วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความรู้เกี่ยวกับรัฐ

ความหมายของรัฐ ชาติ ประเทศ
รัฐหมายถึง ชุมชนทางการเมืองของมนุษย์ อันประกอบด้วยดินแดนที่มีขอบเขตแน่นอน มีประชากรอาศัยอยู่ในจำนวนที่เหมาะสม โดยมีรัฐบาลปกครองและมีอำนาจอธิปไตยของตัวเอง
ชาติหมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางวัฒนธรรม และมีความผูกพันกันในทางสายโลหิต เผ่าพันธุ์ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ตลอดจนมีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน หรือมีวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองร่วมกัน เช่นคำว่า ชาติไทย
ประเทศความหมายกว้าง หมายรวมถึงดินแดนที่มีฐานะเป็นรัฐหรือไม่มีฐานะเป็นรัฐ แต่โดยสรุปแล้ว คำว่า ประเทศตามกฎหมายระหว่างประเทศ หมายถึง ดินแดน อาณาเขต และสภาพภูมิศาสตร์ เป็นต้นว่า ความอุดมสมบูรณ์ ดินฟ้าอากาศ แม่น้ำภูเขา ทะเล ป่าไม้ ฯลฯ เช่น ประเทศไทย ประเทศสหรัฐอเมริกา

องค์ประกอบของรัฐ
1. ประชากร (Population) หมายถึง มนุษย์ทุกคนที่อยู่ในอาณาเขตของรัฐถือว่ามีฐานะเป็นส่วนของรัฐโดยอัตโนมัติสิ่งที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับประชากรก็คือ
1) จำนวนประชากรแต่ละรัฐมีประชากรจำนวนเท่าใด ไม่มีการกำหนดที่แน่นอนแต่ควรจะมีมากพอที่จะกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครองได้
2) ลักษณะของประชากร หมายถึง ลักษณะทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เพราะมีหลายรัฐที่ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติภาษา และวัฒนธรรม
3) คุณภาพของประชากร ขึ้นอยู่กับการศึกษา สุขภาพ อนามัย ทัศนคติ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการพัฒนาทุกรูปแบบ
2. ดินแดน (Territory) มีข้อสังเกตดังนี้คือ
     1)ที่ตั้ง ดินแดนของรัฐหมายถึง อาณาเขตพื้นดิน น่านน้ำ อาณาเขตในท้องทะเล น่านฟ้า บริเวณใต้พื้นดิน พื้นน้ำและพื้นทะเล
     2) ขนาดของดินแดนไม่มีหลักเกณฑ์ไว้แน่นอนตายตัวว่าจะต้องมีขนาดเท่าใดจึงจะถือว่าเป็นรัฐ แต่ควรจะมีความเหมาะสมกับจำนวนประชากรด้วย
3. รัฐบาล (Government) คือ องค์กร หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปกครองและบริหารภายในโดยเป็นผู้กำหนดนโยบายและนำนโยบายไปปฏิบัติ เพื่อจัดระเบียบทางสังคม และดำเนินทุกอย่างเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ รัฐบาลจึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองรัฐ
4. อำนาจอธิปไตย (Sovereignty) เป็นองค์ประกอบประการสุดท้ายที่สำคัญของรัฐ อำนาจอธิปไตย คือ อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ อำนาจอธิปไตยมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ อำนาจอธิปไตยภายใน (Internal Sovereignty) หมายถึง การที่มีอำนาจที่จะปกครองตนเองและมีอำนาจสูงสุดที่จะดำเนินการ ใด ๆ ในประเทศอย่างมีอิสระ ปราศจากการควบคุมจากรัฐอื่น อำนาจอธิปไตยภายนอก (External Sovereignty) หมายถึง การมีอิสระ มีเอกราชสามารถจะดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ หรือกล่าวกันอีกอย่างหนึ่งว่าเอกราชก็คืออำนาจอธิปไตยภายนอกนั่นเอง
องค์ประกอบของรัฐทั้ง 4 ประการนี้ มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ถ้ารัฐใดขาดองค์ประกอบในข้อใดข้อหนึ่ง แม้เพียงองค์ประกอบเดียวก็ตาม ถือว่าขาดคุณสมบัติของความเป็นรัฐโดยสิ้นเชิง

จุดประสงค์ของรัฐ
1. สร้างความเป็นระเบียบ
2. การส่งเสริมสวัสดิภาพแก่ประชาชน
3. การส่งเสริมสวัสดิการแก่ส่วนรวม
4. การส่งเสริมคุณธรรม

