท่านมีจิตดำริที่จะสร้างพระเครื่องเพื่อมอบให้แก่เจ้าปิยะ (ร.5) หรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นสมบัติในยุคสมัยครองราชย์

ระหว่างครุ่นคิดสมเด็จ (โต) ท่านก็ได้จำวัดหลับไป ในคืนนั้นราวๆประมาณตี 3 สมเด็จ (โต) ได้นิมิตว่าท่านได้ตื่นขึ้น เห็นชายหนุ่มรูปงามรูปหนึ่งมายืนอยู่ที่หัวนอนในชุดนุ่งขาวห่มขาว มีรูปลักษณ์งดงามหาที่ติมิได้เลย สมเด็จ(โต) ท่านก็มองขึ้นตามกำหนดของจิต ทราบว่าหนุ่มรูปงามนี้คงจะไม่ใช่มนุษย์อย่างแน่นอน

สมเด็จ (โต) จึงถามว่า "ท่านผู้เจริญ การที่อาตมาได้มีโอกาสชมท่านนับว่าเป็นขวัญตาเหลือเกิน ท่านมาในสถานที่แห่งนี้ มีสิ่งใดที่อาตมาปฏิบัติผิดพลาดในหลักพระพุทธศาสนาเล่า ? ขอให้ท่านจงประสาทประทานการสอนให้อาตมาแจ่มแจ้งในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธ เจ้าเถิด" ชายหนุ่มผู้นั้นจึงกล่าวขึ้นด้วยคำพูดที่เย็นกังวาน "ท่านโต วิธีการที่ท่านดำเนินงานอยู่นี้คล้ายกับองค์สมณะโคดมอยู่ แต่การที่ท่านคิดจะสร้างพระให้เป็นสิ่งที่ระลึกของมนุษย์นั้น สร้างแล้วสิ่งนั้นจะต้องดี ท่านโตเชื่อในเรื่องวิญญาณ เพราะฉะนั้นควรจะปฏิบัติตามกฏของโลกวิญญาณ คือวิธีการตั้งให้ถูกหลักการในการปลุกเสก"

สมเด็จ(โต) ท่านจึงกล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ ขรัวโตนี้รับฟังความคิดเห็นของทุกคนหากแม้นท่านโปรดข้านี้ ขอได้โปรดบอกมาเถิด จะด่าว่าตักเตือนเราก็ไม่ว่า" หนุ่มรูปงามผู้มีความสงบแลดูเป็นที่เลื่อมใส จึงได้แนะวิธีการต่างๆในเรื่องทิศทางว่าทิศใดเป็นทิศมงคล ในการวาง เทียน ธูป ดอกไม้ เทียนชัย ให้ตรงตามหลักของกฏระเบียบแห่งโลกวิญญาณ เรียกว่าเทวบัญญัติ หรือพรหมบัญญัติ

ระหว่างนั้นสมเด็จ (โต) ยังคุมสติสัมปชัญญะอยู่ทุกเมื่อ จึงได้ถามหนุ่มรูปงามนั้นว่า "ท่านผู้รูปงามท่านนี้มีนามว่ากระไรหรอ?"
"หม่อมฉันนี้คือลูกศิษย์องค์พระโมคคัลลานะ หม่อมฉันสำเร็จเป็นอรหันต์เมื่ออายุ 7 ขวบ แต่ด้วยทิ้งสังขารก่อนอายุขัยจึงมิได้สู่แดนอรหันต์ คงยังอยู่ในแดนพรหมโลก เพราะหม่อมฉันไม่อยากติดสตรีมิชอบสตรี เพราะสตรีทำลายพรหมจารีย์ของหม่อมฉัน หม่อมฉันจึงทิ้งสังขารก่อนอายุขัย ทางโลกวิญญาณถือว่าสิ้นก่อนอายุขัย จึงอยู่รูปพรหม

