วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ข้อคิด 10 ประการ ในการทำข้อสอบวิชากฎหมาย

ข้อคิด 10 ประการ ในการทำข้อสอบวิชากฎหมาย

ศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย ได้ให้ “คำแนะนำในการตอบปัญหากฎหมาย” ที่ทรงคุณค่ายิ่ง โดยผู้เขียนได้ย่อและเพิ่มเติมจากประสบการณ์ของตนเองและผู้อื่นไว้ ดังต่อไปนี้

๑. ต้องอ่านปัญหาให้เข้าใจชัดแจ้งเสียก่อน เพราะปรากฏว่ามีบางคนที่เข้าใจปัญหาหรือประเด็นผิดพลาด โดยคำถามถามอย่างหนึ่ง แต่กลับไปตอบอีกอย่างหนึ่งไม่ตรงคำถาม ซึ่งข้อนี้ผู้เขียนยังเห็นว่าการจับประเด็นให้ได้ครบถ้วนและรวดเร็ว จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ตอบข้อสอบไม่หลงทาง และการจับประเด็นถูกต้องแม้จะตอบผิดไปบ้างก็ยังดีกว่าตอบผิดประเด็นหรือตอบ คนละเรื่องไปเลย ซึ่งในข้อนี้เมื่อนักศึกษาทราบแล้วว่าในแต่ละวันข้อสอบจะออกสอบในกลุ่มวิชา ใดและเรื่องอะไรกี่ข้อบ้างแล้ว ก็ย่อมจะมีส่วนช่วยในการจับประเด็นได้ถูกเรื่องเช่นกัน

๒. ต้องตอบคำถามให้หมดข้อ หรือตอบให้ครบทุกประเด็นปัญหาที่ถาม เพราะผู้ตรวจได้แต่พิจารณาจากคำตอบเท่านั้นว่านักศึกษาผู้ตอบมีความรู้ใน วิชากฎหมายเพียงใด มีนักศึกษาหลายคนที่มีความรู้ความสามารถดี แต่ไม่รู้จักวิธีตอบไม่สามารถแสดงความรู้ความสามารถของตนออกมาให้เห็นได้ชัด แจ้งสมบูรณ์ในกระดาษคำตอบได้ ย่อมเป็นความยุติธรรมที่จะสอบไล่ตก เพราะจะทำงานเขียนคำคู่ความ คำสั่งงานแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ตลอดจนเขียนคำพิพากษาให้ดีมีสมรรถภาพต่อไปก็คงไม่ได้ ดังนั้น นักศึกษาต้องคิดเสมือนว่าอาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบไม่มีความรู้ในวิชากฎหมาย คือ ต้องเขียนคำตอบในลักษณะเหมือนกับการอธิบายกฎหมายให้แก่ผู้ที่ไม่มีความรู้ กฎหมาย

๓. ต้องตอบโดยใช้ถ้อยคำให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ตรงไปตรงมาให้ผู้ตรวจข้อสอบเข้าใจง่าย อย่าใช้ถ้อยคำกำกวมหรือมีความหมายเป็นสองนัยให้ต้องตีความอีก และพยายามอย่าใช้คำย่อโดยเฉพาะคำย่อที่ไม่เป็นที่นิยมแพร่หลาย เช่น จ. (โจทก์) จ.ล. (จำเลย) แต่ควรเขียนเต็มเสมือนกำลังเขียนคำฟ้องหรือเขียนหนังสือทางราชการอยู่

๔. ต้องตอบคำถามให้ตรงกับลักษณะปัญหา เพราะปัญหาทางกฎหมายนั้นอาจมีได้หลายรูปแบบ กล่าวคือ

(๑) คำถามในทางทฤษฎีที่ให้อธิบายข้อกฎหมาย เช่น อย่างไรเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งนักศึกษาต้องคิดว่าเป็นเรื่องอะไร มีหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบอย่างไร และต้องอธิบายความหมายของแต่ละองค์ประกอบในรายละเอียด ในข้อนี้ผู้เขียนเห็นว่าหากสามารถยกตัวอย่างได้ชัดเจนก็จะเป็นการดียิ่ง

