วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

สำคัญผิดในข้อเท็จจริง

สำคัญผิดในข้อเท็จจริง

มาตรา ๖๒
ข้อเท็จจริงไม่มีอยู่จริง
ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง
ผู้กระทำได้กระทำไปเพราะการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงนั้น
ผู้กระกระทำอาจไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง

มาตรา ๖๒ เป็นเรื่องสำคัญผิดในเหตุการณ์ แต่มาตรา ๖๑ เป็นเรื่องสำคัญผิดในตัวบุคคลที่ถูกกระทำ ผลของการสำคัญผิดตามมาตรา ๖๒ ผู้กระทำอาจไม่มีความผิด อาจได้รับยกเว้นโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง แต่การสำคัญผิดตามมาตรา ๖๑ ผู้กระทำไม่พ้นผิด

เมื่อมีการสำคัญผิดในข้อเท็จจริง เราจะปรับด้วยมาตรา ๖๒ ไม่ปรับด้วยมาตรา ๖๑ เช่น มีคนร้ายมาวางเพลิงเผาทรัพย์ เจ้าของบ้านเห็นผู้ตายเดินอยู่ใกล้ๆ ที่เกิดเหตุ เข้าใจว่าเป็นคนร้ายที่มาเผาบ้าน จึงยิงผู้นั้นไป ๑ นัด กรณีนี้หากอ้างความสำคัญผิดตามมาตรา ๖๑ ว่า เป็นการยิงผิดตัว กรณีนี้เจ้าของบ้านยังมีความผิด แต่ถ้าอ้างมาตรา ๖๒ เจ้าของบ้านสำคัญผิดว่าคนที่เดินเป็นคนร้ายมาเผาบ้าน จึงยิงไปเพื่อป้องกัน กรณีนี้เป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริง แม้ความจริงผู้นั้นไม่ได้เป็นคนร้าย แต่เจ้าของบ้านเข้าใจว่าเป็นคนร้าย เจ้าของบ้านก็ได้รับประโยชน์จากมาตรา ๖๒ วรรคแรก

คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๒๙/๒๕๑๗ บ้านของจำเลยถูกลอบวางเพลิง ไฟกำลังไหม้หน้าบ้าน จำเลยออกมาจากบ้านถือปืนออกมาด้วย แสดงว่าจะยิงคนร้าย ครั้นเห็นผู้ตายยืนอยู่ที่หน้าบ้านจำเลยก็สำคัญผิดคิดว่าเป็นคนร้ายที่มาลอบวางเพลิง จำเลยจึงยิงผู้ตาย ถือได้ว่าจำเลยกระทำไปเพื่อป้องกันทรัพย์ของจำเลย แต่ไม่ได้ความว่าผู้ตายกำลังทำอะไรแก่บ้านของจำเลยที่ถูกไฟไหม้ ไม่มีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะต้องยิงผู้ตายจึงเป็นการเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันทรัพย์

การสำคัญผิดในข้อเท็จจริง จะต้องมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ทำให้ผู้กระทำสำคัญผิด จึงลงมือกระทำการเพราะความสำคัญผิดนั้น ถ้าไม่มีเหตุการณ์ใดที่จะทำให้สำคัญผิดได้เลย ผู้กระทำจะอ้างความสำคัญผิดไม่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๑๙/๒๕๓๗ คืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 2 นาฬิกา สุนัขในบ้านจำเลยเห่า จำเลยรู้สึกตัวลุกออกจากบ้านเห็นโจทก์ร่วม สำคัญผิดว่าเป็นคนร้าย

คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๗๑/๒๕๓๘ ผู้เสียหายเข้าไปในโรงเรียนในเวลากลางคืนจำเลยทั้งสองทำร้ายผู้เสียหายโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นคนร้ายจะเข้าไปลักทรัพย์ในโรงเรียน

คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๓๑๔/๒๕๓๖ จำเลยถูก พ.ชกล้มลง ผู้ตายก้มตัวจะดึงจำเลยขึ้น จำเลยสำคัญผิดว่าผู้ตายจะเข้ามาทำร้ายจำเลย จึงใช้มีดแทงผู้ตาย

คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๗๗/๒๕๓๖ ขณะเกิดเหตุเป็นยามวิกาลและหมู่บ้านที่เกิดเหตุมีโจรผู้ร้ายชุกชุม มีเสียงปืนจากทางฝ่ายผู้ตาย ย่อมมีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเข้าใจว่าฝ่ายผู้ตายซึ่งใช้อาวุธปืนยิงก่อนนั้นเป็นคนร้ายและใช้อาวุธปืนยิงใส่จำเลย

คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๗๑๖/๒๕๓๕ โจทก์ร่วมทั้งสองเดินผ่านสวนของจำเลยไปทางหน้าบ้านจำเลยในเวลากลางคืนโดยไม่ได้ร้องบอกว่าเป็นโจทก์ร่วมที่ ๑ กับพวก ขออาศัยเดินผ่าน เป็นเหตุให้จำเลยสำคัญผิดว่าโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นคนร้ายที่เข้ามาลักทรัพย์
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๔๕/๒๕๓๑ จำเลยจูงรถจักรยานยนต์ของบุคคลอื่นซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไว้ไปจากที่จอดรถหน้าสถานีตำรวจ โดยไม่มีเหตุที่จะทำให้สำคัญผิดได้ว่ารถจักรยานยนต์ดังกล่าวเป็นของจำเลย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตามไปทันขณะจำเลยกำลังจูงรถจักรยานยนต์อยู่ จำเลยก็ไม่ได้โต้เถียงว่าเป็นรถจำเลย เจ้าหน้าที่ตำรวจขอดูใบอนุญาตขับขี่และสำเนาทะเบียนรถจำเลยก็ไม่มีแสดง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยนำรถจักรยานยนต์ไปโดยเจตนาทุจริต

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและทำให้เกิดความสำคัญผิดนั้นไม่จำต้องมีอยู่จริง แต่ถ้าหากข้อเท็จจริงนั้นมีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด หรือไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง ผู้กระทำย่อมได้รับประโยชน์จากมาตรา ๖๒ วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๖/๒๕๑๔ (ประชุมใหญ่) ผู้ตายชอบทำตัวเป็นอันธพาล เคยพกปืนติดตัวอยู่เสมอ ทั้งเคยทำท่าจะไล่ยิงจำเลยมาครั้งหนึ่งแล้ว ครั้นคืนเกิดเหตุเมื่อผู้ตายเข้าใจว่าจำเลยแกล้งขว้างผู้ตาย ผู้ตายได้หันหลังกลับเข้าหาจำเลยในท่านั่งยอง ๆ ห่างกัน ๒ วา พร้อมกับเอามือล้วงกระเป๋ากางเกงทำท่าจะล้วงอะไรออกมาและพูดว่า " อ้ายเตี้ยมึงจะเอาอะไรกับกู มึงตาย เสียเถิดอย่าอยู่เลย " แม้ว่าผู้ตายจะไม่มีอาวุธปืน แต่เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลสมควรทำให้จำเลยสำคัญผิดเข้าใจว่าผู้ตายมีอาวุธปืนและกำลังจะยิงทำร้ายจำเลยในระยะห่างกัน ๒ วา อันนับได้ว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัวจำเลย จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิกระทำเพื่อป้องกันตนได้ และการที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตายเพื่อป้องกันตนไป ๑ นัดในทันทีนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ ด้วยความสำคัญผิดในข้อเท็จจริง

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๒ วรรคแรก

การสำคัญผิดในข้อเท็จจริงที่จะได้รับประโยชน์ตามมาตรา ๖๒ วรรคแรก ได้แก่
๑. การสำคัญผิดในข้อเท็จจริงที่ทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด
๒. การสำคัญผิดในข้อเท็จจริงที่ทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ
๓. การสำคัญผิดในข้อเท็จจริงที่ทำให้ผู้กระทำได้รับโทษน้อยลง

การสำคัญผิดในข้อเท็จจริงที่ทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด ได้แก่
๑. สำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่าทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง

คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๗๘/๒๕๓๖ ในคืนเกิดเหตุจำเลยเมาสุรามาก จำเลยจะกลับบ้านพบรถยนต์คันหนึ่งจอดอยู่โดยไม่ได้ล๊อกประตูและเสียบกุญแจคาไว้ จำเลยจึงขับออกไปโดยสำคัญผิดว่ารถยนต์คันนั้นเป็นของจำเลย ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาลักรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์

๒. สำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่ามีภยันตรายที่ใกล้จะถึง