ถ้าท่านโตต้องการปรึกษาจากหม่อมฉัน ก็จงระลึกถึง"ชินนะบัญชะระ" มานพหนุ่มรูปงามกล่าวต่อสมเด็จ (โต) อย่างสำรวม
ต่อมาไม่ว่าสมเด็จ (โต) จะทำงานสิ่งใด จึงมักระลึกถึง ท่านท้าวมหาพรหมชินนะบัญจะระทีไร ท่านก็ปรากฎร่างทันที ช่วยเหลือสมเด็จ (โต) ประกอบพิธีต่างๆ จึงทำให้เครื่องรางของขลังของสมเด็จ (โต) มีความศักดิ์สิทธิ์มาก

สมเด็จ (โต) ท่านปลุกเสกพระสมเด็จรุ่นสุดท้าย 84,000 องค์ เรียกว่าสมเด็จอิทธิเจ ท่านได้แปลคาถาจากคัมภีร์ ซึ่งท่านพบจากกรุวัดที่กำแพงเพชร ซึ่งคัมภร์นั้นเขียนด้วยภาษาสิงหลได้ความบ้าง มิได้ความบ้าง จับใจความได้ว่าเป็นชื่ออรหันต์แปดสิบองค์ จึงได้ตัดต่อแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อง่ายต่อการสวด จึงแปลใหม่ได้ความว่า "คาถาชินบัญชร" ซึ่งตรงกับชื่อท่านท้าวมหาพรหมชินนะบัญชะระ สมเด็จ (โต) ท่านจึงถือคาถาบทนี้เป็นการเทิดทูนท่านท้าวมหาพรหมชินนะบัญชะระ ที่ท่านได้ช่วยเหลือตลอดมา และพระคาถาบทนี้เป็นบทสวดในการนั่งปลุกเสกพระอิทธิเจรุ่นสุดท้าย ซึ่งสมเด็จ (โต) ท่านนั่งปลุกเสกอยู่เพียงผู้เดียว
เมื่อ โลกมนุษย์จะเกิดกลียุคหลังพุทธศาสนาผ่านไปแล้ว ๒,๕๐๐ ปี ต่อมาดวงวิญญาณบริสุทธิ์ ๓ พระองค์
ได้รับการอาราธนาให้มาเป็นท่านบรมครูในการร่วมทำงานช่วยมนุษย์ คือ
หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด
ในอดีตทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชคูรูปาจารย์แห่งกรุงอโยธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แต่ได้หลีกเร้นไปปฎิบัติธรรมที่น้ำตกทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และสถานที่แห่งอื่น เช่น เกาะแก้วพิสดาร จังหวัดภูเก็ต จนบรรลุอนาคตังสาญาณ (ความหยั่งรู้ผลที่จะเกิดสืบต่อไปได้) ครั้นทิ้งสังขารจากโลกมนษย์ได้ไปบำเพ็ญโพธิสัตวบารมีที่โลกวิญญาณ เพราะได้ตั้ง ปณิธานเป็นสัมมาสัมพระพุทธเจ้า สืบต่อจากพระบรมโพธิสัตว์ศรีอริยเมตไตรย ปัจจุบันดวงพระวิญญาณสถิตบนสวรรค์ชั้นดุสิต
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี
อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ได้รับการยกย่องเป็นพระอมตเถระแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อทิ้งสังขารจากโลกมนุษย์ได้สถิตอยู่พรหมโลกชั้น ๑ ปัจจุบันเป็นพรหมชั้น ๑๖ บำเพ็ญโพธิสัตว์บารมีเพื่อเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สืบต่อหลวงปู่ทวด เหยี่ยบน้ำทะเลจืด
ท้าวมหาพรหมชินะปัญชะระ
เป็นศิษย์ของพระโมคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอตทัคคะทางมีฤทธิ์มาก) ได้สำเร็จอรหันต์ผลเมื่ออายุ ๗ ขวบ แต่ได้ทิ้งสังขารไปอยู่พรหมโลกเมื่ออายุ ๒๓ ปี ๖ เดือน ปัจจุบันเป็นหัวหน้ารูปพรหม ๑๖ ชั้น เจ้าพิธีการแห่งโลกวิญญาณ ผู้พิชิตมาร