(๒) คำถามในทางทฤษฎีที่ให้อธิบายความแตกต่าง เช่น “จำเป็น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๗ แตกต่างกับ “ป้องกัน” ตามมาตรา ๖๘ อย่างไร ซึ่งนักศึกษาต้องคิดยกเอาองค์ประกอบของเรื่องจำเป็นและเรื่องป้องกันมาแสดง ให้ดูเป็นข้อ ๆ แล้วเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างองค์ประกอบของทั้งสองเรื่อง รวมทั้งหากมีข้อแตกต่างอื่นนอกจากองค์ประกอบก็ให้ยกมาให้ดูด้วย เช่น ผลในทางกฎหมาย “จำเป็น” เป็นความผิดแต่กฎหมายยกให้เป็นเหตุไม่ต้องรับโทษ แต่ “ป้องกัน” ไม่เป็นความผิดในทางกฎหมาย

(๓) คำถามที่ให้ยกอุทาหรณ์มาประกอบ ซึ่งนักศึกษาต้องคิดว่าเป็นเรื่องอะไร มีหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบอย่างไร แล้วอธิบายความหมายขององค์ประกอบโดยสังเขป และต้องยกตัวอย่างข้อเท็จจริงให้ตรงกับองค์ประกอบนั้น ๆ

(๔) คำถามที่ให้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ได้ตั้งขึ้น หรือที่เรียกว่าปัญหาในรูปตุ๊กตา โดยผู้ออกข้อสอบจะตั้งปัญหาแสดงหรือเลียนข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาศาลฎีกา ตั้งแต่ ๑ เรื่องขึ้นไป แล้วถามว่ามีความผิดหรือชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร คำถามอัตนัยในรูปแบบนี้นับเป็นคำถามที่นิยมมากที่สุดในการศึกษาชั้นเนติ บัณฑิต เมื่อเจอคำถามลักษณะนี้นักศึกษาต้องคิดให้ออกว่าเป็นคำถามในเรื่องอะไร มีกฎหมายหรือคำพิพากษาศาลฎีกากำหนดองค์ประกอบหรือวางหลักเกณฑ์ไว้ว่าอย่างไร แล้วอธิบายความหมายขององค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์นั้น ๆ และวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้เข้าองค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์ตามลำดับ โดยนักศึกษาต้องคิดจากเหตุมาหาผล คือ ต้องคิดว่าองค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์มีอยู่อย่างไร แล้วนำข้อเท็จจริงมาปรับเข้ากับองค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์ที่คิดไว้นั้นให้ครบ ถ้วน ซึ่งการเขียนที่ดีควรใช้ถ้อยคำเลียนตัวบทและคำพิพากษาศาลฎีกาอันอาจคล้ายกัน กับการแทนค่าทางคณิตศาสตร์

๕. ควรเขียนคำตอบให้พอเหมาะกับลักษณะของคำถามแต่ละข้อ ไม่ควรจะสั้นหรือยาวเกินไป นักศึกษาควรหัดคิดหัดตอบเสียตั้งแต่ในขณะศึกษา ความชัดเจนเท่านั้นที่จะทำให้ทราบว่าคำถามข้อนั้น ๆ ควรจะตอบมากน้อยเพียงใด และควรเขียนตอบหรือไม่ควรเขียนตอบอะไร เพื่อที่จะได้ไม่กล่าวนอกเรื่องนอกประเด็นของคำถาม

๖. อย่าตอบในสิ่งที่ไม่ได้ถาม นักศึกษาไม่จำต้องแสดงว่าเป็นผู้มีความรู้ดีในเรื่องที่ไม่ได้ถาม เพราะทำให้เสียเวลาในการตอบและการตรวจข้อสอบเกินไป โดยเฉพาะยิ่งตอบความรู้ที่เกินไปผิดพลาดอีก ก็อาจทำให้ผู้ตรวจเห็นว่าผู้ตอบไม่เข้าใจ “ประเด็น” และนักศึกษาอาจถูกตัดคะแนนก็ได้