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๓๙/๒๕๑๕ จำเลยได้ยินเสียงคนร้องทางฝั่งคลองตรงข้าม เข้าใจว่ามีเรื่องทะเลาะกัน จึงเดินลุยน้ำข้ามไปดู พอถึงก็ถูกคนตีที่แสกหน้าล้มลง เห็นคนตีวิ่งหนีไปทางทิศเหนือ แล้วมีคนวิ่งมาจากทางทิศเหนืออีก จำเลยเข้าใจว่าเป็นคนร้ายจะเข้ามาทำร้ายจำเลย จึงใช้มีดดาบฟันคนที่วิ่งเข้ามานั้น ๑ ทีถูกศีรษะ กลับปรากฏว่าเป็นนายดินผู้ตายซึ่งเป็นญาติกัน ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง กระทำป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๐๙/๒๕๐๒ แม้จำเลยจะคิดว่าพลตำรวจม้วนเป็นคนร้ายงัดห้องแต่จำเลย ก็มิได้เจตนาจะยิงคนร้าย จำเลยเพียงแต่ยิงเพื่อขู่โดยไม่เห็นตัวและได้ยิงลงต่ำ ไม่ประสงค์ให้ถูกใคร หากแต่เผอิญกระสุนไปถูกไม้คร่าวจึงแฉลบไปถูกพลตำรวจม้วนเข้าถือว่า จำเลยไม่มีเจตนาฆ่าหรือแม้แต่เจตนาจะทำร้ายพลตำรวจม้วนเลย ฎีกานี้เป็นเรื่องมีเจตนายิงขู่เท่านั้น
๓. สำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่าเจ้าของทรัพย์อนุญาตให้เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์และอนุญาตให้ตัดฟันต้นไม้ได้

ข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๖ นายฟ้าเป็นพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปปรับปรุงระบบสายไฟฟ้าบริเวณทางโค้งแห่งหนึ่ง ซึ่งมีต้นไม้กีดขวางแนวทางพาดสายไฟฟ้าอยู่ ๔ ต้นในที่ดินของนายขาว นายฟ้าจึงไปสอบถามนายแดงซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านท้องที่ นายแดงทราบดีว่าต้นไม้เป็นของนายขาว แต่ต้องการแกล้งนายขาว จึงบอกแก่นายฟ้าว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของมารดานายแดง และมารดานายแดงอนุญาตให้ตัดต้นไม้ได้ นายฟ้าเชื่อเช่นนั้นจึงไปจ้างนายเขียวมาตัดต้นไม้ นายเขียวตัดฟันต้นไม้ทั้ง ๔ ตน โดยรู้ว่าเป็นของนายขาวและรู้ว่านายขาวไม่ได้อนุญาตให้ตัดฟันต้นไม้แต่อยากได้ค่าจ้าง ให้วินิจฉัยว่า นายเขียว นายฟ้า นายแดง มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด

คำตอบ นายเขียวเข้าไปตัดฟันต้นไม้ในที่ดินของนายขาวโดยรู้ว่านายขาวมิได้อนุญาตให้ตัดและไม่ยินยอมให้นายเขียวเข้าไปตัดต้นไม้ เป็นการทำให้ต้นไม้ของนายขาวเสียหาย แสดงว่านายเขียวมีเจตนาทำให้เสียทรัพย์ และมีเจตนาที่จะเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของนายขาวโดยปกติสุข การกระทำของนายเขียวจึงเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๘ และฐานบุกรุกตามมาตรา ๓๖๒ อีกบทหนึ่งด้วย

นายฟ้า เชื่อตามที่นายแดงบอกว่าที่ดินเป็นของมารดานายแดงและมารดานายแดงอนุญาตให้เข้าไปตัดฟันต้นไม้ได้ จึงว่าจ้างนายเขียวเข้าไปตัดฟันต้นไม้ทั้ง ๔ ต้น ถือว่านายฟ้ากระทำไปโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่าเจ้าของที่ดินและต้นไม้อนุญาตให้เข้าไปในที่ดินและตัดฟันต้นไม้ได้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงดังกล่าวมีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะไม่มีอยู่จริง แต่นายฟ้าสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง นายฟ้าย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา ๖๒ วรรคแรก

นายแดง ทราบว่าที่ดินและต้นไม้เป็นของนายขาวแต่ต้องการแกล้งนายขาว จึงบอกแก่นายฟ้าว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของมารดาตนและมารดาอนุญาตให้ตัดฟันต้นไม้ได้นั้น แม้ถือไม่ได้ว่านายแดงเป็นผู้ใช้ให้นายฟ้ากระทำความผิดตามมาตรา ๘๔ เพราะการกระทำของนายฟ้าไม่เป็นความผิดก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่านายฟ้าจ้างนายเขียวให้ตัดฟันต้นไม้ทั้ง ๔ ต้น และนายเขียวได้กระทำผิดโดยรู้ว่านายขาวเจ้าของที่ดินไม่ได้อนุญาตให้เข้าไปในที่ดินและไม่ได้อนุญาตให้ตัดฟันต้นไม้ ย่อมถือได้ว่านายแดงเป็นผู้ก่อให้นายเขียวกระทำความผิดด้วยวิธีอื่นใด จึงเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด เมื่อนายเขียวไปกระทำความผิดตามที่ใช้ นายแดงจึงต้องรับโทษเสมือนหนึ่งเป็นตัวการ นายแดงมีความผิดตามมาตรา ๓๕๘, ๓๖๒ ประกอบด้วยมาตรา ๘๔ ( เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๖๗๗/๒๕๔๐ )