บทย่อของพระคาถาชินบัญชร
"ชินะปัญชะระปะริต ตังมังรักขะตุสัพพะทา"
หัวใจพระคาถาชินบัญชร
"ชะ จะ ตะ สะ สี สัง หะ โก ทะ กะ เก นิ กุ โส ปุ เถ เส เอ ชะ ระ ถะ ขะ อา ชิ วา อา วะ ชิ สัง อิ ตัง"

อานิสงส์ชินบัญชร ... พระคาถาชินบัญชรนี้เป็นคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ตกทอดมาจากลังกาเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ค้นพบในคัมภีร์โบราณได้ดัดแปลงแก้ไขแต่งเติให้ดีขึ้นเป็นเอกลักษณ์พิเศษได้เนื้อถ้อยกระทงความสมบูรณ์แปลออกมาแล้วมีแต่สิ่งสิริมงคล แก่ผู้สวดภาวนาทุกประการ
พระคาถานี้เป็นการอัญเชิญพระพุทธานุภาพแห่งพระบรมศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระพุทธเจ้าที่ได้เคยมาตรัสรู้ก่อนหน้านั้น จากนั้นเป็นการอัญเชิญพระอรหันต์ขีณาสพ อันสำเร็จคุณธรรมวิเศษแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน นอกนั้นยังอัญเชิญพระสูตรต่าง ๆ อันโบราณาจารย์เจ้าถือว่า เป็นพระพุทธมนต์อันวิเศษแต่ละสูตรมารวมกันสอดคล้องเป็นกำแพงแก้วคุ้มกันตั้งแต่กระหม่อมจอมขวัญ ของผู้ภาวนาพระคาถาลงมาจนล้อมรอบตัว จนกระทั่งหาช่องโหว่ให้อันตรายสอดแทรกเข้ามามิได้

อานุภาพแห่งพระคาถาชินบัญชร ... ผู้ใดได้สวดภาวนาพระคาถาชินบัญชรนี้ เป็นประจำอยู่สม่ำเสมอ จะทำให้เกิดความสิริมงคลสมบูรณ์พูนผล ศัตรูหมู่พาลไม่กลํ้ากราย ไปทางใด ย่อมเกิดเมตตามหานิยม เกิดลาภผลพูนทวี ขจัดภัยจากภูตผีปีศาจ ตลอดจนคุณไสยต่าง ๆ ทำน้ำมนต์รดแก้วิกลจริตแก้สรรพโรคภัยหายสิ้น เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต มีคุณานุภาพตามแต่จะปรารถนา ดังคำโบราณว่า "ฝอยท่วมหลังช้าง" จะเดินทางไปที่ใด ๆ สวด ๑๐ จบ แล้วอธิษฐานจะสำเร็จสมดังใจ

ระบบกล่าวหา vs ระบบไต่สวน

ระบบกล่าวหา vs ระบบไต่สวน
ระบบวิธีพิจารณาคดีในศาลที่ใช้กันนั้น มีระบบวิธีพิจารณาคดีอยู่ ๒ ระบบ เรียกว่า ระบบกล่าวหา(Accusatiorial System) กับ ระบบไต่สวน(Inquisitorial System) ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ได้อธิบายไว้ในหนังสือบทบัณฑิต เล่มที่ ๑๒ พอที่จะสรุปได้ว่า