๗. ควรบันทึกย่อหัวข้อสั้น ๆ ที่จะตอบไว้ในแต่ละข้อ เพื่อเวลาเขียนคำตอบจริงจะได้มีความคิดที่เป็นระเบียบเรียบร้อยและประหยัด เวลาในการตอบ กล่าวคือ ควรตรึกตรองว่าเรื่องใดควรตอบก่อนก็เขียนก่อน อะไรที่ควรกล่าวทีหลังก็เขียนภายหลัง จะช่วยให้เข้าใจง่ายและได้คะแนนดีขึ้น อนึ่ง ต้องเลือกตอบข้อง่ายที่สุดเสียก่อน แล้วค่อยมาตอบข้อที่ยากยิ่งขึ้นตามลำดับ ซึ่งในข้อนี้ผู้เขียนยังเห็นว่า นักศึกษาต้องแบ่งเวลาทำข้อสอบ ๑๐ ข้อ ภายในเวลา ๔ ชั่วโมงให้ดี เพราะเฉลี่ยแล้วเท่ากับมีเวลาทำข้อสอบเพียงข้อละ ๒๔ นาที จึงควรแบ่งเวลาอ่านข้อสอบทุกข้อก่อน แล้วเขียนเป็นหัวข้อหรือหลักกฎหมายที่จะใช้ตอบจริงกำกับแต่ละข้อเอาไว้ และควรทำข้อง่ายที่ทำได้ก่อน เพราะจะใช้เวลาในข้อแรก ๆ น้อยที่สุด แล้วใช้เวลาที่เหลืออีกมากไปทำข้ออื่นที่ยากกว่า ท้ายสุดแม้จะทำไม่ได้เลยก็ต้องพยายามเขียนเพื่อทำข้อสอบให้ครบทุกข้อ เพราะข้อที่ทำได้ดีก็หาใช่ว่าจะได้คะแนนเต็ม ๑๐ คะแนน ข้อที่ทำไม่ได้หากพยายามเขียน ๆ ไปบ้างตามหลักแห่งความเป็นธรรมหรือสามัญสำนึกของวิญญูชน แม้จะได้สัก ๑ - ๒ คะแนนก็ยังดีกว่าได้ ๐ คะแนน

๘. กรณีคำตอบไม่ตรงกับ “ธงคำตอบ” หรือแนวคำตอบของอาจารย์ผู้ตรวจหรือออกข้อสอบ หากนักศึกษาตอบโดยแสดงว่ามีความรู้ มีความคิดเห็นโดยอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ติดอยู่กับทฤษฎีและความเห็นเก่า ๆ ก็คงจะไม่เสียคะแนนมากนัก หากมีหลายทฤษฎีหรือความคิดเห็นนักศึกษาก็ควรแสดงมาทั้งหมด แล้วระบุชัดลงไปว่านักศึกษาสนับสนุนทฤษฎีหรือความคิดเห็นใด เพราะเหตุใด แต่วิธีที่ปลอดภัยที่สุดก็คือ นักศึกษาควรจะทราบทัศนะของอาจารย์ผู้ตรวจก่อนแล้วตอบตามทัศนะของอาจารย์นั้น ๆ ซึ่งในข้อนี้ผู้เขียนเห็นว่าข้อสอบในชั้นเนติบัณฑิตมักเป็นปัญหาตุ๊กตาที่ ออกตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาอย่างน้อย ๑ เรื่องขึ้นไป จึงไม่น่าจะมีปัญหา โดยนักศึกษาควรต้องถือแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นอาจารย์

๙. ต้องระวัง “ความคิดฉับพลัน” ที่เกิดขึ้นใกล้เวลาส่งคำตอบ เพราะมักจะมีความคิดเกิดขึ้นว่าที่ตอบมาแล้วผิดพลาด แล้วนักศึกษามักจะรีบแก้คำตอบในชั่วระยะเวลาอันเล็กน้อยโดยไม่มีเวลา ไตร่ตรองให้ตลอด ซึ่งเท่าที่ปรากฏส่วนมากความคิดฉับพลันเช่นนี้จะทำให้นักศึกษาแก้คำตอบที่ ถูกให้เป็นผิดเสียมากกว่า

๑๐. อย่าเขียนเรื่องส่วนตัวลงในคำตอบ เช่น ขอความกรุณาเพราะได้ตกมา ๕ - ๖ ครั้งแล้ว เพราะอาจารย์บางท่านก็มีใจอุเบกขา แต่บางท่านอาจรู้สึกว่าเป็นการแสดงความไม่เคารพและตัดคะแนนเอาได้

อนึ่ง นอกจากคำแนะนำในการตอบปัญหากฎหมายข้างต้นแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า การฝึกหัดทำข้อสอบเก่าในเวลาช่วงบ่ายโดยให้เวลาข้อละ ๒๔ นาที เท่ากับเวลาที่สอบจริง ก็จะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ตอบข้อสอบจริงได้ดียิ่งขึ้น แม้ข้อสอบเก่ามักจะไม่ได้นำมาออกซ้ำอีก แต่ก็เป็นแนวทางให้เห็นขอบเขตของหลักกฎหมายที่ออกสอบเป็นประจำ สามารถช่วยนักศึกษาให้ฝึกจับประเด็นตามคำถามได้ครบถ้วน ก่อนวันสอบประมาณ ๑ สัปดาห์ ก็ควรทบทวนตัวบทเพื่อฟื้นความจำและทบทวนคำพิพากษาศาลฎีกาสำคัญที่เกี่ยวข้อง กับตัวบทนั้น ข้อสำคัญต้องรักษาสุขภาพร่างกายให้มีความพร้อมจนถึงวันสอบ และก่อนวันสอบ ๑ วัน ผู้เขียนขอเสนอว่าหากทำได้นักศึกษาก็ควรหาที่พักใกล้กับสถานที่สอบเพื่อ ประหยัดเวลาเดินทางมาใช้เตรียมความพร้อมแก่ตนเองให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้เขียนจึงได้นำประสบการณ์ของท่านผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่สอบไล่ได้ลำดับ “ที่ ๑ เนติบัณฑิต” สมัยต่าง ๆ มาเสนอแนะแนวเพิ่มเติมไว้ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ในการตอบข้อสอบ อัตนัยนั้น ท่านอาจารย์ฐานันท์ วรรณโกวิท ได้ให้คำแนะนำว่าต้องฝึกหัดบรรยายแสดงความคิดเห็นในการตอบจากข้อสอบเก่า เพื่อตอบให้ได้ความ สั้นกะทัดรัด ตรงตามคำถาม พอดีกับเวลาที่กำหนดให้ ไม่ต้องลอกคำถาม ถ้อยคำสำนวนควรใช้คำในตัวบท โดยให้วางข้อกฎหมายก่อน แล้วปรับด้วยข้อเท็จจริง เผื่อวินิจฉัยผิดก็ยังได้คะแนนอยู่บ้าง ตอบคำถามตามลำดับ ตอบให้ครบทุกประเด็น แต่ไม่ควรตอบเกิน ๑ หน้ากระดาษ เลขมาตราถ้าไม่แน่ใจก็ไม่ควรใส่ ลายมือก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ได้คะแนนมากหรือน้อย เพราะเป็นสื่อให้ผู้ตรวจทราบถึงเจตนาของผู้ตอบ การเขียนคำตอบจงระลึกไว้เสมอว่า “เขียนมากผิดมาก เขียนน้อยถูกน้อย” (ต้องเขียนให้พอดี) สำหรับเหตุที่ทำให้สอบไม่ผ่านส่วนใหญ่ ได้แก่ การที่ไม่รู้ว่าคำถามนั้นถามถึงเรื่องอะไร ตอบโดยไม่มีหลักกฎหมาย จำตัวบทไม่ได้ อ้างหลักกฎหมายผิด มีแต่ธงคำตอบ ตอบไม่ตรงประเด็น ตอบไม่ครบทุกประเด็น ตอบตามสามัญสำนึก ตอบในเรื่องที่ไม่ได้ถาม ท่องฎีกามาแต่ข้อเท็จจริงผิดไปจึงตอบผิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น