หน้าที่ของรัฐหน้าที่ของรัฐแล้วมีอยู่ 4 ประการ คือ
1. การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน
2. การให้บริการและสวัสดิการทางสังคม
3. การพัฒนาประเทศ
4. การป้องกันการรุกรานจากภายนอก

รูปแบบของรัฐ (Forms of State)
1. รัฐเดี่ยว (Unitary State) คือ รัฐที่มีรัฐบาลกลางเป็นผู้มีอำนาจปกครอง และอำนาจบริหารสูงสุดเพียงองค์กรเดียว รัฐบาลกลางเป็นผู้ที่ใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อำนาจคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
รัฐบาลเป็นองค์กรกลางองค์กรเดียวของรัฐที่ปกครองประชาชนได้โดยตลอด รวมถึงการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศด้วย ตัวอย่างรัฐเดี่ยว ได้แก่ อังกฤษ ญี่ปุ่น และไทย เป็นต้น

ขอสังเกตลักษณะของรัฐเดี่ยว
1.1 ตองมีรูปลักษณะการปกครองที่มีกฎหมาย ระเบียบแบบแผน เปนแบบอยางเดียวกันทั้งประเทศ
1.2 มีอาณาเขตไมกวางขวางเทาใดนัก
1.3 รัฐบาลกลางรวมอํานาจไวที่สวนกลางแหงเดียว
1.4 ประชาชนในรัฐจะมีเชื้อชาติ ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม เปนแบบอยางเดียวกัน
1.5 ตัวอยางประเทศที่มีลักษณะเปนรัฐเดียว ไดแก ญี่ปุน อังกฤษ ฝรั่งเศส นอรเวย สวีเดน เดนมารก ฟลิปปนส อินโดนีเซีย ฯลฯ


2. รัฐรวม (Composit State) ได้แก่ การรวมตัวกันของรัฐ ตั้งแต่ 2 รัฐขึ้นไป โดยมีรัฐบาลเดียวกันซึ่งแต่ละรัฐยังคงมีสภาพเป็นรัฐอยู่เช่นเดิมแต่การใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐที่มารวมกัน อาจถูกจำกัดลงไปตามข้อตกลงที่ทำขึ้น

ขอสังเกตลักษณะของรัฐรวม
2.1 มีรัฐบาล2 ระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลสวนทองถิ่น
2.2 สวนใหญจะมีอาณาเขตกวางขวาง
2.3 รัฐบาลกลางจะไมมีเอกภาพในการบริหารเพราะรัฐบาลสวนทองถิ่นจะวางนโยบายปกครองตนเอง
2.4 ประชาชนจะมีหลายเชื้อชาติและหลายวัฒนธรรมมาอยูรวมกัน
2.5 ชื่อประเทศมักจะขึ้นตนดวยคําวาสหรัฐ สหภาพ สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ

รัฐรวมมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกันคือ
1) สหพันธรัฐ (Federal State) สหพันธรัฐ คือ รัฐที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันระหว่างรัฐต่าง ๆ ตั้งแต่ 2 รัฐขึ้นไปโดยใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับเดียวกันร่วมกันและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเหล่านั้นเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น ๆ รูปแบบการปกครองแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ มีรัฐบาลกลางของสหพันธรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นเป็นของแต่ละรัฐซึ่งเรียกกันว่า มลรัฐตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย มาเลเซีย 2) สมาพันธรัฐ (Confederation State) สมาพันธรัฐเป็นการรวมตัวกัน ระหว่าง 2 รัฐขึ้นไป โดยไม่มีรัฐธรรมนูญ หรือรัฐบาลร่วมกัน แต่เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆเพื่อจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการชั่วคราวและเป็นบางกรณีเท่านั้น เช่นการเป็นพันธมิตรกันเพื่อทำสงครามร่วมกัน เป็นต้น ในปัจจุบันนี้รูปแบบของรัฐแบบสมาพันธรัฐไม่มีอีกแล้ว แต่จะกลายเป็นลักษณะของการรวมตัวกันในรูปขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การนาโต้ องค์การอาเซียน เป็นต้น
       นิติศาสตร์