ระบบกล่าวหา
มีที่มาจากประเทศอังกฤษและกลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมายระบบคอมมอนลอว์ (Common Law) เช่นสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ แคนาดา รวมทั้งกลุ่มประเทศอาณานิคมของอังกฤษ หลักการของระบบกล่าวหา มีวิวัฒนาการจากการแก้แค้นกันระหว่างผู้กระทำผิดกับผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดด้วยตนเอง แล้วรวบรวมพยานหลักฐานมานำสืบความผิดของจำเลยในศาล ส่วนศาลหรือผู้พิพากษาจะวางตัวเป็นกลางโดยเคร่งครัด เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีแนวความคิดมาจากการพิจารณาคดีในสมัยโบราณ ซึ่งใช้วิธีทรมาน (trial by ordeal) และทำให้ทั้งสองฝ่ายต่อสู้คดีกันเอง (trial by battle) ส่วนศาลจะทำหน้าที่เป็นคนกลางหรือกรรมการ ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นการเอาพยานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลย โดยฝ่ายโจทก์จะเอาพยานที่เป็นพรรคพวกของตนมาเบิกความกล่าวหาจำเลย ส่วนจำเลยก็เอาพวกของตนมาเบิกความรับรองความบริสุทธิ์ของตนให้ศาลฟังแล้วตัดสินคดีไปตามน้ำหนักพยานของแต่ละฝ่าย จากการที่ใช้วิธีการต่อสู้คดีกันนั้นเอง ระบบกล่าวหาจึงให้ความสำคัญอย่างสูงต่อหลักเกณฑ์ต่อไปนี้คือ
๑. หลักการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ให้ศาลเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดจริง
๒. ถือหลักสำคัญว่าโจทก์และจำเลยมีฐานะในศาลเท่าเทียมกัน
๓. ศาลจะวางตนเป็นกลางโดยเคร่งครัด ทำหน้าที่เหมือนกรรมการตัดสินกีฬาคอยควบคุมให้ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายลักษณะพยานโดยเคร่งครัดการปฏิบัติผิดหลักเกณฑ์อาจถูกศาลพิพากษายกฟ้องได้
๔. ศาลจะมีบทบาทค้นหาความจริงน้อยมาก เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของคู่กรณีหรือ คู่ความจะต้องแสวงหาพยานมาแสดงต่อศาลด้วยตนเอง ฉะนั้นศาลไม่จำเป็นต้องมีความรู้ใดๆหรือมีความชำนาญในด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษนอกเหนือจากตัวบทกฎหมาย

ระบบไต่สวน
ในทางทฤษฎียอมรับกันว่าระบบไต่สวนมีที่มาจากศาลทางศาสนาของคริสต์ศาสนา นิกายคาทอลิคในสมัยกลาง ซึ่งทางศาสนจักรโดยเฉพาะอย่างยิ่งสันตปาปาแห่งกรุงโรม มีอิทธิพลเหนือฝ่ายอาณาจักรคือ กษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ ในสมัยกลาง ศาลศาสนาของยุโรปมีวิธีการพิจารณาคดีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายของทางศาสนาด้วยวิธีการซักฟอกพยาน
ในรูปของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับคดีโดยตรง คือ พระผู้ทำการไต่สวนกับผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ถูกไต่สวน โดยไม่ต้องมีผู้พิพากษาเป็นคนกลาง ดังนั้น ในศาลศาสนา ผู้ไต่สวนจึงต้องทำหน้าที่แสวงหาพยานหลักฐาน ซักถามพยานและชำระความโดยไต่สวนคดีด้วยตนเองตลอด และด้วยที่ศาสนจักร์มีอิทธิพลเหนือฝ่ายอาณาจักร ระบบศาลของฝ่ายอาณาจักร์จึงได้รับอิทธิพลและได้วิวัฒนาการมาเป็นระบบไต่สวนในปัจจุบัน
ตามระบบไต่สวน ศาลไม่ได้ทำหน้าที่วางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัดเหมือนระบบกล่าวหาแต่จะทำหน้าที่ค้นหาความจริงด้วยตนเอง ศาลจะมีบทบาทในการดำเนินคดีอย่างสูง ผิดกับในระบบกล่าวที่ศาลมีบทบาทน้อยมากเพราะต้องวางตัวเป็นกลาง โดยที่ระบบไต่สวนเน้นในเรื่องการค้นหาความจริงเป็นหลัก ดังนั้น กฎเกณฑ์ในการดำเนินคดี เช่น การสืบพยาน การดำเนินการต่างๆ ในศาลจึงยืดหยุ่นกว่าระบบกล่าวหา