๔. ความสำคัญผิดเรื่องอายุของผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับเพศ

คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๙๘/๒๕๔๐ พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบน่าเชื่อว่าจำเลยไม่ทราบว่าผู้เสียหายอายุไม่เกิน ๑๕ ปี ข้อเท็จจริงจึงไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยรู้อยู่แล้วว่าผู้เสียหายมีอายุไม่เกิน ๑๕ ปี เป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๖๒ วรรคหนึ่ง จำเลยไม่มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว

คดีนี้ จากคำเบิกความของพนักงานสอบสวนที่ว่า ผู้เสียหายมีรูปร่างสูงใหญ่ และผู้เสียหายก็เบิกความว่าหลังเกิดเหตุได้มีการผูกข้อมือเป็นสามีภริยากับจำเลย แสดงว่าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าผู้เสียหายมีสภาพร่างกายเจริญเติบโตพร้อมที่จะเป็นภริยาจำเลยได้แล้ว และจำเลยอยู่กินกับผู้เสียหายอย่างสามีภริยา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้จำเลยสำคัญผิดได้

การสำคัญผิดที่ทำให้ไม่ต้องรับโทษ เช่น แดงลักสร้อยคอทองคำของมารดาไปโดยเข้าใจว่าเป็นสร้อยคอของนางดำภริยา กรณีนี้ แม้สร้อยคอจะไม่ใช่ของภริยา แต่นายแดงสำคัญผิดว่าเป็นสร้อยคอของภริยา นายแดงไม่ต้องรับโทษตามมาตรา ๖๒ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๗๑ วรรคแรก

การสำคัญผิดที่ทำให้รับโทษน้อยลง เช่น แดงถูกดำทำร้าย แดงโกรธจึงวิ่งไล่จะทำร้ายดำ แดงไปพบขาวสำคัญผิดว่าขาวเป็นดำที่ทำร้ายตน แดงจึงทำร้ายขาว กรณีนี้แดงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายขาวตามมาตรา ๒๙๕, ๗๒ โดยสำคัญผิดข้อเท็จจริงตามมาตรา ๗๒

การสำคัญผิดข้อเท็จจริงอาจเป็นการกระทำโดยประมาทได้

มาตรา ๖๒ วรรคสาม ถ้าความสำคัญผิดเกิดขึ้นโดยความประมาท ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาทด้วย จะต้องมีข้อเท็จจริงให้เห็นว่าผู้กระทำมีความประมาทหรือไม่
กรณีที่มีการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงแม้จะมีผลให้ผู้กระทำไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง เป็นข้อยกเว้นให้สำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยเจตนาเท่านั้น การสำคัญผิดในข้อเท็จจริงถ้ากระทำโดยไม่ระมัดระวังในการพิจารณาข้อเท็จจริงให้ดี เป็นการกระทำโดยประมาท เพราะไม่ดูข้อเท็จจริงให้ดี ถ้าดูให้ดีก็จะไม่สำคัญผิด กรณีเช่นนี้หากเกิดผลที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาท ผู้กระทำจะไม่ได้รับยกเว้นความผิด หรือยกเว้นโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง

คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๗๒/๒๕๑๐ (ประชุมใหญ่) จำเลยใช้ปืนยิงเด็กซึ่งส่องไฟหากบที่ริมรั้วบ้านจำเลยถึงแก่ความตาย โดยจำเลยสำคัญผิดว่าเป็นคนร้ายจะมาฆ่าพี่จำเลย เป็นการป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๖๙

จำเลยยิงคนตายโดยสำคัญผิดว่าเป็นคนร้าย เป็นการกระทำโดยเจตนา แต่เป็นการป้องกันซึ่งเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน จึงเป็นความผิดตามมาตรา ๒๘๘, ๖๙
และความสำคัญผิดนั้นก็เกิดโดยความประมาทของจำเลย เช่นนี้ จำเลยย่อมผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาทโดยผลของมาตรา ๖๒ วรรคสอง ด้วย กรณีเช่นนี้เป็นเรื่องกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท
จึงต้องลงโทษในเรื่องฆ่าโดยป้องกันเกินกว่ากรณี อันเป็นบทหนักตามมาตรา ๙๐ แต่ถ้าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุซึ่งไม่เป็นความผิดก็คงเหลือเพียงความผิดในส่วนที่สำคัญผิดโดยประมาทตามมาตรา ๖๒ วรรคสอง คือความผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาทตามมาตรา ๒๙๑ ฐานเดียว

คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๑/๒๕๑๒ สามีนอนอยู่ชั้นบนของเรือน ภริยานอนอยู่ชั้นล่างต่างคนก็หลับไปแล้ว ต่อมาสุนัขเห่า ภริยาจึงตื่นไปแอบฝาห้องดูคนร้ายที่ห้องนอนของสามี สามีตื่นภายหลังมองเห็นคนอยู่ที่ฝาห้องตะคุ่มๆ เข้าใจว่าเป็นคนร้ายเพราะมืด จึงหยิบมีดฟันไป ๑ ที ภริยาถึงแก่ความตาย ดังนี้ ถือว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง สามีมีสิทธิป้องกันได้โดยไม่ต้องพูดจาไต่ถาม หรือรอให้ผู้นั้นแสดงกิริยาว่าจะเข้ามาประทุษร้ายก่อน และสามีไม่รู้ว่าคนที่เข้าใจว่าเป็นคนร้ายจะมีอาวุธร้ายแรงหรือไม่สามีฟันไปทีเดียว ถือได้ว่ากระทำไปพอสมควรแก่เหตุ และยังไม่พอถือว่าการกระทำของสามีเกิดขึ้นด้วยความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงโดยประมาทตามมาตรา ๖๒ วรรคสอง

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๓๙/๒๕๑๕ จำเลยได้ยินเสียงคนร้องทางฝั่งคลองตรงข้าม เข้าใจว่ามีเรื่องทะเลาะกันจึงเดินลุยน้ำข้ามไปดู พอถึงก็ถูกคนตีที่แสกหน้าล้มลง เห็นคนตีวิ่งหนีไปทางทิศเหนือ แล้วมีคนวิ่งมาจากทางทิศเหนืออีก ซึ่งจำเลยเข้าใจว่าเป็นคนร้ายจะเข้ามาทำร้ายจำเลย จำเลยจึงใช้มีดดาบฟันคนที่วิ่งเข้ามานั้น ๑ ทีถูกศีรษะ กลับปรากฏว่าเป็นนายดินผู้ตายซึ่งเป็นญาติกัน ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง กระทำป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ และไม่ปรากฏว่าความสำคัญผิดนี้เกิดขึ้นจากความประมาทของจำเลย จำเลยไม่มีความผิด

หมายเหตุ ตามคำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้ภยันตรายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บุคคลที่อยู่ในภาวะ วิสัย และพฤติการณ์เช่นเดียวกับจำเลยย่อมไม่อาจใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาข้อเท็จจริงให้ดีกว่านี้ได้ จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาท

คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๑๓/๒๕๓๔ จำเลยสำคัญผิดว่าคนที่มาเคาะประตูห้องพักเป็นสามีเก่าของผู้ตายจะมาทำร้ายจำเลย แต่กลับเป็นผู้ตาย ข้อเท็จจริงนั้นก็ไม่มีอยู่จริง ตาม ป.อ. มาตรา ๖๒ วรรคแรก ซึ่งตามกฎหมายกรณีดังกล่าวจำเลยมีสิทธิป้องกันได้ แต่สำหรับคดีนี้ปรากฏว่าประตูห้องเกิดเหตุมีโซ่คล้องอยู่สามารถเปิดได้ประมาณ ๑ คืบ การที่จำเลยใช้ปืนยิงออกไปจึงเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องทำเพื่อป้องกันตามมาตรา ๖๙

เหตุเกิดในแฟลตซึ่งมีคนเช่าอยู่จำนวนมาก และผู้ตายซึ่งมาเคาะประตูก็อยู่บนทางเดินระหว่างกลางห้องพัก ทั้งขณะเกิดเหตุไฟฟ้าระหว่างทางเดินก็เปิดแล้ว จำเลยซึ่งอยู่ในห้องสามารถมองออกไปทางหน้าห้องได้ชัดเจน ประตูห้องเกิดเหตุมีโซ่คล้องอยู่ การที่จำเลยยิงผู้ตายจึงเกิดขึ้นด้วยความประมาทตาม มาตรา ๖๒ วรรคสอง ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น