1.) ความหมายของนิติศาสตร์


          คำว่า นิติ ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ขนบธรรมเนียม แบบแผน แต่ในระยะหลังวงการกฎหมายไทยเข้าใจว่า นิติ หรือ เนติ แปลว่า กฎหมาย แต่ตามศัพท์ดั้งเดิมของอินเดียแท้ๆ นิติ แปลว่า ขนบธรรมเนียม เช่น ราชนิติ โลกนิติ ในอินเดียคำว่า นิติศาสตร์จึงหมายถึง วิชาเกี่ยวกับราชนิติประเพณี เป็นความรู้ที่ราชปุโรหิตจะต้องรู้เพราะปุโรหิตเป็นที่ปรึกษาราชการ   แผ่นดิน
           คำว่านิติศาสตร์ตามความหมายของอินเดียจึงมีความหมายใกล้กับ รัฐศาสตร์ ในภาษาไทยปัจจุบัน เพราะฉะนั้นผู้รู้ทางนิติศาสตร์ของอินเดียจึงหมายถึงผู้ทรงปัญญาที่จะให้คำแนะนำเรื่องกิจการบ้านเมือง คำที่หมายถึงกฎหมายแท้ๆ ไทยเราแต่เดิมมาเรียกว่า ธรรมะ เช่น กฎหมายดั้งเดิมของไทยเราเรียกว่า พระธรรมศาสตร์ มิได้เรียกว่า พระนิติศาสตร์คำว่า พระธรรมศาสตร์ เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ในความคิดของคนไทยสมัยก่อน
           อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึง
นิติศาสตร์Ž ในปัจจุบันหมายถึง วิชาที่ศึกษาเรื่องกฎหมายŽ กฎหมายนั้นมีอุดมคติที่สำคัญซึ่งเป็นจิตวิญญาณของกฎหมาย 3 ประการ คือ ความยุติธรรม ความสงบเรียบร้อยของสังคม และความมีประโยชน์สมประสงค์

2.) บ่อเกิดของกฎหมาย
          กฎหมายมีบ่อเกิด 2 ประเภท คือ กฎหมายที่บัญญัติขึ้น เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา เป็นต้น และกฎหมายที่มิได้บัญญัติขึ้น ได้แก่ กฎหมายประเพณี  หลักกฎหมายทั่วไป และคำพิพากษาของศาล

ก. กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร           หมายถึง กฎหมายที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนิติบัญญัติ หรือ กฎหมายลายลักษณ์อักษรที่เป็นบทมาตรา ซึ่งผู้มีอำนาจในการบัญญัติมี 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และ องค์การอิสระ
          (1) กฎหมายนิติบัญญัติ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ได้แก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ซึ่งเป็น กฎหมายแท้ เพราะออกมาโดยฝ่ายที่มีหน้าที่บัญญัติกฎหมายโดยตรง
           ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 169-178 ร่างพระราชบัญญัตินั้นจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาได้โดยคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต้องมีมติพรรคที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้สังกัดให้เสนอและต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคนั้นรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน และถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจะต้องได้คำรับรองจากนายกรัฐมนตรี โดยเบื้องต้นจะให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อน เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้วจึงเสนอให้สมาชิกวุฒิสภาพิจารณา ถ้าสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบ ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วจึงมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย
          (2) กฎหมายบริหารบัญญัติ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งตามระบบกฎหมายไทยกฎหมายบริหารบัญญัติแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ พระราชกำหนด และ กฎหมายลำดับรอง
  "พระราชกำหนด" (พ.ร.ก.) คือ กฎหมายที่ฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีได้รับอำนาจจากรัฐธรรมนูญให้ตรากฎหมายแทนฝ่ายนิติบัญญัติ ในกรณีมีเหตุจำเป็นบางประการ พระราช-กำหนดจึงมีค่าบังคับเท่ากับพระราชบัญญัติ และอาจแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกพระราชบัญญัติได้ แต่ทั้งนี้ฝ่ายบริหารจะตราพระราชกำหนดได้เฉพาะกรณีพิเศษที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น
  "กฎหมายลำดับรอง" เป็นกฎหมายที่ฝ่ายบริหารได้รับมอบอำนาจจากฝ่ายนิติบัญญัติให้ตราบทบัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในรายละเอียดที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติภายใต้หลักการที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้ โดยฝ่ายบริหารจะตรากฎหมาย  ลำดับรองให้ขัดแย้งกับกฎหมายแม่บทคือพระราชบัญญัติไม่ได้ กฎหมายลำดับรองนั้นมีดังต่อไปนี้ คือ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง และ ข้อบังคับต่างๆ
          (3) กฎหมายองค์การบัญญัติ เป็นกฎหมายซึ่งออกโดยองค์การมหาชนที่มีอำนาจอิสระ กล่าวคือ มีอำนาจปกครองตนเองภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ องค์การปกครองตนเองในปัจจุบันนี้ได้แก่ เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา องค์การปกครองตนเองเหล่านี้ต่างมีอำนาจออกกฎหมายบังคับแก่ราษฎรที่อาศัยอยู่ในอาณาเขตปกครองของตนได้ภายในขอบเขต ที่พระราชบัญญัติก่อตั้งองค์การเหล่านั้นกำหนดไว้  นอกจากนี้ยังมีองค์การมหาชนอิสระอื่นอีกที่มีอำนาจออกข้อบังคับ ที่เป็นกฎหมายได้ เช่น มหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นต้น

ลำดับชั้นของกฎหมายลายลักษณ์อักษร
            (1) กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดเป็นแม่บทของกฎหมายทั้งหลาย ดังนั้นกฎหมายทุกประเภทจะออกมาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้
            (2)  พระราชบัญญัติ  เป็นกฎหมายที่มีลำดับชั้นรองจากรัฐธรรมนูญเพราะเป็นกฎหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจของรัฐธรรมนูญโดยตรง
            (3) พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายบริหารเพื่อใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการหรือกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการหรือเงื่อนไขในการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ
            (4) กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ออกโดยอาศัยแม่บทคือ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดเพื่อบัญญัติเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ของกฎหมายแม่บท โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ในการบังคับการหรือปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้กฎกระทรวงจะขัดกับกฎหมายแม่บทไม่ได้ 
           (5) กฎหมายองค์การบัญญัติ  ได้แก่ ข้อบัญญัติท้องถิ่นต่างๆ เช่น เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อบังคับสุขาภิบาล เป็นต้น

ข. กฎหมายที่มิได้บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร   
             ในทางวิชานิติศาสตร์ยอมรับว่า นอกจากกฎหมายที่บัญญัติขึ้นแล้ว ยังมีกฎเกณฑ์แบบแผนความประพฤติของคนในสังคมบางอย่างที่มิได้บัญญัติขึ้น แต่มีผลบังคับเป็นกฎหมาย   ได้นั่นคือ กฎหมายประเพณี นอกจากนี้กฎหมายที่มิได้บัญญัติยังมีอีก 2 ประการ คือ หลักกฎหมายทั่วไป และคำพิพากษาของศาล

      กฎหมายประเพณี      จารีตประเพณีที่มีลักษณะเป็นกฎหมายประเพณีจะต้องมีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ

          (1) เป็นจารีตประเพณีที่ประชาชนได้ปฏิบัติกันมานานและสม่ำเสมอ
          (2) ประชาชนมีความรู้สึกว่าจารีตประเพณีเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและต้องปฏิบัติตาม
ส่วนจารีตประเพณีใดที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ทั้งสองประการนี้จึงไม่ได้ชื่อว่า เป็นกฎหมายประเพณี  เหตุที่ต้องมีกฎหมายประเพณีเพราะว่าการดำเนินชีวิตของคนในสังคมสลับซับซ้อนเกินกว่าสติปัญญาของมนุษย์จะเขียนเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรให้ครอบคลุมครบถ้วนได้ ในบางกรณีจึงต้องใช้จารีตประเพณีมาประกอบการพิจารณา

      หลักกฎหมายทั่วไป
         หลักกฎหมายทั่วไป หมายถึง หลักกฎหมายที่มีอยู่ในระบบกฎหมายของประเทศนั้นโดยค้นหาได้จากกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรของประเทศนั้นเอง เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งหรือกฎหมายลายลักษณ์อักษรอื่นที่มีหลักใหญ่พอที่จะทำให้เป็นหลักอ้างอิง สำหรับนำมาปรับแก่คดี โดยจะใช้ในคดีที่ไม่มีจารีตประเพณี เป็นต้น เป็นหลักในการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 4 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป"