จากที่มาของระบบกล่าวหากับระบบไต่สวนที่ ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย ได้กล่าวไว้ ข้างต้นจะทำให้เราเห็นหลักการสำคัญที่ว่า
เมื่อใดที่คู่ความหรือคู่กรณีมีสถานะเท่าเทียมกันแล้วการใช้ระบบกล่าวหาจะเกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายเพราะเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างต้องปกป้องรักษาสิทธิของตนเอง
แต่ถ้าเมื่อใดที่คู่กรณีหรือคู่ความมีสถานะไม่เท่าเทียมกันแล้ว การใช้ระบบไต่สวนย่อมจะเหมาะสมและเป็นธรรมแก่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งอยู่ในสถานะเสียเปรียบ เช่นกรณีพิพาทระหว่างราษฎรหรือเอกชนกับรัฐในคดีปกครอง เป็นต้น เพราะพยานหลักฐานต่างๆมักจะอยู่ในการครอบครองของฝ่ายรัฐเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นการยากที่ฝ่ายราษฎรจะนำสืบหรืออ้างพยานหลักฐานตามระบบกล่าวหาที่มีหลักว่า “ผู้ใดกล่าวอ้าง ผู้นั้นนำสืบ” โอกาสที่จะชนะคดีสำหรับราษฎรหรือเอกชนจึงเป็นไปได้ยาก
สำหรับประเทศไทยเรานั้นได้มีการใช้ระบบกล่าวหาสำหรับคดีแพ่งและคดีอาญา(เว้นในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) และใช้ระบบไต่สวนในคดีที่ใช้อำนาจตามกฎหมายมหาชนในศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

กว่าจะเป็น 3G !!!

กว่าจะเป็น 3G (3rd Generation) ก่อนที่จะมารู้จักกับเทคโนโลยี 3G เราจะมาทำความรู้จักกับเทคโนโนยีที่มีก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ยุค 1G 2G 2.5G และ 2.75G ซึ่งได้มีการพัฒนามาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็น 3G ที่กำลังเป็นที่นิยมและมีความสามารถที่จะตอบสนองผู้ใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

ยุค 1G (1st Generation) เริ่มตั้งแต่ยุคแรก ระบบยังเป็นระบบอะนาล็อก (Analog) และมีการแบ่งความถี่ออกมาเป็นช่องเล็กๆ ในยุคนี้เราสามารถใช้งานทางด้าน Voice ได้เพียงอย่างเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคนี้ผู้ใช้ก็ยังไม่ได้มีความต้องการที่จะใช้บริการประเภทอื่น

ยุค 2G (2nd Generation) เนื่องจากผู้ใช้มีความต้องการและความหลากหลายด้าน การบริการมากขึ้น จึงได้มีการพัฒนาการส่งคลื่นทางคลื่นวิทยุจากแบบอะนาล็อกมาเป็นแบบ digital ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งานทางด้านข้อมูลได้นอกเหนือจากบริการเสียง ทำให้ยุคนี้กลายเป็นยุคเฟื่องฟูของโทรศัพท์มือถือ และเพราะการให้บริการทางด้านข้อมูล ทำให้เกิดบริการอื่นๆ ที่ตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นDownload Ringtone Wallpaper Graphic ต่างๆ แต่บริการในยุคนี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