      คำพิพากษาของศาล         คำพิพากษาของศาลตาม Civil Law อันเป็นระบบกฎหมายภาคพื้นยุโรปและเอเชีย ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน ญี่ปุ่น เกาหลี และไทย ถือว่าคำพิพากษาโดยทั่วไปไม่ใช่บ่อเกิดของกฎหมาย นอกจากคำพิพากษานั้นจะเป็นคำพิพากษาบรรทัดฐานคือเป็นคำพิพากษาตัวอย่างที่คนปฏิบัติตาม เป็นคำพิพากษาที่ดีไม่มีคำพิพากษาอื่นมาคัดค้านหรือโต้แย้ง  มีคนรู้จักกันทั่วไป แล้วก็ปฏิบัติตามกันมานาน

3.) หมวดหมู่ของกฎหมาย          ในปัจจุบันสามารถจัดหมวดหมู่กฎหมายออกเป็น 4 หมวดด้วยกัน คือ กฎหมายมหาชน กฎหมายเอกชน กฎหมายสังคม และกฎหมายเศรษฐกิจ
           กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยอำนาจสูงสุดในการปกครอง อันประกอบด้วย รัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
           กฎหมายเอกชน ได้แก่ กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ และกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
          (1) กฎหมายแพ่ง  เป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนในเรื่องบุคคล หนี้ ทรัพย์สินครอบครัว และมรดก
          (2) กฎหมายพาณิชย์ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ เช่น หุ้นส่วน บริษัท ประกันภัย ตั๋วเงิน กฎหมายทะเล เป็นต้น ในประเทศไทยทั้งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์รวมอยู่ในประมวลกฎหมายฉบับเดียวกันในชื่อว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          (3) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนแต่เอกชนนั้นมีสัญชาติต่างกัน
           กฎหมายสังคม เป็นกฎหมายที่มีลักษณะความเกี่ยวกันระหว่างกฎหมายเอกชนและมหาชน เช่น กฎหมายแรงงาน กฎหมายประกันสังคม เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อความสงบสุขและความเป็นธรรมในสังคม
           กฎหมายเศรษฐกิจ หมายถึง บทบัญญัติที่บัญญัติถึงกิจการทางเศรษฐกิจ เพื่อที่จะควบคุมชี้แนวทาง ส่งเสริม หรือจำกัดการกระทำหรือกิจการทางเศรษฐกิจ

4.) การใช้กฎหมาย
           การใช้กฎหมาย คือ การนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีมาปรับกับตัวกฎหมายและวินิจฉัยชี้ขาดว่า ข้อเท็จจริงนั้นมีผลทางกฎหมายอย่างไร  ข้อเท็จจริงในคดีสำหรับการพิจารณาของศาลคือบรรดาเรื่องราวอันเป็นประเด็นข้อพิพาทและรายละเอียดในสำนวนคดี ซึ่งศาลได้สรุปจากพยานหลักฐานต่างๆ ที่คู่ความได้กล่าวอ้างในกระบวนการพิจารณาและศาลรับฟังเป็นที่ยุติว่า  เป็นเช่นนั้น เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วจึงนำข้อเท็จจริงมาปรับกับตัวบทกฎหมายเรียกว่า เป็นการใช้ กฎหมายหรือเรียกว่า การปรับบท นั่นเอง โดยสามารถสรุปขั้นตอนการใช้กฎหมายได้ดังนี้

         (1) ตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงในคดีว่าเกิดขึ้นจริงดังข้อกล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิสูจน์ด้วยพยานหลักฐานต่างๆ
         (2) เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วจะต้องค้นหากฎหมายที่ตรงกับข้อเท็จจริงนั้นมาปรับบท
         (3) วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงในคดีนั้นปรับได้กับข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบในบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่
         (4) ถ้าปรับได้ให้ชี้ว่ามีผลต่อกฎหมายอย่างไร หากกฎหมายกำหนดผลทางกฎหมายไว้หลายอย่างให้เลือก ผู้ใช้กฎหมายจะต้องใช้ดุลพินิจตัดสินใจเลือกผลทางกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งให้เหมาะสมกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

      ลำดับการใช้กฎหมาย          ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 กำหนดให้ใช้กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน เมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายลายลักษณ์อักษรมาปรับใช้กับคดีได้จึง    ให้นำจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้ หากไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาปรับใช้ได้ ก็ให้นำเอาบทบัญญัติกฎหมายลายลักษณ์อักษรมาปรับใช้อีกครั้งหนึ่งในฐานะที่เป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หากไม่สามารถทำได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรมอีก ก็ต้องนำหลักกฎหมาย ทั่วไปมาปรับใช้เป็นขั้นสุดท้าย