ยุค 2.5G (2.5 Generation) หลังจากนั้นเป็นยุคที่อยู่ระหว่าง 2G และ 3G ซึ่งก็คือ 2.5G ใน 2.5G นี้เป็นยุคที่มีการนำเทคโนโลยี GPRS (General Packet Radio Service) มาใช้ เพื่อเพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูลให้มากกว่ายุค 2Gเทคโนโลยี GPRS สามารถส่งข้อมูลได้ที่ความเร็วสูงสุดถึง 115 kbps แต่ ความเร็วของ GPRS ในการใช้งานจริงจะถูกจำกัดให้อยู่ที่ประมาณ 40 kbps เท่านั้น ซึ่งในยุค 2.5G นั้นจะเป็นยุคที่เริ่มมีการใช้บริการในส่วนของข้อมูลมากขึ้น และการส่งข้อความก็พัฒนาจาก SMS มาเป็น MMS โทรศัพท์มือถือก็เริ่มเปลี่ยนจากจอขาวดำมาเป็นจอสี เสียงเรียกเข้า จากเดิมที่เป็นเพียง Monotone ก็เปลี่ยนมาเป็น Polyphonic รวมไปถึง True tone ต่างๆ ด้วย

ต่อมาในยุค 2.75G คือยุคที่ต่อเนื่องมาจาก GPRS แต่จะมีการพัฒนาความเร็วในการส่งข้อมูลเพิ่มสูงขึ้น และเรียกเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูลว่า EDGE (Enhanced Data rates for Global Evolution) ซึ่งจะมีความเร็วมากกว่า GPRS ประมาณ 3 เท่า หรือมีความเร็วสูงสุดประมาณ 384 kbps แต่มีความเร็วในการใช้งานจริงประมาณ 80-100 kbps

ยุค 3G (Third Generation) เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 นั้นจะเป็นเทคโนโลยีที่ผสมผสานการรับส่งข้อมูล และเทคโนโลยีที่อยู่ในปัจจุบันเข้าด้วยกัน รวมทั้งส่งผ่านข้อมูลในระบบไร้สาย (Wireless) ที่ความเร็วที่สูงกว่ายุค 2.75G นอกจากนี้ 3G ยังสามารถให้บริการมัลติมีเดียได้อย่างสมบูรณ์แบบ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การรับส่งข้อมูลแอพพลิเคชั่น (Application) รวมทั้งบริการระบบเสียงดีขึ้น เช่น การรับส่ง File ที่มีขนาดใหญ่ การใช้บริการ Video/Call Conference ดาวน์โหลดเพลง ชมภาพยนตร์แบบสั้นๆ ดู TV Streaming ต่างๆได้

ความโดดเด่นของ 3G

สามารถรับส่งข้อมูลโดยจะเน้นการเชื่อมต่อแบบไร้สายด้วยความเร็วสูง ทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีรูปแบบใหม่ๆมากขึ้น สามารถให้บริการระบบเสียงและแอพพลิเคชั่นรูปแบบใหม่ เช่น เครื่องเล่นวีดีโอ ฟังเพลง Mp3 ดาวน์โหลดเกม แสดงกราฟฟิก และการแสดงแผนที่ตั้งต่างๆ ทำให้การสื่อสารเป็นแบบอินเตอร์แอคทีฟ สร้างความสนุกสนาน และสมจริงมากขึ้น รวมถึงการให้บริการ Mobile banking เช่น การโอนเงิน เช็คยอดเงิน ซื้อขายของ ซึ่งจะทำให้ชีวิตสะดวกสบายและคล่องตัวขึ้นโดยโทรศัพท์เคลื่อนที่เปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์แบบพกพา วิทยุส่วนตัว และกล้องถ่ายรูป ผู้ใช้สามารถเช็คข้อมูลใน account ส่วนตัว เพื่อใช้บริการต่างๆ ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น self-care (ตรวจสอบค่าใช้บริการ) แก้ไขข้อมูลส่วนตัว ใช้บริการข้อมูลต่างๆ เช่น ข่าวเกาะติดสถานการณ์ ข่าวบันเทิง ข้อมูลด้านการเงิน ข้อมูลการท่องเที่ยว และ ตารางนัดหมายส่วนตัว

ที่มา : 3G Americas whitepaper, “EDGE, HSPA, LTE: Broadband Innovation”, September 2008
เรียบเรียง: นายพิทวัส กัลยา
ตรวจทาน: ดร. เจริญชัย บวรธรรมรัตน์
ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย