วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554

หลักการเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย

หลักการเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย

การเขียนตอบให้ได้คะแนนดีไม่ใช่เพียงแต่ตอบถูกธงคำตอบเท่านั้นการที่อาจารย์ผู้ตรวจจะให้คะแนนเต็มหรือเปล่าขึ้นอยู่กับการจับประเด็น การเรียงลำดับข้อเท็จจริงที่จะนำมาปรับกับหลักกฎหมาย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการวินิจฉัยนั่นเอง ข้อสอบกฎหมายมีหลายลักษณะอีกทั้งรูปแบบการเขียนก็จะแตกต่างกันไปตามระดับการศึกษาและเวลาในการทำข้อสอบด้วย


แต่กรณีต่อไปนี้จะเป็นการให้เทคนิคการเขียนตอบข้อสอบในระดับปริญญาตรีซึ่งเหมาะสำหรับนิสิตปี 1 หรือนิสิตกฎหมายที่ยังอ่อนประสบการณ์ในด้านการเขียนซึ่งการเขียนตอบก็จะเป็นในลักษณะที่เรียกว่า การตอบแบบสามส่วน คือมีหลักกฎหมาย การวินิจฉัย และสรุป กล่าวคือ


ข้อสอบแบบตุ๊กตาหรือแบบอุทาหรณ์


ส่วนที่ 1 หลักกฎหมาย


ประมวลกฎหมาย................มาตรา .......................................(กรณีท่องจำตัวบทได้แม่นยำทุกตัวอักษร) หรือ

ประมวลกฎหมาย................วางหลักว่า..................................................(กรณีจำแค่หลักตัวบทในมาตรานั้นหรือยกมาใช้เฉพาะหลัก/วรรคที่เกี่ยวข้อง)


ส่วนที่ 2 วินิจฉัย


กรณีตามปัญหาวินิจฉัยได้ว่า........................................................

(เป็นการปรับบทคือ ปรับหลักกฎหมายในส่วนที่ 1 ให้เข้ากับข้อเท็จจริงที่โจทย์ให้มา
การวินิจฉัยนั้นเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นการวัดความเข้าใจของผู้เขียนได้ดีว่านอกจากจะจำตัวบทได้แล้วยังสามารถนำหลักกฎหมายนั้นมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย แต่มันก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยากสำหรับคนที่เข้าใจแต่ถ่ายทอดออกมาไม่เป็น ซึ่งคนประเภทนี้ต้องฝึกเขียนและฝึกพูดให้เพื่อนหรืออาจารย์ช่วยทดสอบบ่อย ๆ หรือก็คือ หัดมีน้ำใจช่วยติวให้เพื่อน ๆ บ่อย ๆ ก็จะสามารถเป็นนักกฎหมายที่มีการถ่ายทอดเป็นเลิศได้ แถบยังได้ทบททวนความรู้ตัวเองและช่วยเหลือเพื่อนๆ ได้ดีอีกด้วย)


ส่วนที่ 3 สรุป

ดังนั้น.....................................................................


(เป็นการตอบคำถามตามที่ถาม เช่น คำถามถามว่านิติกรรมนี้มีผลทางกฎหมายอย่างไร ก็ตอบไปว่า นิติกรรมนี้เป็นโมฆะ เท่านั้นเองไม่ต้องอธิบายอะไรอีกเพราะเราเขียนไว้ในส่วนที่สองหมดแล้ว)




ตัวอย่างข้อสอบอุทาหรณ์


กฎหมายอาญา


EX. นายชมว่าจ้างนายชิตให้ไปฆ่านายใส นายชิตตกลงทำตาม แต่ก่อนที่จะไปฆ่านายชิตเกิดป่วยกะทันหัน นายชิตจึงไปว่าจ้างนายชื่นให้ไปฆ่านายใสแทนตน เมื่อนายชื่นจ้องเล็งปืนจะยิงนายใส นายชมเกิดสำนักผิดจึงวิ่งเข้ามายังที่เกิดเหตุและปัดปืน ทำให้ปืนตกลงในน้ำ


ให้วินิจฉัยว่า นายชื่น นายชิต นายชม ต้องรับผิดฐานใดหรือไม่

ตอบ

หลักกฎหมาย


ประมวลกฎหมายอาญา
ข้อ 1 วางหลักว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่น โดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต้องระวางโทษ


ข้อ 2 วางหลักว่า ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิดผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น


ข้อ3 วางหลักว่า ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ไม่ว่าด้วยการ ใช้ บังคับ จ้าง วานหรือด้วยวิธีการอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดถ้าผู้ใช้ได้กระทำผิด ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดไม่ได้กระทำไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น


ข้อ 4 ถ้าความผิดที่ได้ใช้ ได้กระทำถึงขั้นลงกระทำความผิด แต่เนื่องจากการเข้าขัดขวางของผู้ใช้ ผู้กระทำได้กระทำไปไม่ตลอดหรือกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้ใช้รับผิดเพียงที่บัญญัติไว้ใน มาตรา๘๔ วรรคสอง




วินิจฉัย

สำหรับความผิดของนายชื่น การที่นายชื่นได้รับจ้างฆ่านายใสถือได้ว่า มีเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อนายชื่นจ้องเล็งปืนจะยิงนายใส เป็นการกระทำขั้นลงมือกระทำความผิดที่ได้กระทำลงจนใกล้ชิดกับผลสำเร็จ อันพึงเห็นได้ประจักษ์แล้ว คือได้กระทำในขั้นสุดท้ายของการจะฆ่านายใสแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะนายชมได้วิ่งมาปัดปืนทิ้ง การฆ่านายใสจึงไม่บรรลุผลสมดั่งเจตนา อันเป็นการพยายามกระทำความผิด ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต้องระวางโทษ สองในสามของความผิดฐานดังกล่าว ตามหลักกฎหมายข้อ 2 ประกอบหลักกฎหมายข้อ1


กรณีของนายชิตที่รับจ้างฆ่านายใสแต่ไปจ้างนายชื่นให้ฆ่าแทน จึงเป็นการก่อให้นายชื่อกระทำความผิด โดยการว่าจ้าง ซึ่งนายชื่นไม่มีเจตนาจะฆ่านายใสมาก่อน นายชิตจึงเป็นผู้ใช้ ตามหลักกฎหมาย ข้อ 3 วรรคแรก เมื่อนายชื่นได้กระทำความผิดตามที่รับจ้างมาคือ เล็งปืนจ้องจะยิง อันเป็นการกระทำความผิดตามที่ได้ใช้มาแล้ว นายชิต ต้องรับโทษเสมือนตัวการคือ รับโทษเท่ากับนายชื่นผู้ลงมือกระทำความผิด นายชิตจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยเป็นผู้ใช้ตามหลักกฎหมายข้อ 3 วรรคสองประกอบหลักกฎหมายข้อ 2 และ ข้อ1


ส่วนกรณีของนายชมที่ไปว่าจ้างนายชิตให้ฆ่านายใสเป็นการก่อให้นายชิตกระทำความผิดเพราะนายชิตไม่มีเจตนาจะฆ่านายใสมาก่อน นายชมจึงเป็นผู้ใช้ ตามหลักกฎหมายข้อ 3 วรรคแรก เช่นเดียวกับนายชิตแม้นายชิตจะไปว่าจ้างนายชื่นอีกต่อก็ตาม ก็ถือได้ว่าการที่นายชื่นพยายามฆ่านายใสนั้นเป็นผลโดยตรงมาจากการว่าจ้างของนายชม นายชมจึงมีความผิดตาม หลักกฎหมายข้อ 3 ประกอบหลักกฎหมายข้อ 2และข้อ1รับโทษเสมือนตัวการเช่นเดียวกับนายชิต


แต่อย่างไรก็ตามการที่นายชมได้เข้ามาปัดปืนตกน้ำนั้น ทำให้นายชื่นกระทำไปไม่ตลอดเพราะการขัดขวางเองของนายชมผู้ใช้ เป็นผลให้การฆ่านายใสไม่บรรลุผล นายชมจึงคงรับผิดเพียงหนึ่งในสามของโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เสมือนว่าความผิดที่ใช้ยังไม่ได้กระทำลงตาม หลักกฎหมาย ข้อ 4 ประกอบหลักกฎหมายข้อ 3 วรรคสอง




ดังนั้น นายชื่นมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน นายชิตมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยเป็นผู้ใช้ ส่วนนายชมมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยเป็นผู้ใช้ แต่รับผิดเพียงหนึ่งในสามของโทษฐานดังกล่าว

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์


Ex. เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2548 นาย จ. ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) ที่มีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ในราคา 1,000.000 บาทให้แก่นาย อ. ซึ่งขณะนั้นยังเหลือเวลาที่ห้ามโอนอีกเพียง 6 เดือน นาย อ. ได้ชำระราคาให้บางส่วนจำนวน 800,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระในวันจดทะเบียนโอน นาย จ. ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และส่งมอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวให้นาย อ. ในวันทำสัญญาจะซื้อขายแล้ว และตกลงว่าจะจดทะเบียนโอนให้นายอ.ในวันที่ 12 ตุลาคม 2548 ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากพ้นกำหนดห้ามโอน แต่เมื่อถึงกำหนด นาย จ.ไม่ยอมโอนที่ดินที่จะซื้อขายให้นาย อ. นาย อ.ได้เรียกเงินจำนวน 800,000 บาท คืนจาก นาย จ. แต่นาย จ.ไม่มีเงินที่จะคืนให้ทันที จึงได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินจำนวน 800,000 บาท และตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี กำหนดชำระคืนภายใน 12 กุมภาพันธ์ 2549 ให้ไว้แก่ นาย อ. แต่เมื่อครบกำหนด นายจ. ไม่ชำระให้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย นาย อ. ยื่นฟ้องนาย จ. ให้ชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยดังกล่าว ในวันที่ 17 เมษายน 2549 เนื่องจากวันที่ 12-14 เมษายน 2549 เป็นวันหยุดสงกรานต์และวันที่ 15-16 เมษายน 2549 เป็นวันเสาร์ อาทิตย์ นาย จ. ให้การต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง และคดีโจทก์ขาดอายุความ


ให้วินิจฉัยว่า นาย จ. ต้องรับผิดต่อนาย อ. หรือไม่ และวันที่นาย อ. ยื่นฟ้องนั้นคดีขาดอายุความหรือไม่


ตอบ

หลักกฎหมาย


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 บัญญัติว่า การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ


มาตรา 411 บัญญัติว่า บุคคลใดได้ทำการเพื่อชำระหนี้ เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่


มาตรา 419 บัญญัติว่า ในเรื่องลาภมิควรได้นั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น


มาตรา 193/8 บัญญัติว่า ถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณี ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา


วินิจฉัย


กรณีที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายระหว่างนาย อ. กับนาย จ. ที่ได้กระทำขึ้นนั้นยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย ถือได้ว่าสัญญาจะซื้อขายมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายตกเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น ตามมาตรา 150 ข้างต้น


เมื่อนิติกรรมเสียเปล่านาย อ. ก็ยังชำระเงินค่าที่ดินให้นาย จ. ตามสัญญานั้นอีก ทั้งยังได้รู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นห้ามโอนตามกฎหมายแต่ก็ยังฝืนชำระ จึงเป็นการชำระหนี้อันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย นายอ.จึงไม่อาจเรียกคืนเงินจำนวนนี้ได้ในฐานลาภมิควรได้ ตามมาตรา 411


ต่อมาการที่นาย อ. นำสัญญากู้ยืมเงินที่นาย จ.ได้ทำ ไว้กับตนมาฟ้อง เป็นสัญญาที่นาย จ.ตกลงรับผิดใช้หนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการที่นาย อ.ได้ชำระหนี้ฝ่าฝืนกฎหมาย จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายชัดแจ้ง ย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม มาตรา 150 นาย อ. ก็ไม่อาจเรียกให้นาย จ. ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินได้


สรุป นายจ.ไม่ต้องรับผิดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ให้แก่นาย อ. (ฎ.1876/2542)





ส่วนประเด็นที่นาย อ. ยื่นฟ้องนั้น คดีขาดอายุความหรือไม่ อันเป็นการฟ้องเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ ซึ่งตามมาตรา 419 ห้ามฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นบแต่รู้ว่ามีสิทธิเรียกคืนหรือเมื่อพ้น10 ปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น สำหรับนิติกรรมที่เป็นโมฆะเพราะคู่กรณีมีเจตนาทำสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายนั้น ต้องถือว่าบุคคลทุกคนได้รู้ถึงกฎหมายเช่นว่านี้แล้ว


เมื่อไม่ปรากฏว่า นาย อ. ได้อ้างว่าตนไม่รู้และไม่อยู่ในฐานะที่อาจรู้ได้เช่นนั้น สิทธิในการเรียกคืนทรัพย์ของนาย อ. ย่อมเกิดขึ้นทันทีที่นาย จ. ได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย และปรากฏว่านาย อ. ได้ชำระหนี้ค่าที่ดินให้นาย จ. วันที่ 12 เมษายน 2548 นายอ.เมษายน 2549 แต่วันที่ 12-16 เมษายน 2549 เป็นวันหยุดราชการ นาย อ.ย่อมมีสิทธิยื่นฟ้องได้ในวันที่ 17 เมษายน 2549 ซึ่งเป็นวันแรกที่ศาลเปิดทำการตามมาตรา193/8 คดีจึงไม่ขาดอายุความ


ดังนั้น คดีที่นาย อ.ยื่นฟ้องนาย จ. จึงยังไม่ขาดอายุความ




กรณีข้อสอบบรรยาย


การตอบข้อสอบบรรยายต้องจำในเรื่องของความหมายของคำที่ให้ เพื่อที่จะได้อธิบายความหมายของคำหรือประโยคที่โจทย์กำหนดมาได้ ซึ่งผู้สอบจะต้องอ่านหนังสือให้มากและละเอียด ทั้งจะต้องยกตัวอย่างด้วยในการอธิบายความหมายนั้น จึงจะทำให้ได้คะแนนเต็ม แต่ทั้งนี้การตอบข้อสอบบรรยายก็ไม่ควรโม้มากเกินไป ควรโม้(บรรยาย) ให้มีสาระ ได้ใจความ ไม่เยิ่นเย้อเพราะถ้าตอบมากไป เป็นน้ำเสียส่วนมากก็จะทำให้อาจารย์ผู้ตรวจไม่ชอบ เบื่อ(ขี้เกียจอ่าน) และผลที่ตามมาก็คือขี้เกียจให้คะแนนดี ๆ ด้วย


ฉะนั้นการตอบข้อสอบบรรยายควรอ่านให้มาก แต่เขียนแบบย่อความ เอาเฉพาะประเด็นที่ถามพร้อมยกตัวอย่างประกอบให้ถูกต้องและเข้าใจง่าย คุณก็จะได้คะแนนเต็มแน่นอน


Ex สิทธิคืออะไร เหมือนหรือแต่ต่างกับหน้าอย่างไร จงอธิบายพอสังเขป


สิทธิ คือ ……………………………………………………...


ตัวอย่าง เช่น.................................................................


หน้าที่ คือ…………………………………………………….


ตัวอย่าง เช่น...........................................................


ข้อที่เหมือนกัน คือ
1………………………………

2………………………………


ข้อที่แตกต่างกัน คือ
1……………………………….

2……………………………….


ข้อเสนอแนะ


การเรียนกฎหมายไม่ใช่เรื่องยากแต่ก็ไม่ใช่ของง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็เรียนจบอย่างสวยงามได้ ผู้เขียนมีเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการเรียน-การสอบดังนี้


1. อ่านก่อนเรียน เพื่อที่เวลาเรียนจะได้ตั้งใจฟังเป็นพิเศษเพราะอ่านเองงงไม่ค่อยเข้าใจ ต้องมาอาศัยอาจารย์ท่านบรรยายยกตัวอย่างให้ฟัง


2. อ่านทวนหลังเรียนเสร็จเผื่อเจอปัญหาไม่เข้าใจอีกจะได้ถามอาจารย์ในชั่วโมงหน้า พร้อมกับอ่านเตรียมเรียนชั่วโมงหน้าด้วย


3. เวลาเรียนให้จดไปด้วย โดยฟังแล้วสรุปเอาจากการบรรยายของอาจารย์ ไม่ใช่มาคอยจดเอาจากหน้าจอฉาย power point จะทำให้เราไม่สนใจฟังมัว แต่ขมักเขม่นกับการจดตามและหงุดหงิดเวลาอาจารย์คลิกผ่านหน้านั้นไปเร็วจนจดไม่ทัน ทั้งที่กลับไปอ่านในตำราก็ได้ แต่ควรฟังก่อนเพื่อความเข้าใจและจดสรุปเป็นคำพูดของตัวเองตามความเข้าใจ อาจจะจดใส่สมุดด้วยและโน้ตย่อไว้ในประมวลมาตรานั้นด้วยก็ยิ่งดี เวลาอ่านทวนจะได้ถือประมวลไปเล่มเดียวก็สามารถอ่าน ท่องจำได้อย่างเข้าใจ


4. คนที่เพิ่งเรียนกฎหมายหรือที่ยังไม่ได้เรียนมักมีคำถามว่า เรียนกฎหมายต้องท่องจำเก่งใช่ไหม ขอให้ทราบเอาไว้เลยว่ามีวิชาใดบ้างที่ไม่ต้องท่องจำ ทุกสาขาวิชาต้องอาศัยการจำ และการท่องก็เป็นการทำให้จำได้ แต่ไม่ใช่แบบนกแก้วนกขุนทองนะ ต้องเป็นการท่องเพื่อจำและจำอย่างเข้าใจ จึงจะเรียนวิชานั้น ๆ อย่างเข้าใจได้ รวมถึงการเรียนวิชากฎหมายด้วย


การทดสอบความเข้าใจได้ดีที่สุดคือ การพูดให้เพื่อนฟัง การเขียนให้เพื่อนอ่าน หรือให้อาจารย์ รุ่นพี่ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องนั้น ช่วยให้คะแนน ก็จะเป็นการทดสอบตัวเองและช่วยได้ดีเวลาสอบด้วย เพราะการเขียนเป็นสิ่งสำคัญถ้าเขียนแล้วผู้ตรวจไม่รู้เรื่อง เขียนวนไปเวียนมา หาที่ลงไม่ได้ ผู้ตรวจก็จะหาคะแนนลงให้ไม่ได้เช่นเดียวกัน ฉะนั้นต้องฝึกหัดเขียนทำข้อสอบเก่าเยอะ ๆก็จะช่วยได้มากทีเดียว


5. การอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบควรอ่านวิชาที่สอบวันสุดท้ายก่อนไล่มาถึงเล่มที่สอบวันแรก กรณีตารางสอบออกช้า ก็ควรถามรุ่นพี่ ว่าปีก่อนนั้นตารางสอบเป็นยังไง วิชาไหนสอบก่อนหลัง เพื่อเป็นแนวทาง (ตารางอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละปีอย่าถือตามเสียทีเดียว) การอ่านหนังสือควรสม่ำเสมอมาตั้งแต่ต้นเทอมเพื่อที่ปลายเทอมจะได้ไม่หนักเกินไปในการอ่านหนังสือแถมเวลาเรียนก็เข้าใจเร็วและง่ายกว่าคนอื่น ๆ ด้วย ในการอ่านหนังสือแต่ละครั้งควรขีดเส้นใต้ใจความสำคัญหรือสัญลักษณ์ไว้ด้วยเพราะเวลาอ่านทวนจะได้อ่านเฉพาะที่สำคัญ สำหรับบางคนที่เป็นคุณสะอาดไม่ชอบเลอะเทอะก็แนะนำว่าให้ทำบันทึกย่อ ๆเอาไว้ในสมุดก็จะทำให้ได้ สรุปวิชานั้น ๆ หนึ่งเล่มสำหรับอ่านทบทวนตอนใกล้สอบ


6. เทคนิคในการสอบอีกอย่างก็คือ หัดทำข้อสอบเก่า เพื่อฝึกจับประเด็นโจทย์ เพราะโจทย์มักมีอะไรซ่อนอยู่เสมอ โดยเฉพาะวิชากฎหมายอาญาคำทุกคำของโจทย์มีความหมายเสมอเพราะผู้ออกข้อสอบจะไม่ออกข้อสอบยาวเกินไป


7. การทำข้อสอบ เมื่อได้ข้อสอบมาควรอ่านอย่างตั้งใจทีละข้อ โดยแต่ละข้อให้โน้ตเอาไว้ว่ามีประเด็นอะไรบ้าง มาตราที่เกี่ยวข้องหรือหลักย่อ ๆ ตามความเข้าใจ พร้อมทั้งฟันธงไปเลยว่าผิดไหม ผิดอะไร ใครบ้าง จนครบทุกข้อ แล้วกลับมาเลือกทำข้อที่ง่ายและมั่นใจที่สุดว่าถูกต้องเรียงลำดับไปจนถึงข้อที่ยากที่สุด


และในการนี้ต้องคำนวณเวลาในการทำข้อสอบด้วยว่าแต่ละข้อควรใช้เวลาเท่าใดและต้องไม่มากไปกว่าที่กำหนดไว้ ถ้าข้อไหนทำเกินเวลาที่กำหนดอีกก็ควรเร่งเวลาให้ทดแทนกัน ซึ่งข้อง่าย ก็จะเขียนได้เร็ว แต่ก็อย่าชะล่าใจมัวแต่บรรยายน้ำ รู้เอาไว้เลยว่าอาจารย์/ผู้ตรวจไม่ให้คะแนนความมากของจำนวนหน้าหรอก ถ้าเขียนดีจำนวนหน้าที่ได้ในการเขียนตอบก็จะสมน้ำสมเนื้อเอง รวมถึงคะแนนด้วย เพราะพึงสังวรไว้เลยว่า การเขียนมากก็ถูกหักมาก เขียนน้อยก็ได้คะแนนน้อย


ตอนสอบไม่ต้องสนใจคนที่ขอสมุดเพิ่มเพราะนั้นอาจเป็นน้ำหรืออาจตอบผิดขีดฆ่าทิ้งก็ได้หรือเขียนเว้นบรรทัด ไม่ต้องสนใจจะทำให้เราเสียสมาธิได้ และที่สำคัญอีกอย่าง การเขียนตอบข้อสอบลายมือควรเขียนให้อ่านง่าย ใครลายมือไม่สวยก็ให้เขียนตัวโต ๆ เข้าไว้ และย่อหน้าใหม่ทุกครั้งสำหรับประเด็นถัดไป ใครลายมือแย่สุดๆ เขียนเว้นบรรทัดเลยก็ได้ แต่ได้เฉพาะสนามปริญญาตรีเท่านั้นนะการเขียนเว้นบรรทัดสนามใหญ่อื่น ๆ มักห้ามเว้นบรรทัด ห้ามทำสัญลักษณ์ และขีดเส้นใต้ เพราะอาจเป็นการส่งสัญลักษณ์ให้ผู้ตรวจจะถูกสันนิฐานว่าโกง


การสะกดคำก็ควรเขียนให้ถูกต้องเพราะแสดงถึงว่าเราอ่านมาดีคำที่น่าจะสะกดผิดก็เขียนถูกต้อง เผื่อเวลาเราผิดพลาดบางประเด็นผู้ตรวจก็อาจเห็นใจไม่หักคะแนนมากก็อาจเป็นได้


8. ห้ามทุจริตเป็นอันขาด นอกจากถูกปรับตกแล้วยังเป็นที่น่าเสื่อมเกียตริอย่างแรง คนที่ตกเพราะเตรียมตัวมาไม่ดี ก็ยังมีศักดิ์ศรีกว่าคนผ่านแบบทุจริต นักนิติศาสตร์รู้ว่าอะไรผิดถูกแต่กลับทำผิดเสียเองโทษนั้นไม่น่าอภัยยิ่งนัก (ความคิดเห็นส่วนบุคคล)


9.หนังสือแนะนำในการศึกษากฎหมาย คือ “คำแนะนักศึกษากฎหมาย” ของศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ข้อคิด 10 ประการ ในการทำข้อสอบวิชากฎหมาย

ข้อคิด 10 ประการ ในการทำข้อสอบวิชากฎหมาย

ศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย ได้ให้ “คำแนะนำในการตอบปัญหากฎหมาย” ที่ทรงคุณค่ายิ่ง โดยผู้เขียนได้ย่อและเพิ่มเติมจากประสบการณ์ของตนเองและผู้อื่นไว้ ดังต่อไปนี้

๑. ต้องอ่านปัญหาให้เข้าใจชัดแจ้งเสียก่อน เพราะปรากฏว่ามีบางคนที่เข้าใจปัญหาหรือประเด็นผิดพลาด โดยคำถามถามอย่างหนึ่ง แต่กลับไปตอบอีกอย่างหนึ่งไม่ตรงคำถาม ซึ่งข้อนี้ผู้เขียนยังเห็นว่าการจับประเด็นให้ได้ครบถ้วนและรวดเร็ว จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ตอบข้อสอบไม่หลงทาง และการจับประเด็นถูกต้องแม้จะตอบผิดไปบ้างก็ยังดีกว่าตอบผิดประเด็นหรือตอบ คนละเรื่องไปเลย ซึ่งในข้อนี้เมื่อนักศึกษาทราบแล้วว่าในแต่ละวันข้อสอบจะออกสอบในกลุ่มวิชา ใดและเรื่องอะไรกี่ข้อบ้างแล้ว ก็ย่อมจะมีส่วนช่วยในการจับประเด็นได้ถูกเรื่องเช่นกัน

๒. ต้องตอบคำถามให้หมดข้อ หรือตอบให้ครบทุกประเด็นปัญหาที่ถาม เพราะผู้ตรวจได้แต่พิจารณาจากคำตอบเท่านั้นว่านักศึกษาผู้ตอบมีความรู้ใน วิชากฎหมายเพียงใด มีนักศึกษาหลายคนที่มีความรู้ความสามารถดี แต่ไม่รู้จักวิธีตอบไม่สามารถแสดงความรู้ความสามารถของตนออกมาให้เห็นได้ชัด แจ้งสมบูรณ์ในกระดาษคำตอบได้ ย่อมเป็นความยุติธรรมที่จะสอบไล่ตก เพราะจะทำงานเขียนคำคู่ความ คำสั่งงานแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ตลอดจนเขียนคำพิพากษาให้ดีมีสมรรถภาพต่อไปก็คงไม่ได้ ดังนั้น นักศึกษาต้องคิดเสมือนว่าอาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบไม่มีความรู้ในวิชากฎหมาย คือ ต้องเขียนคำตอบในลักษณะเหมือนกับการอธิบายกฎหมายให้แก่ผู้ที่ไม่มีความรู้ กฎหมาย

๓. ต้องตอบโดยใช้ถ้อยคำให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ตรงไปตรงมาให้ผู้ตรวจข้อสอบเข้าใจง่าย อย่าใช้ถ้อยคำกำกวมหรือมีความหมายเป็นสองนัยให้ต้องตีความอีก และพยายามอย่าใช้คำย่อโดยเฉพาะคำย่อที่ไม่เป็นที่นิยมแพร่หลาย เช่น จ. (โจทก์) จ.ล. (จำเลย) แต่ควรเขียนเต็มเสมือนกำลังเขียนคำฟ้องหรือเขียนหนังสือทางราชการอยู่

๔. ต้องตอบคำถามให้ตรงกับลักษณะปัญหา เพราะปัญหาทางกฎหมายนั้นอาจมีได้หลายรูปแบบ กล่าวคือ

(๑) คำถามในทางทฤษฎีที่ให้อธิบายข้อกฎหมาย เช่น อย่างไรเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งนักศึกษาต้องคิดว่าเป็นเรื่องอะไร มีหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบอย่างไร และต้องอธิบายความหมายของแต่ละองค์ประกอบในรายละเอียด ในข้อนี้ผู้เขียนเห็นว่าหากสามารถยกตัวอย่างได้ชัดเจนก็จะเป็นการดียิ่ง

(๒) คำถามในทางทฤษฎีที่ให้อธิบายความแตกต่าง เช่น “จำเป็น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๗ แตกต่างกับ “ป้องกัน” ตามมาตรา ๖๘ อย่างไร ซึ่งนักศึกษาต้องคิดยกเอาองค์ประกอบของเรื่องจำเป็นและเรื่องป้องกันมาแสดง ให้ดูเป็นข้อ ๆ แล้วเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างองค์ประกอบของทั้งสองเรื่อง รวมทั้งหากมีข้อแตกต่างอื่นนอกจากองค์ประกอบก็ให้ยกมาให้ดูด้วย เช่น ผลในทางกฎหมาย “จำเป็น” เป็นความผิดแต่กฎหมายยกให้เป็นเหตุไม่ต้องรับโทษ แต่ “ป้องกัน” ไม่เป็นความผิดในทางกฎหมาย

(๓) คำถามที่ให้ยกอุทาหรณ์มาประกอบ ซึ่งนักศึกษาต้องคิดว่าเป็นเรื่องอะไร มีหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบอย่างไร แล้วอธิบายความหมายขององค์ประกอบโดยสังเขป และต้องยกตัวอย่างข้อเท็จจริงให้ตรงกับองค์ประกอบนั้น ๆ

(๔) คำถามที่ให้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ได้ตั้งขึ้น หรือที่เรียกว่าปัญหาในรูปตุ๊กตา โดยผู้ออกข้อสอบจะตั้งปัญหาแสดงหรือเลียนข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาศาลฎีกา ตั้งแต่ ๑ เรื่องขึ้นไป แล้วถามว่ามีความผิดหรือชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร คำถามอัตนัยในรูปแบบนี้นับเป็นคำถามที่นิยมมากที่สุดในการศึกษาชั้นเนติ บัณฑิต เมื่อเจอคำถามลักษณะนี้นักศึกษาต้องคิดให้ออกว่าเป็นคำถามในเรื่องอะไร มีกฎหมายหรือคำพิพากษาศาลฎีกากำหนดองค์ประกอบหรือวางหลักเกณฑ์ไว้ว่าอย่างไร แล้วอธิบายความหมายขององค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์นั้น ๆ และวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้เข้าองค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์ตามลำดับ โดยนักศึกษาต้องคิดจากเหตุมาหาผล คือ ต้องคิดว่าองค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์มีอยู่อย่างไร แล้วนำข้อเท็จจริงมาปรับเข้ากับองค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์ที่คิดไว้นั้นให้ครบ ถ้วน ซึ่งการเขียนที่ดีควรใช้ถ้อยคำเลียนตัวบทและคำพิพากษาศาลฎีกาอันอาจคล้ายกัน กับการแทนค่าทางคณิตศาสตร์

๕. ควรเขียนคำตอบให้พอเหมาะกับลักษณะของคำถามแต่ละข้อ ไม่ควรจะสั้นหรือยาวเกินไป นักศึกษาควรหัดคิดหัดตอบเสียตั้งแต่ในขณะศึกษา ความชัดเจนเท่านั้นที่จะทำให้ทราบว่าคำถามข้อนั้น ๆ ควรจะตอบมากน้อยเพียงใด และควรเขียนตอบหรือไม่ควรเขียนตอบอะไร เพื่อที่จะได้ไม่กล่าวนอกเรื่องนอกประเด็นของคำถาม

๖. อย่าตอบในสิ่งที่ไม่ได้ถาม นักศึกษาไม่จำต้องแสดงว่าเป็นผู้มีความรู้ดีในเรื่องที่ไม่ได้ถาม เพราะทำให้เสียเวลาในการตอบและการตรวจข้อสอบเกินไป โดยเฉพาะยิ่งตอบความรู้ที่เกินไปผิดพลาดอีก ก็อาจทำให้ผู้ตรวจเห็นว่าผู้ตอบไม่เข้าใจ “ประเด็น” และนักศึกษาอาจถูกตัดคะแนนก็ได้

๗. ควรบันทึกย่อหัวข้อสั้น ๆ ที่จะตอบไว้ในแต่ละข้อ เพื่อเวลาเขียนคำตอบจริงจะได้มีความคิดที่เป็นระเบียบเรียบร้อยและประหยัด เวลาในการตอบ กล่าวคือ ควรตรึกตรองว่าเรื่องใดควรตอบก่อนก็เขียนก่อน อะไรที่ควรกล่าวทีหลังก็เขียนภายหลัง จะช่วยให้เข้าใจง่ายและได้คะแนนดีขึ้น อนึ่ง ต้องเลือกตอบข้อง่ายที่สุดเสียก่อน แล้วค่อยมาตอบข้อที่ยากยิ่งขึ้นตามลำดับ ซึ่งในข้อนี้ผู้เขียนยังเห็นว่า นักศึกษาต้องแบ่งเวลาทำข้อสอบ ๑๐ ข้อ ภายในเวลา ๔ ชั่วโมงให้ดี เพราะเฉลี่ยแล้วเท่ากับมีเวลาทำข้อสอบเพียงข้อละ ๒๔ นาที จึงควรแบ่งเวลาอ่านข้อสอบทุกข้อก่อน แล้วเขียนเป็นหัวข้อหรือหลักกฎหมายที่จะใช้ตอบจริงกำกับแต่ละข้อเอาไว้ และควรทำข้อง่ายที่ทำได้ก่อน เพราะจะใช้เวลาในข้อแรก ๆ น้อยที่สุด แล้วใช้เวลาที่เหลืออีกมากไปทำข้ออื่นที่ยากกว่า ท้ายสุดแม้จะทำไม่ได้เลยก็ต้องพยายามเขียนเพื่อทำข้อสอบให้ครบทุกข้อ เพราะข้อที่ทำได้ดีก็หาใช่ว่าจะได้คะแนนเต็ม ๑๐ คะแนน ข้อที่ทำไม่ได้หากพยายามเขียน ๆ ไปบ้างตามหลักแห่งความเป็นธรรมหรือสามัญสำนึกของวิญญูชน แม้จะได้สัก ๑ - ๒ คะแนนก็ยังดีกว่าได้ ๐ คะแนน

๘. กรณีคำตอบไม่ตรงกับ “ธงคำตอบ” หรือแนวคำตอบของอาจารย์ผู้ตรวจหรือออกข้อสอบ หากนักศึกษาตอบโดยแสดงว่ามีความรู้ มีความคิดเห็นโดยอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ติดอยู่กับทฤษฎีและความเห็นเก่า ๆ ก็คงจะไม่เสียคะแนนมากนัก หากมีหลายทฤษฎีหรือความคิดเห็นนักศึกษาก็ควรแสดงมาทั้งหมด แล้วระบุชัดลงไปว่านักศึกษาสนับสนุนทฤษฎีหรือความคิดเห็นใด เพราะเหตุใด แต่วิธีที่ปลอดภัยที่สุดก็คือ นักศึกษาควรจะทราบทัศนะของอาจารย์ผู้ตรวจก่อนแล้วตอบตามทัศนะของอาจารย์นั้น ๆ ซึ่งในข้อนี้ผู้เขียนเห็นว่าข้อสอบในชั้นเนติบัณฑิตมักเป็นปัญหาตุ๊กตาที่ ออกตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาอย่างน้อย ๑ เรื่องขึ้นไป จึงไม่น่าจะมีปัญหา โดยนักศึกษาควรต้องถือแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นอาจารย์

๙. ต้องระวัง “ความคิดฉับพลัน” ที่เกิดขึ้นใกล้เวลาส่งคำตอบ เพราะมักจะมีความคิดเกิดขึ้นว่าที่ตอบมาแล้วผิดพลาด แล้วนักศึกษามักจะรีบแก้คำตอบในชั่วระยะเวลาอันเล็กน้อยโดยไม่มีเวลา ไตร่ตรองให้ตลอด ซึ่งเท่าที่ปรากฏส่วนมากความคิดฉับพลันเช่นนี้จะทำให้นักศึกษาแก้คำตอบที่ ถูกให้เป็นผิดเสียมากกว่า

๑๐. อย่าเขียนเรื่องส่วนตัวลงในคำตอบ เช่น ขอความกรุณาเพราะได้ตกมา ๕ - ๖ ครั้งแล้ว เพราะอาจารย์บางท่านก็มีใจอุเบกขา แต่บางท่านอาจรู้สึกว่าเป็นการแสดงความไม่เคารพและตัดคะแนนเอาได้

อนึ่ง นอกจากคำแนะนำในการตอบปัญหากฎหมายข้างต้นแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า การฝึกหัดทำข้อสอบเก่าในเวลาช่วงบ่ายโดยให้เวลาข้อละ ๒๔ นาที เท่ากับเวลาที่สอบจริง ก็จะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ตอบข้อสอบจริงได้ดียิ่งขึ้น แม้ข้อสอบเก่ามักจะไม่ได้นำมาออกซ้ำอีก แต่ก็เป็นแนวทางให้เห็นขอบเขตของหลักกฎหมายที่ออกสอบเป็นประจำ สามารถช่วยนักศึกษาให้ฝึกจับประเด็นตามคำถามได้ครบถ้วน ก่อนวันสอบประมาณ ๑ สัปดาห์ ก็ควรทบทวนตัวบทเพื่อฟื้นความจำและทบทวนคำพิพากษาศาลฎีกาสำคัญที่เกี่ยวข้อง กับตัวบทนั้น ข้อสำคัญต้องรักษาสุขภาพร่างกายให้มีความพร้อมจนถึงวันสอบ และก่อนวันสอบ ๑ วัน ผู้เขียนขอเสนอว่าหากทำได้นักศึกษาก็ควรหาที่พักใกล้กับสถานที่สอบเพื่อ ประหยัดเวลาเดินทางมาใช้เตรียมความพร้อมแก่ตนเองให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้เขียนจึงได้นำประสบการณ์ของท่านผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่สอบไล่ได้ลำดับ “ที่ ๑ เนติบัณฑิต” สมัยต่าง ๆ มาเสนอแนะแนวเพิ่มเติมไว้ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ในการตอบข้อสอบ อัตนัยนั้น ท่านอาจารย์ฐานันท์ วรรณโกวิท ได้ให้คำแนะนำว่าต้องฝึกหัดบรรยายแสดงความคิดเห็นในการตอบจากข้อสอบเก่า เพื่อตอบให้ได้ความ สั้นกะทัดรัด ตรงตามคำถาม พอดีกับเวลาที่กำหนดให้ ไม่ต้องลอกคำถาม ถ้อยคำสำนวนควรใช้คำในตัวบท โดยให้วางข้อกฎหมายก่อน แล้วปรับด้วยข้อเท็จจริง เผื่อวินิจฉัยผิดก็ยังได้คะแนนอยู่บ้าง ตอบคำถามตามลำดับ ตอบให้ครบทุกประเด็น แต่ไม่ควรตอบเกิน ๑ หน้ากระดาษ เลขมาตราถ้าไม่แน่ใจก็ไม่ควรใส่ ลายมือก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ได้คะแนนมากหรือน้อย เพราะเป็นสื่อให้ผู้ตรวจทราบถึงเจตนาของผู้ตอบ การเขียนคำตอบจงระลึกไว้เสมอว่า “เขียนมากผิดมาก เขียนน้อยถูกน้อย” (ต้องเขียนให้พอดี) สำหรับเหตุที่ทำให้สอบไม่ผ่านส่วนใหญ่ ได้แก่ การที่ไม่รู้ว่าคำถามนั้นถามถึงเรื่องอะไร ตอบโดยไม่มีหลักกฎหมาย จำตัวบทไม่ได้ อ้างหลักกฎหมายผิด มีแต่ธงคำตอบ ตอบไม่ตรงประเด็น ตอบไม่ครบทุกประเด็น ตอบตามสามัญสำนึก ตอบในเรื่องที่ไม่ได้ถาม ท่องฎีกามาแต่ข้อเท็จจริงผิดไปจึงตอบผิด

วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ระบบวิธีพิจารณาคดีในศาล

ระบบวิธีพิจารณาคดีในศาลที่ใช้กันนั้น มีระบบวิธีพิจารณาคดีอยู่ ๒ ระบบ เรียกว่า ระบบกล่าวหา(Accusatiorial System) กับ ระบบไต่สวน(Inquisitorial System) ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ได้อธิบายไว้ในหนังสือบทบัณฑิต เล่มที่ ๑๒ พอที่จะสรุปได้ว่า

ระบบกล่าวหา
มีที่มาจากประเทศอังกฤษและกลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมายระบบคอมมอนลอว์ (Common Law) เช่นสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ แคนาดา รวมทั้งกลุ่มประเทศอาณานิคมของอังกฤษ หลักการของระบบกล่าวหา มีวิวัฒนาการจากการแก้แค้นกันระหว่างผู้กระทำผิดกับผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดด้วยตนเอง แล้วรวบรวมพยานหลักฐานมานำสืบความผิดของจำเลยในศาล ส่วนศาลหรือผู้พิพากษาจะวางตัวเป็นกลางโดยเคร่งครัด เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีแนวความคิดมาจากการพิจารณาคดีในสมัยโบราณ ซึ่งใช้วิธีทรมาน (trial by ordeal) และทำให้ทั้งสองฝ่ายต่อสู้คดีกันเอง (trial by battle) ส่วนศาลจะทำหน้าที่เป็นคนกลางหรือกรรมการ ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นการเอาพยานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลย โดยฝ่ายโจทก์จะเอาพยานที่เป็นพรรคพวกของตนมาเบิกความกล่าวหาจำเลย ส่วนจำเลยก็เอาพวกของตนมาเบิกความรับรองความบริสุทธิ์ของตนให้ศาลฟังแล้วตัดสินคดีไปตามน้ำหนักพยานของแต่ละฝ่าย จากการที่ใช้วิธีการต่อสู้คดีกันนั้นเอง ระบบกล่าวหาจึงให้ความสำคัญอย่างสูงต่อหลักเกณฑ์ต่อไปนี้คือ
๑. หลักการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ให้ศาลเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดจริง
๒. ถือหลักสำคัญว่าโจทก์และจำเลยมีฐานะในศาลเท่าเทียมกัน
๓. ศาลจะวางตนเป็นกลางโดยเคร่งครัด ทำหน้าที่เหมือนกรรมการตัดสินกีฬาคอยควบคุมให้ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายลักษณะพยานโดยเคร่งครัดการปฏิบัติผิดหลักเกณฑ์อาจถูกศาลพิพากษายกฟ้องได้
๔. ศาลจะมีบทบาทค้นหาความจริงน้อยมาก เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของคู่กรณีหรือ คู่ความจะต้องแสวงหาพยานมาแสดงต่อศาลด้วยตนเอง ฉะนั้นศาลไม่จำเป็นต้องมีความรู้ใดๆหรือมีความชำนาญในด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษนอกเหนือจากตัวบทกฎหมาย

ระบบไต่สวน
ในทางทฤษฎียอมรับกันว่าระบบไต่สวนมีที่มาจากศาลทางศาสนาของคริสต์ศาสนา นิกายคาทอลิคในสมัยกลาง ซึ่งทางศาสนจักรโดยเฉพาะอย่างยิ่งสันตปาปาแห่งกรุงโรม มีอิทธิพลเหนือฝ่ายอาณาจักรคือ กษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ ในสมัยกลาง ศาลศาสนาของยุโรปมีวิธีการพิจารณาคดีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายของทางศาสนาด้วยวิธีการซักฟอกพยาน ในรูปของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับคดีโดยตรง คือ พระผู้ทำการไต่สวนกับผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ถูกไต่สวน โดยไม่ต้องมีผู้พิพากษาเป็นคนกลาง ดังนั้น ในศาลศาสนา ผู้ไต่สวนจึงต้องทำหน้าที่แสวงหาพยานหลักฐาน ซักถามพยานและชำระความโดยไต่สวนคดีด้วยตนเองตลอด และด้วยที่ศาสนจักร์มีอิทธิพลเหนือฝ่ายอาณาจักร ระบบศาลของฝ่ายอาณาจักร์จึงได้รับอิทธิพลและได้วิวัฒนาการมาเป็นระบบไต่สวนในปัจจุบัน

ตามระบบไต่สวน ศาลไม่ได้ทำหน้าที่วางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัดเหมือนระบบกล่าวหาแต่จะทำหน้าที่ค้นหาความจริงด้วยตนเอง ศาลจะมีบทบาทในการดำเนินคดีอย่างสูง ผิดกับในระบบกล่าวที่ศาลมีบทบาทน้อยมากเพราะต้องวางตัวเป็นกลาง โดยที่ระบบไต่สวนเน้นในเรื่องการค้นหาความจริงเป็นหลัก ดังนั้น กฎเกณฑ์ในการดำเนินคดี เช่น การสืบพยาน การดำเนินการต่างๆ ในศาลจึงยืดหยุ่นกว่าระบบกล่าวหาจากที่มาของระบบกล่าวหากับระบบไต่สวนที่ ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย ได้กล่าวไว้ ข้างต้นจะทำให้เราเห็นหลักการสำคัญที่ว่าเมื่อใดที่คู่ความหรือคู่กรณีมีสถานะเท่าเทียมกันแล้วการใช้ระบบกล่าวหาจะเกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายเพราะเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างต้องปกป้องรักษาสิทธิของตนเอง แต่ถ้าเมื่อใดที่คู่กรณีหรือคู่ความมีสถานะไม่เท่าเทียมกันแล้ว การใช้ระบบไต่สวนย่อมจะเหมาะสมและเป็นธรรมแก่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งอยู่ในสถานะเสียเปรียบ เช่นกรณีพิพาทระหว่างราษฎรหรือเอกชนกับรัฐในคดีปกครอง เป็นต้น เพราะพยานหลักฐานต่างๆมักจะอยู่ในการครอบครองของฝ่ายรัฐเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นการยากที่ฝ่ายราษฎรจะนำสืบหรืออ้างพยานหลักฐานตามระบบกล่าวหาที่มีหลักว่า “ผู้ใดกล่าวอ้าง ผู้นั้นนำสืบ” โอกาสที่จะชนะคดีสำหรับราษฎรหรือเอกชนจึงเป็นไปได้ยาก

สำหรับประเทศไทยเรานั้นได้มีการใช้ระบบกล่าวหาสำหรับคดีแพ่งและคดีอาญา(เว้นในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) และใช้ระบบไต่สวนในคดีที่ใช้อำนาจตามกฎหมายมหาชนในศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย

การป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อมีปืน แล้วต้องรู้จักคำว่า ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ปืนแล้วยิงคนตาย แบบไม่มีความผิดเลย ก็คือยิงเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด ตามความในประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๖๘

หลักเกณฑ์ของการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย ( มี ๔ ข้อ ) คือ

๑ . มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายเช่น มีคนมาปล้น มาจะฆ่า จะทำร้าย เป็นต้นระวัง หากเขามีสิทธิทำร้ายเราได้ เช่นพ่อมีสิทธิว่ากล่าว / ตีลูก เมื่อเราทำผิดบิดามารดา ลงโทษเรา /ตีเรา ไม่ถือเป็นภยันตรายตามข้อ ๑ นี้ เราตอบโต้แล้วอ้างป้องกันไม่ได้ มีฎีกา ที่ ๔๒๙/๒๕๐๕ ว่าพระตีลูกศิษย์ ลูกศิษย์ตอบโต้ ฆ่าพระ ไม่เป็นป้องกัน กรณีเห็นเมียกำลังนอนกอดกับชายชู้ ถือเป็นภยันตรายที่มาละเมิดตามข้อ ๑ แล้วแต่ก็แยกว่า ถ้าภริยาจดทะเบียนสมรสกับเรา เราฆ่าชู้ เป็นป้องกัน ( ฏีกาที่๓๗๘/๒๔๗๙ ) แต่ถ้าไม่ได้จดทะเบียน ไม่เป็นป้องกัน แต่อ้างบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๒ เพื่อให้ศาลลงโทษน้อยลงได้ ( ฎีกาที่ ๒๔๙/๒๕๑๕ )
แม้จะมีภยันตรายตามข้อ ๑ แล้วก็ตาม แต่ผู้ที่จะอ้างป้องกันได้ จะต้องไม่มีส่วนผิดในการก่อให้เกิดภยันตรายดังกล่าวขึ้นด้วย คือ

- ไม่เป็นผู้ที่ก่อภัยขึ้นในตอนแรกเช่น ฎีกาที่ ๒๕๑๔/ ๒๕๑๙ จำเลยชกต่อยก่อน แล้ววิ่งหนี เขาไล่ตามต่อเนื่องไม่ขาดตอน จำเลยยิงเขาตาย อ้างป้องกันไม่ได้

- ไม่เป็นผู้ที่สมัครใจเข้าวิวาทกันเช่นฎีกาที่ ๒๓๒๒/๒๕๒๒ จำเลยโต้เถียงกันคนตาย แล้วก็ท้าทายกัน สมัครใจเข้าชกต่อยต่อสู้กัน แม้คนตายจะยิงก่อน แล้วจำเลยยิงสวนก็อ้างป้องกันไม่ได้

- ไม่เป็นผู้ที่ยินยอมให้ผู้อื่นกระทำต่อตนโดยสมัครใจเช่น ให้เขาลองของคุณไสย คงกระพัน แล้วจะไปโกรธตอบโต้ภายหลังอ้างป้องกันไม่ได้

- ไม่เป็นผู้ที่ไปยั่วให้คนอื่นเขาโกรธก่อนเช่นไปร้องด่าพ่อแม่ ด่าหยาบคายกับเขาก่อน พอเขาโกรธมาทำร้ายเราเราก็ตอบโต้ เราอ้างป้องกันไม่ได้

๒. เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงเช่น เขากำลังจะยิงเรา เราจึงต้องยิงสวน

ฎีกาที่ ๒๒๘๕ / ๒๕๒๘ จำเลยกับคนตายคุยตกลงกันเรื่องแบ่งวัว จำเลยชวนให้ไปคุยตกลงกันที่บ้านกำนัน คนตายไม่ยอมไป กลับชักปืนออกมาจากเอวจำเลยย่อมเข้าใจว่าจะยิงตน จึงยิงสวน ๑ นัด เป็นป้องกัน

ฎีกาที่ ๑๗๓๒ /๒๕๐๙ คนตายชักมีดพกจากเอวมาถือไว้ แล้วเดินเข้ามาหาจำเลย ระยะกระชั้นชิด จำเลยยิงสวน ๑ ที คนตายยังเดินต่อเข้ามาอีก จึงยิงสวน อีก ๑ ทีล้มลงตาย เป็นป้องกันสมควรแก่เหตุ

ฎีกาที่ ๑๗๔๑/ ๒๕๐๙ คนตายจับมือถือแขนคู่หมั้นจำเลย พอจำเลยมาเห็นคนตายก้มหยิบมีดพร้าที่วางใกล้ๆ ยาว ๑๒ นิ้ว ด้ามยาวอีก ๑๒ นิ้ว แสดงว่าคนตายจะทำร้ายทันทีเมื่อหยิบมีดได้ จำเลยใช้มีดฟันตนตายไป ๑ ทีป้องกันพอแก่เหตุ

ฎีกาที่๑๖๙ / ๒๕๐๔ คนตายเมาสุราร้องท้าทายจำเลยให้มาต่อสู้กันจำเลยไม่สู้ คนตายถือมีดดาบปลายแหลมลุยน้ำข้ามคลอง จะเข้าไปฟันจำเลยถึงในบ้าน จำเลยไม่หนีเพราะบ้านตัวเอง และใช้ปืนยิงสวนไป ๑ นัด ขณะที่คนตายอยู่ห่าง ๖ ศอกถึง ๒ วา เป็นป้องกันพอสมควรแก่เหตุ ฎีกานี้วางหลักว่า ผู้รับภัยไม่จำเป็นต้องหลบหนีภยันตราย ก็อ้างป้องกันได้

๓. ผู้กระทำจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น ให้พ้นภยันตรายนั้น ข้อนี้ตามที่อธิบายข้างต้นไปแล้ว

๔. ต้องเป็นการกระทำป้องกันสิทธิที่ไม่เกินขอบเขตไม่งั้นจะเป็นการป้องกันที่เกินสมควรกว่าเหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๙ ไป ซึ่งจะทำให้ยังมีความผิดอยู่

แบบไหนไม่เกินกว่าเหตุ ยากมากครับ ต้องแล้วแต่พฤติการณ์แห่งคดีที่เกิดขึ้น

ฎีกาที่ ๘๒๒ / ๒๕๑๐ คนตายเป็นฝ่ายก่อเหตุก่อน จะเข้ามาชกต่อยทำร้ายจำเลย จำเลยจึงเอาปืนยิงลงพื้นดินไป ๑ นัด เพื่อขู่ให้คนตายกลัว แต่คนตายไม่หยุดกลับเข้ามากอดปล้ำใช้แขนรัดคอแล้วแย่งปืนจำเลย จำเลยจึงยิงขณะชุลมุนนั้นไป ๑ นัด ตาย เป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิด

ฎีกาที่ ๙๔๓ /๒๕๐๘ คนร้ายจูงกระบือออกจากใต้ถุนบ้านแล้ว มีปืนลูกซองมาด้วย จำเลยร้องถามแล้ว คนร้ายหันปืนมาทางจำเลย จำเลยยิงสวนทันที ศาลฎีกาบอกว่า คนร้ายหันปืนมาแล้ว อาจยิงได้ และถ้าจำเลยไม่ยิง คนร้ายก็อาจเอากระบือไปได้ เป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ

ฎีกาที่ ๑๒๕๖ /๒๕๓๐ คนตายบุกรุกเข้าไปฉุดลูกสาวในบ้านจำเลย เมื่อมารดาเด็กเข้าห้ามถูกคนร้ายตบหน้า แล้วจะฉุดพาลูกสาวออกบ้านจำเลยยิงไปทันที ๔ นัด เป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ

ฎีกาที่ ๖๐๖ / ๒๕๑๐ คนตายเข้ามาชกจำเลย จำเลยล้มลง คนตายเงื้อมีดจะเข้าไปแทง จำเลยยิงสวน เป็นป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
เทียบกับ
ฎีกาที่ ๒๗๑๗/ ๒๕๒๘ คนตายยืนถือมีดอยู่ห่าง ๒ วา ยังไม่อยู่ในลักษณะพร้อมที่จะฟันทำร้ายจำเลย การที่จำเลยด่วนยิงคนตายไปก่อนเป็นป้องกันจริง แต่เกินสมควรแก่เหตุ

ฎีกาที่ ๔๕๔๔ / ๒๕๓๑ คนตายบุรุกเข้าไปในบ้านจำเลยยามวิกาลเมื่อจำเลยได้ยินเสียงผิดปกติ คว้าปืนลงมาดู คนตายยิงทันทีจำเลยยิงสวน เป็นป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

ฎีกาที่ ๑๘๒ / ๒๕๓๒ ก.ถือไม้ไปที่บ้านจำเลย ร้องท้าทายให้จำเลยมาสู้กัน ก.เดินเข้าหาจำเลย จำเลยตกใจกลัวว่า ก. จะเข้ามาเอาไม้ตีทำร้าย จึงวิ่งไปเอาปืนแล้วเล็งยิงไปที่ขา ก. รวม ๓ นัด เมื่อรู้ว่ากระสุนถูกที่ขา ก. จำนวน ๑ นัดจำเลยก็ไม่ยิงซ้ำ เป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ

คราวนี้มาดูกรณีที่ถือว่าเกินสมควรกว่าเหตุ

ฎีกาที่ ๒๙๘๓ / ๒๕๓๑ คนตายขับมอเตอร์ไซด์กลับบ้าน พบจำเลยระหว่างทางจำเลยพูดทวงหนี้คนตาย คนตายโกรธเคืองต่อว่าจำเลย พร้อมเดินเข้าไปหาจำเลยด้วยมือเปล่าเพื่อจะทำร้าย ระยะห่างประมาณ ๑ วา จำเลยใช้ปืนยิง ๑ นัด เป็นป้องกันตัวจากการจะถูกทำร้าย แต่เกินกว่าเหตุเพราะคนตายมือเปล่า

ฎีกาที่ ๖๔ / ๒๕๑๕ ก.และ ข.มือเปล่าไม่มีอาวุธ เข้ารุมชกต่อยจำเลย จำเลยใช้ปืนยิง ในระยะติดพันกันนั้นรวม ๓-๔-๕ นัด จน ก. ตาย เป็นป้องกันจริง แต่เกินกว่าเหตุ

ฎีกาที่ ๔๐๕ / ๒๔๙๐ จำเลยเฝ้าไร่พืชผัก คนตายเข้าไปในไร่ เวลากลางวันเพื่อจะลักพืชผัก จำเลยจึงใช้ปืนยิงคนตาย เป็นป้องกันจริง แต่เกินกว่าเหตุ

ฎีกาที่ ๑๓๔๓ / ๒๔๙๕ ยิงคนร้ายขณะกำลังวิ่งหนีและพาเอาห่อของที่ลักไปด้วย โดยคนร้ายไม่ได้ทำอะไรแก่ตนเลย เป็นป้องกัน แต่เกินสมควรแก่เหตุมาก

ฎีกาที่ ๒๙๔ /๒๕๐๐ ยิงคนร้ายที่จูงกระบือในเวลากลางคืน ตรงนั้นมืดมาก โดยคนร้ายไม่ได้แสดงกริยาต่อสู้ เป็นป้องกันที่เกินสมควรกว่าเหตุ

ฎีกาที่ ๒๗๑๗ / ๒๕๒๘ คนตายเข้ามาลักลอบตัดข้าวโพดในไร่จำเลย ในตอนกลางคืน โดยคนร้ายเอามีดมาด้วย แต่ขณะที่จำเลยมาเห็น คนตายยืนถือมีดห่างประมาณ ๒ วา ยังไม่อยู่ในลักษณะพร้อมที่จะฟันทำร้าย จำเลยด่วนยิงจึงเป็นการป้องกันที่เกินกว่าเหตุ

ฎีกาที่ ๑๘๙๕ / ๒๕๒๖ คนตายเมาสุรา เดินถือปืนตรงเข้าไปหาบิดาจำเลยพูดทำนองจะฆ่าบิดา จำเลยจึงสกัดกั้นยิงคนตายไปก่อน ๑ นัด แล้วกระโดดเข้าแย่งปืนคนตายมาได้ แต่กลับเอาปืนคนตายนั้นมายิงคนตายซ้ำอีก ๓ นัด จึงเกินกว่าเหตุ

ฎีกาที่ ๖๒๐ / ๒๕๓๒ คนตายถือมีดทำครัวบุกรุกเข้าไปในห้องจำเลยจะทำร้ายแต่การที่จำเลยใช้ปืนยิงคนตายถึง ๕ นัด เป็นการเกินกว่าเหตุ

ข้อเท็จจริง ที่อาจเข้าข้อกฎหมายในเรื่องกระทำพอสมควรก่อเหตุ..

๑. การกระทำในลักษณะสวนกลับ ในทันทีนั้น พฤติการณ์ จึงอาจเลือกได้ ความว่องไวแม่นยำ กับ หลบหลีกเข้าที่กำบัง แล้วสวนกลับ

๒. ได้กระทำตอบในลักษณะความรุนแรง เดียวกับภัยที่ถูกกระทำ เพื่อยุติภัยนั้น. ไม่ซ้ำถ้าคนร้ายหมดความสามารถแล้ว

๓. ได้กระทำกับอีกฝ่าย ที่ประเมินแล้ว ว่า เป็นโจร เป็นคนร้าย. เพราะตามพฤติการณ์ คนดี จะหลีกเลี่ยงไม่กระทำละเมิด หรือประทุษร้ายบุคคลอื่นก่อน

ใครที่ชอบย่องเข้าบ้านคนอื่นตอนดึกๆระวังให้ดี

ฎีกาที่ .๓๘๖๙ / ๒๕๔๖ คนตายปีนเข้าบ้านจำเลยตอนกลางคืนโดยไม่ทราบสาเหตุ ที่ปีนเข้ามา เมื่อจำเลยตื่นมาเห็นย่อมทำให้สำคัญผิดว่าคนตายเป็นคนร้ายและในขณะนั้นจำเลยย่อมไม่อาจรู้ได้ว่าคนตายจะมีอาวุธหรือไม่ เพราะในห้องที่เกิดเหตุมืดมาก และเป็นเวลากะทันหัน หากจำเลยจะรอให้คนร้ายแสดงกริยาแล้วก็อาจจะถูกทำร้ายได้ การที่จำเลยใช้ปืนยิงไปเพียง ๑ นัด คนตายร้องและล้มลง และจำเลยมิได้ยิงซ้ำแต่อย่างใด จึงเป็นการป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ

ส่วนพวกที่ชอบรุมกินโต๊ะ ( หมาหมู่ ) ก็ระวังให้ดี

ฎีกาที่ ๖๐๗๗/๒๕๔๖ ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนดึกมากแล้ว จำเลยคนเดียว เข้าไประงับเหตุไม่ให้กลุ่มคนตายเป็นชาย ๓ คน ดื่มสุราและร้องเพลงส่งเสียงดังภายในเขตวัด แล้วเกิดโต้เถียงกัน จำเลยถูกชาย ๓ คนรุมทำร้ายอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีโอกาสตอบโต้คืน และไม่อาจรู้ได้ว้าพวก ๓ คนมีอาวุธใดมาด้วยหรือไม่ จำเลยชักปืนที่พกมาด้วยยิงไปเพียง ๑ นัด ถูกคนตาย ถือว่าป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

ไม่มีความผิด

ฎีกาที่ ๑๓๙๖ / ๒๕๑๔ ก.ใช้จอบตีทำร้ายจำเลยโดยจำเลยไม่ได้เป็นคนก่อเหตุก่อน ถูกที่เหนือข้อศอกซึ่งยกขึ้นรับไว้ได้ จากนั้น ก.ยังใช้จอบฟันซ้ำอีก ๒ ที ถูกที่เหนือเข่าจนจำเลยล้มลง แล้วยังมีพวกของ ก. อีก ๒ คนถือขวานและมีดวิ่งเข้ามาด้วยกริยาแสดงให้เห็นว่าจะมาช่วย ก. เล่นงานจำเลยให้อยู่ จำเลยจึงใช้ปืนลูกซองสั้นยิงไป ๑ นัดในทันทีนั้นเอง เป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิดพวกที่ชอบแกล้ง ชอบขู่คนอื่น ชอบหยอกล้อคนอื่นก็ต้องระวัง

ฎีกาที่ ๕๗๕๘ / ๒๕๓๗ คนตายกับพวกถือสิ่งของคล้ายอาวุธปืน ( ไม่ใช่ปืน )เดินเข้ามาหาจำเลยในเขตนากุ้งของจำเลยในเวลาค่ำคืน จำเลยร้องห้ามให้วางสิ่งของดังกล่าวแล้ว แต่คนตายกับพวกกลับจู่โจมเข้ามาใกล้ประมาณ๒ - ๓ เมตร ย่อมมีเหตุให้จำเลยอยู่ในภาวะเข้าใจได้ว่าคนตายกับพวกจะเข้ามาทำร้ายและถือได้ว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การที่จำเลยใช้ปืนยิงไปทางคนตายกับพวก จึงเป็นการป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุแล้ว ไม่มีความผิด

ระวังเรื่อง หากภัยอันตรายมันผ่านพ้นไปแล้วด้วย

ฎีกาที่ ๔๕๔ / ๒๕๓๗ เริ่มแรกคนตายยกปืนเล็งมาทางจำเลย จำเลยไม่มีปืน จึงเข้าแย่งปืนกับคนตาย ปืนลั่น ๑ นัดแล้วปืนหลุดจากมือคนตาย การที่จำเลยยังไปเอามีดอีโต้ มาฟันคนตายในขณะนั้นอีก ไม่เป็นการป้องกันเลยเพราะภยันตรายที่จำเลยจะถูกปืนยิงมันผ่านพ้นไปแล้ว จำเลยไม่มีภัยที่จะต้องป้องกันอีก การที่จำเลยยังใช้มีดฟันคนตายอีก เป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๒ ศาลใช้ดุลพินิจลงโทษมากน้อยเพียงใดก็ได้

ฎีกาที่ ๑๐๔๘ - ๑๐๔๙ / ๒๕๑๔ จำเลยเป็นตำรวจออกตรวจท้องที่พบผู้ตายกับพวกหลายคนถือไม้และท่อนเหล็ก จับกลุ่มกันอยู่ในยามวิกาล จึงเข้าไปสอบถามผู้ตายกับพวกกับกลุ้มรุมทำร้ายตัวจำเลยจนศีรษะแตกล้มลง จำเลยชักปืนออกมาผู้ตายกับพวกเห็นดังนั้นก็พากันวิ่งหนี จำเลยจึงยิงไปทางพวกผู้ตาย กระสุนปืนถูกผู้ตายทางด้านหลังถึงแก่ความตายการกระทำของจำเลยไม่เป็นป้องกัน เพราะภยันตราย ที่เกิดแก่จำเลยได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่เป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะตาม ปอ.มาตรา ๗๒

ฎีกาที่ ๑๐๑๑ / ๒๕๓๓ ก. เข้าไปชกต่อยจำเลย ๒ ที แล้วก็ออกมา ไม่ปรากฏว่าจะมีการจะไปทำร้ายต่ออีก ภยันตรายที่จะป้องกันจึงผ่านพ้นไปแล้ว การที่จำเลยเอามีดไปแทง ก. หลังถูกชกต่อยเลิกแยกกันไปแล้ว จึงไม่เป็นป้องกันตาม มาตรา ๖๘ แต่เป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะ ตาม มาตรา ๗๒ หากมีคนมาตะโกนร้องท้าทายเรา ต้องระวังใจตนเองครับ

ฎีกาที่ ๓๐๘๙ / ๒๕๔๑ เมื่อ ก. ไปร้องท้าทายจำเลยว่า ( มึงออกมาต่อยกับกูตัวต่อตัวถ้าแน่จริง ) แม้จำเลยไม่มีหน้าที่จะต้องหลบหนีก็ตาม แต่หากจำเลยไม่สมัครใจที่จะวิวาทหรือต่อสู้กับ ก. แล้ว จำเลยก็ชอบที่จะไม่ตอบโต้หรือออกไปพบ ก. ก็ได้ / แต่จำเลยกลับออกไปพบ ก. โดยพกปืนติดตัวไปด้วย แสดงว่าจำเลยสมัครใจเข้าวิวาทและต่อสู้กับ ก. และเข้าสู่ภัยโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ แม้ ก. จะชักมีดออกมาจ้วงแทงจำเลยก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะวิวาทกัน จำเลยใช้ปืนยิงหรือใช้ไม้ตีตอบโต้ก็ไม่อาจอ้างป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายได้

เปรียบเทียบ กับ ๓ เรื่องข้างล่างนี้

ฎีกาที่ ๑๐๖ / ๒๕๐๔ ผู้ตายเมาสุราร้องท้าทายจำเลยให้มาสู้กัน แต่จำเลยไม่สู้ ผู้ตายก็ถือดาบปลายแหลมลุยน้ำข้ามคลองจะเข้าไปฟันจำเลยถึงในบ้าน แม้จำเลยจะเห็นผู้ตายอยู่ก่อนและอาจหลบหนีไปได้ แต่ก็ไม่มีความจำเป็นที่ผู้มีสิทธิครอบครองเคหสถานของตนจะต้องหนีผู้กระทำผิดกฎหมาย ดังนั้นการที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตาย๑ นัดขณะผู้ตายอยู่ห่าจากโรงจำเลย ๖ ศอกถึง ๒ วานั้น ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกัน ชีวิตพอสมควรแก่เหตุตาม มาตรา ๖๘ แล้ว จำเลยจึงไม่มีความผิด

ฎีกาที่ ๑๘๒ / ๒๕๓๒ ก. ถือไม้เป็นอาวุธไปที่บ้านจำเลยและร้องท้าทายให้จำเลยออกมาตีกันจำเลยไม่ออกไปตามคำท้า ก.จึงเดินเข้ามาหาจำเลย จำเลยตกใจกลัวว่า ก. จะเข้ามาทำร้าย จึงวิ่งไปเอาปืนสั้น ของสามีที่เก็บไว้ที่หัวนอนมาแล้วยิงไปที่ขา ก. รวม ๓ นัด เมื่อกระสุนถูกขา ก.๑ นัด จำเลยไม่ยิงต่อ การยิงของจำเลยดังกล่าวเพียงเพื่อยับยั้งไม่ให้ ก. เข้ามาทำร้ายจำเลยในบ้านเท่านั้น เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย และพอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิด

ฎีกาที่ ๑๑๓๖ /๒๕๒๙ ก. กับพวกกำลังดื่มสุราอยู่ในซอย เห็นจำเลยเดินมาหาว่าจำเลยถอดเสื้ออวดรอยสัก ได้เรียกจำเลยเข้าไปถามและช่วยกันรุมทำร้าย จำเลยวิ่งหนีมาถึง ๓ แยก หนีต่อไปไม่ทัน จึงได้หันกลับไปแล้วยกปืนขึ้นมาจ้องขู่ ก. ว่าอย่าเข้ามาถ้าเข้ามาจะยิง แต่ ก. ก็ไม่เชื่อ ยังทำท่าจะวิ่งเข้ามาทำร้ายจำเลยอีก จำเลยจึงใช้ปืนยิง ก. ๑ นัด เป็นการป้องกันตัวโดยสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิด

เมื่อเห็นคนอื่นกำลังตกอยู่ในอันตรายอย่านิ่งดูดายนะครับ

ความจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ เรื่องป้องกันก็สามารถป้องกันสิทธิ ของคนอื่นที่กำลังจะได้รับภยันตรายได้ด้วย ไม่เฉพาะแต่เรื่องของตัวเองแต่อย่างใด หากเราพบคนอื่นกำลังตกอยู่ในภยันตราย ถือได้ว่าเราพบความผิดซึ่งหน้าเกิดขึ้นแล้ว ราษฎรอย่างเราก็มีสิทธิเข้าช่วยเหลือโดยอ้างสิทธิผู้อื่นตาม มาตรา ๖๘ นี้ก็ได้ หรือจะเข้าไปช่วยโดยอ้างว่าพบความผิดซึ่งหน้าแล้วเข้าจับกุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๙ มาตรา ๘๐ และมาตรา ๘๓ก็ได้

มีฎีกา ที่ ๒๓๕๓ / ๒๕๓๐ วินิจฉัยว่า กรณีที่มิใช่ความผิดซึ่งหน้า ราษฎรไม่มีอำนาจ ตามกฎหมายที่จะจับกุมผู้กระทำความผิดได้

เมื่อแปลความกลับก็จะได้ความว่า หากเป็นความผิดซึ่งหน้าแล้วราษฎรเข้าจับกุมได้ ก็ตาม มาตรา ๗๙ / ๘๐ / ๘๓ นี่แหละ และการเข้าไปจับกุมดังกล่าวก็ไม่ต้องแจ้งข้อหาให้คนร้ายทราบก่อนด้วยก็ได้ ( ตามฎีกาที่ ๕๑๒/ ๒๔๘๐ และที่ ๓๑๙ - ๓๒๐ / ๒๕๒๑ ) และเมื่อเข้าไปจะจับกุมคนร้ายแล้ว หากคนร้ายขัดขืน เช่นว่า ชักปืนจะยิงสู้ เราก็ยิงโต้ตอบคนร้ายได้โดยอ้างป้องกันตาม มาตรา ๖๘ ได้อีก เพราะตามมาตรา ๘๓ วรรคท้าย ให้อำนาจราษฎรที่เข้าไปจับคนร้ายที่ทำผิดซึ่งหน้าสามารถใช้วิธีตอบโต้คนร้ายได้ตามสัดส่วนของภัยนั้นๆ

ลองๆดูคำพิพากษา

ฎีกาที่ ๘๕๓๔ / ๒๕๔๔ กลุ่มวัยรุ่นกำลังรุมทำร้าย ถ. จำเลยไปเจอ จึงได้ใช้อาวุธปืนที่มียิงขึ้นฟ้าเพื่อขู่มิให้กลุ่มวัยรุ่นกลุ้มรุมทำร้าย ถ.เมื่อจำเลยยิงขึ้นฟ้านัดที่ ๓ แล้ว ได้มีกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาทุบที่ด้านหลังของจำเลยจนเป็นเหตุให้จำเลยล้มลงและกระสุนจากปืนของจำเลยได้ลั่นไปถูกคนตาย เป็นการป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ จำเลยไม่มีความผิด

ฝากไว้ว่า อย่านิ่งดูดายนะครับ เพราะความจริงมีกฎหมายเขาคุ้มครองพลเมืองดีอย่างเราๆอยู่ครับ ไม่ต้องไปกังวลเรื่องกฎหมายครับ ... เมื่อเจอคนร้ายกำลังกระทำความผิดซึ่งหน้า ราษฎรอย่างเราๆก็อาศัย
อำนาจตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๙ มาตรา ๘๐ และมาตรา ๘๓ เข้าไปจับกุมได้เลยครับ
โดยไม่ถือเป็นความผิดอะไร เมื่อถูกคนร้ายเข้าขัดขวางการจับกุมก็อาศัยอำนาจตามความ ใน มาตรา ๘๓ วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า( ถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับ ขัดขวาง หรือจะขัดขวางการจับกุมหรือหลบหนี หรือพยายามจะหลบหนี ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธีหรือความป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับผู้นั้น )

อาศัยอำนาจตามข้อความวรรคท้ายของมาตรานี้ มาป้องกัน / ตอบโต้การต่อสู้หรือขัดขวางการจับกุม ของคนร้ายได้เลยครับ ดังนั้น ก็กลับมาสู่หลักเดิม คือเรื่องการป้องกันตัวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๖๘ ได้อีก ว่า คนร้ายทำท่าจะยิงเรา เราก็ยิงสวนป้องกันตัวได้ตามหลักในแนวคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นครับ ถือเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงที่จะเกิดกับผู้จะเข้าจับกุมอย่างเรา ที่เข้าจับกุมโดยอาศัยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๓ นั่นเอง เมื่อคนร้ายเกิดตาย เราก็อ้างได้ว่ามีสิทธิเข้าจับได้ / เข้าช่วยเหลือได้ และอ้างสิทธิป้องกันตัวได้ด้วย ไงครับ ผลคือไม่มีความผิดฐานฆ่าคนตาย / พยายามฆ่า / ทำร้ายร่างกาย ส่วนข้อหาพกพาปืนโดยไม่มีใบพก ก็จะตกไป เพราะถือว่าในกรณีนี้มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามควรแก่พฤติการณ์ ที่จะต้องใช้ปืนแล้วละครับเพราะหากเราไม่มีปืน เราก็คงไม่เข้าช่วยเหลือ / เข้าจับกุม และอาจเกิดผลร้ายกับเหยื่อของคนร้ายได้ครับ .. .. .. เขาคงไม่รอดครับ

ส่วนที่ว่าจะยิงคนร้ายก่อนได้ไหม ผมตอบไม่ได้ต้องดูพฤติการณ์ เป็นเรื่องๆไป ยกตัวอย่างเช่น

ไปเจอเหตุการณ์คนร้ายกำลังเอาปืนจี้คนขายในร้านทองอยู่พอดี คนร้าย ๒ -๓ คน ล้วนมีปืนครบมือทุกคน คลุมหน้าตา กรณีอย่างนี้ เชื่อได้เลยว่า หากเราเรียกคนร้ายหันมาเจอเรา ต้องยิงเราแน่ ไม่ปล่อยไว้ และพฤติการณ์ที่คนร้ายกำลังเอาปืนจ่อไปที่เจ้าของร้านทอง ถือเป็นภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมาย ที่ใกล้จะถึงที่เกิดกับเจ้าของร้านทองแล้วละครับ เรายิงได้ทันทีเลย เป็นป้องกันสิทธิของเจ้าของร้านทองครับตาม มาตรา ๖๘ ได้ครับ

อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่าเราไปเจอคนร้ายกำลังยิงคนอยู่ ถือว่า กรณีอย่างนี้เกิดภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายที่ใกล้จะถึง หรือถึงแล้ว แก่เหยื่อเคราะห์ร้ายคนนั้นแล้วละครับ เจอแบบนี้เรายิงโจรได้เลย เป็นการป้องกันสิทธิของเหยื่อรายนั้นได้ครับ ตามมาตรา ๖๘ เพราะถ้าเราไม่ยิง คนร้ายมันก็ต้องยิงเหยื่อตายครับ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับกรณีที่มีคนเอาปืนมาจ้องเล็งกำลังจะยิงเรา เราก็ยิงสวนตอบโต้ไปได้ ถ้าไม่ยิงเราก็ตาย ส่วนอันนั้น หากเราไม่ยิง เหยื่อเคราะห์ร้ายก็ต้องตาย หลักป้องกันเดียวกันครับ ไม่ว่าป้องกันสิทธิของตนเองหรือ สิทธิของผู้อื่นเป็นการอธิบายโดยใช้หลักกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลฎีกาครับ


ขออนุญาตและขอขอบพระคุณ เว็บบอร์ด.http://www.gunsandgames.com

หลักในการนำพาปืนไปนอกบ้านและอาจจะไม่ถูกจับกุมหากปฏิบัติตาม

หลักในการนำพาปืนไปนอกบ้านและอาจจะไม่ถูกจับกุมหากปฏิบัติตาม

กองวิจัยและวางแผน ส่วนราชการกรมตำรวจ
ที่ 0503(ส)/27663 วันที่ 30 กันยายน 2525
เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจค้นบุคคลพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณสถาน
เรียน ผบช.,ผบก.,หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าทุกหน่วยงาน

ตามบันทึก ตร.ที่ 0501 /30476 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2517 กำหนดแนวทาง ในการปฏิบัติของข้าราชการตำรวจ ให้ใช้ดุลพินิจในการตรวจค้น จับกุมผู้พกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณสถานให้เป็นการถูกต้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 ได้บัญญัติไว้ ต่อมาได้มีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8 ทวิ แห่ง พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ขึ้นอีก ในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในปัจจุบันยังคงมีปัญหาเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจค้นพบบุคคลพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะ โดยมีเพียงใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน(ป.4)แต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว (ป.12)ก็มักจะควบคุมตัวมาดำเนินคดีทุกรายไป ทำให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกตรวจค้นและจับกุม เพื่อให้การปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและถูกต้อง จึงขอซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติเพิ่มเติมดังนี้ ตามบทบัญญัติ มาตรา 8 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งคณะปฏิรูป การปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3 กำหนดว่า ห้ามมิให้ ผู้ใดพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่กรณีต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่ากรณีใด ห้ามมิให้พกพาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผยหรือพาไปในที่ชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเริง การมหรสพ หรือการอื่นใด

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กฎหมายยังคงเปิดโอกาส ให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์นำเอาอาวุธปืนที่ตนมีไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาติดตัวไปเพื่อป้องกันตัวและทรัพย์สินได้ ภายในขอบเขตที่กฎหมายให้กระทำได้ ตามแนวคำชี้ขาดไม่ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการเกี่ยวกับการพกพาอาวุธปืนไปในเมือง
หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาจากเจ้าพนักงาน ซึ่งถือว่าโดยสภาพเป็นกรณีที่ต้องมีอาวุธปืนติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วน ตามสมควรแก่พฤติการณ์ มีแนวทางพอสรุปได้ดังนี้คือ
1.ถ้าได้นำอาวุธปืนใส่กระเป๋าเก็บไว้ในช่องเก็บของท้ายรถ ซึ่งไม่สามารถหยิบใช้ได้ทันทีทันใด
2.เอาอาวุธปืนใส่กระเป๋าใส่กุญแจแล้ววางไว้ในรถซึ่งไม่สามารถหยิบใช้ได้ในทันทีทันใด
3.ไปเก็บเงินจากลูกค้าต่างจังหวัด จำนวนเป็นหมื่นๆ นำติดตัวมาแล้วมีอาวุธปืน
ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนแล้ว ใส่ช่องเก็บของหน้ารถยนต์เพื่อป้องกันตัวและทรัพย์สิน
4.ไปเก็บเงินจากลูกค้าต่างจังหวัด นำอาวุธปืนติดตัวมาด้วย โดยแยกอาวุธปืน
และเครื่องกระสุนปืนออกจากกัน ใส่กระเป๋าเอกสารไว้ที่พนักเบาะหลังรถยนต์
5.ห่ออาวุธปืน และแหนบบรรจุกระสุนปืน ( แมกกาซีน ) แยกออกคนละห่อเก็บไว้ในกระโปรงรถยนต์ซึ่งใส่กุญแจ
จึงแจ้งมาเพื่อทราบและแจ้งให้ข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อใช้เป็นดุลพินิจ ประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนี้ต่อไป

ลงชื่อ พล.ต.ท.ณรงค์ มหานนท์
( ณรงค์ มหานนท์ )
รองอ.ตร.ปป.ปร.ท.อ.ตร.


ทีนี้มาดูผล ของการปฏิบัติตามแบบนี้กันดูบ้างครับ เรื่องทั้งหมดนี้มีที่มาสามารถอ้างอิงได้ โดยมีที่มาเอาไว้ให้เพื่อจะได้ไปเปิดค้นดูได้ถึงที่มาที่ไป...

เรื่องที่ ๑ ผู้ต้องหาถูกตำรวจจับได้ในขณะขับรถยนต์ไปเก็บเงินลูกค้าที่ผู้ต้องหาขายยาที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นเงินจำนวน ๓๕,๐๐๐ บาท ผู้ต้องหาอ้างว่านำอาวุธปืน ติดตัวไปเพื่อป้องกันทรัพย์สิน ปืนดังกล่าวผู้ต้องหาได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้โดยถูกต้องแล้ว พร้อมกับแสดงเงินสด ๓๕,๐๐๐ บาท ให้พนักงานสอบสวนดูไว้เป็นหลักฐาน ปรากฎว่าตำรวจค้นปืนได้จากที่เก็บของด้านหน้าซ้าย ของรถยนต์คันที่ผู้ต้องหาขับไป อธิบดีกรมอัยการชี้ขาดว่า ผู้ต้องหาไม่ได้พาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผย แต่ได้เก็บไว้ในที่เก็บของมิดชิด และการที่ผู้ต้องหา ไปเก็บเงินจากลูกค้าต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก โดยพาอาวุธปืนซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้แล้วติดตัวไปด้วยนั้น นับว่ามีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ จึงชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ พรบ.อาวุธปืนฯ มาตรา ๘ ทวิ , ๗๒ ทวิ ฯลฯ

เรื่องที่ ๒ ผู้ต้องหาถูกจับได้พร้อมปืนสั้นขนาด .๓๘ มีทะเบียนแล้ว กับมีกระสุน ในลูกโม่ ๒ นัด และกระสุนอยู่ในซองกระสุนอีก ๒๘ นัด ของทั้งหมดอยู่ในกระเป๋าถือใส่ไว้ในกระโปรงท้ายรถยนต์ของผู้ต้องหา อธิบดีกรมอัยการชี้ขาดว่า ผู้ต้องหานำอาวุธปืนของตนที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้แล้ว ใส่ไว้ในกระเป๋าถือ และเอากระเป๋าถือใส่ไว้ในกระโปรงรถยนต์ซึ่งใส่กุญแจ โดยสภาพมิใช่เป็นการพาอาวุธติดตัวและมิใช่โดยเปิดเผยจึงชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา ฯลฯ

เรื่องที่ ๓ ผู้ต้องหาขับรถยนต์บรรทุก ๑๐ ล้อมาตามถนนสายธนบุรี - ปากท่อถูกตำรวจจับที่ด่านตรวจรถ พร้อมปืนกับกระสุน ๗ นัดซึ่งผู้ต้องหาได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้แล้ว แต่ไม่มีใบพกพา ปืนดังกล่าวอยู่ในกระเป๋าถือบนตะแกรงเหล็กเหนือที่นั่งของผู้ต้องหา อธิบดีกรมอัยการชี้ขาดว่า ผู้ต้องหามีอาวุธปืนใส่ไว้ในกระเป๋าถือ เก็บไว้ในตะแกรงเหล็กเหนือศรีษะที่นั่งคนขับ โดยสภาพจึงไม่เป็นการพาอาวุธปืนติดตัว ไม่เป็นความผิด จึงชี้ขาดไม่ฟ้อง

ทั้ง ๓ เรื่อง มาจาก หนังสือ เล่นปืนไม่ให้ถูกจับ ของอ. สมพร - ศรีนิดา พรหมหิตาธร ซึ่งเป็นพนักงานอัยการเป็นผู้เขียน หน้าที่ ๕๐ - ๕๑ ( พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ )

ต่อไปเป็นความเห็นชี้ขาดความเห็นแย้งของอัยการสูงสุดเกี่ยวกับการพกพาอาวุธปืนติดตัว

อัยการสูงสุดได้ชี้ขาดความเห็นแย้งที่ ๖๔ / ๒๕๒๔ เกี่ยวกับการพกพาอาวุธปืนติดตัวว่า การพาอาวุธปืนติดตัวที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน ฯลฯนั้น จะต้องเป็นการกระทำที่ผู้ต้องหานั้นอยู่ในวิสัยที่สามารถอาจใช้อาวุธปืนนั้นได้ในทันที หากต้องการจะใช้โดยไม่ต้องเสียเวลาในการเตรียมการเพื่อการใช้ใดๆอีก ดังนั้น การที่ผู้ต้องหานำอาวุธปืนไป โดยเก็บไว้ที่เก็บของท้ายรถ จึงไม่ใช่เป็นการพาอาวุธปืนติดตัวไปตามความหมายของกฎหมาย การกระทำของผู้ต้องหาจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ มาตรา ๘ ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ จึงชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา

คดีชี้ขาดความเห็นแย้งที่ ๑๙ / ๒๕๓๗ อัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าการพาอาวุธปืนติดตัวที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา ๘ ทวิ นั้น จะต้องเป็นการกระทำที่ผู้กระทำนั้นอยู่ในวิสัยที่สามารถอาจใช้อาวุธปืนนั้นได้ในทันทีหากต้องการจะใช้โดยไม่ต้องเสียเวลาในการเตรียมการเพื่อการใช้ใดๆอีก ฉะนั้น การที่ผู้ต้องหาแยกอาวุธปืนกับกระสุนออกจากกันและบรรจุไว้ในกระเป๋าเสื้อผ้าแล้วนำกระเป๋าติดตัวมาด้วยจึงไม่ใช่การพาอาวุธปืนติดตัวในความหมายของกฎหมาย การกระทำของผู้ต้องหาจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ มาตรา ๘ ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ จึงชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา

ที่มา ก็จากหนังสือเล่มเดียวกัน หน้าที่ ๕๖ -๕๗

อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวข้างต้นก็สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของคำพิพากษาศาลฎีกาด้วยครับจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๔๕ / ๒๕๔๐ วินิจฉัยว่า กระเป๋าเอกสารที่อาวุธปืนของกลางบรรจุอยู่ภายในนั้นโดยสภาพและคำพยานจำเลยแสดงว่า มีกุญแจล็อคถึง ๒ ด้านทั้งวางอยู่ที่เบาะด้านหลัง การจะหยิบฉวยอาวุธปืนมาใช้ทันทีทันใดนั้นย่อมเป็นไปได้ยาก จึงมิอาจถือได้ว่าเป็นการพกพาติดตัว ทั้งเหตุผลที่จำเลยอ้างว่าเป็นการขนย้ายไปยังบ้านที่ต่างจังหวัดนั้น จำเลยมีสำเนาทะเบียนบ้านมานำสืบว่ามีการย้ายภูมิลำเนาไปจริง แม้จะภายหลังวันเวลาเกิดเหตุแต่ก็เพียงไม่กี่วัน ต้องรับฟังเป็นคุณแก่จำเลยตามที่อ้างว่าเจตนาเพียงขนย้ายสิ่งของ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงต้องฟังว่าจำเลยมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ที่จะพาอาวุธของกลางไปจำเลยไม่มีความผิดตาม พรบ.อาวุธปืน ฯ มาตรา ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง , ๗๒ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑

ครับจะเห็นว่าคดีนี้ แม้ศาลจะฟังว่าจำเลยย้ายของ มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนก็ตามแต่ศาลฎีกาก็ได้วินิจฉัย ถึงหลักว่า อย่างไรที่จะถือว่าเป็นการพกพาปืนติดตัวเอาไว้ด้วยซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวข้างต้นและเป็นความยุติธรรมดีครับ ..


ขออนุญาตและขอขอบพระคุณ เว็บบอร์ด.http://www.gunsandgames.com

วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

โครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญ

โครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 15 คน มีที่มา 2 ทาง
1. สายผู้พิพากษาในศาลฎีกา 5 คน และตุลาการศาลปกครองสูงสุด 2 คน
2. สายผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 5 คนและสาขารัฐศาสตร์ 3 คน
โดยมีคณะกรรมการสรรหา 13 คน คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วย
ประธานศาลฎีกา
ผู้แทนคณบดีคณะนิติศาสตร์ 4 คน
ผู้แทนคณบดีคณะรัฐศาสตร์ 4 คน
ผู้แทนพรรคการเมือง 4 คน
คณะกรรมการสรรหาเสนอชื่อ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 10 คนและสาขารัฐศาสตร์ 6 คน
ต่อประธานวุฒิสภา วุฒิสภาต้องมีคะแนนเสียง ?
วาระการดำรงตำแหน่ง
ผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ในวาระของตนเอง คือ 9 ปี มาตรา 259
อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญแบ่งได้ ๖ กลุ่ม ดังนี้
1. การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของปทัสฐาน(บรรทัดฐาน)ทางกฎหมาย
2. การวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ
3. การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของพรรคการเมือง
4. การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในการดำเนินงานในวงงานของรัฐสภา
5. การตรวจสอบความสมบูรณ์ในการดำรงตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภา รมต.และกรรมการการเลือกตั้ง
6. การตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีอื่น ๆ
การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของปทัสฐาน(บรรทัดฐาน)ทางกฎหมาย
เรื่องที่จะต้องตรวจสอบมี ๓ กรณี คือ
- การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ตามมาตรา ๒๖๒
(ก่อนใช้บังคับ)
- การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ตามมาตรา ๒๖๔
(หลังใช้บังคับแบบรูปธรรม)
- การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ตามมาตรา ๑๙๘
(หลังใช้บังคับแบบนามธรรม)
ความแตกต่างระหว่าง ม.๒๖๒ กับม.๒๖๔
1. การร้องขอให้วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญตาม ม.๒๖๒ จะทำได้เมื่อสภาผ่านร่างกฎหมายนั้นแล้วแต่ยังมิได้ส่งให้ลงพระปรมาภิไธย ส่วน ม. ๒๖๔ ต้องกระทำหลังจากที่กฎหมายนั้นประกาศในราชกิจจาฯและมีผลบังคับใช้แล้ว
2. การร้องขอตาม ม. ๒๖๒ นั้นเฉพาะสมาชิกสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดของรัฐสภาหรือของแต่ละสภาที่จะสามารถเป็นผู้เข้าชื่อร้องขอ หรือไม่น้อยกว่า ๒๐ คน ถ้าเป็น พ.ร.บ.ประกอบฯ แต่ ม.๒๖๔ เป็นเรื่องที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความยกขึ้นโต้แย้ง
3. ม.๒๖๒ ครอบคลุมไปถึงทั้งเนื้อหาและกระบวนการของการตรากฎหมาย แต่ ม.๒๖๔ จำกัดเฉพาะเนื้อหาของกฎหมายเท่านั้น
1) ม. ๒๖๔ เป็นการบัญญัติรองรับหลักการของ ม.๒๘ วรรคสอง ...เพื่อใช้สิทธิทางศาลและยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ ม. ๒๖๔ เป็นการบัญญัติช่องทางการนำเรื่องสู่ศาลรัฐธรรมนูญทั้งกรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่ากฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
2) ม.๒๖๔ หากคู่ความเป็นผู้เสนอข้อโต้แย้ง ศาลรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัยไม่รับคำโต้แย้งได้หากพิจารณาแล้วไม่มีสาระอันควรรับการวินิจฉัย ซึ่งต่างกับกรณีที่ศาลเห็นเอง
สรุป อำนาจควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ
1. การควบคุมตรวจสอบแบบนามธรรม (ไม่มีคดีเกิดขึ้นในศาล)
- ก่อนประกาศใช้กฎหมาย ใช้สิทธิตามมาตรา 262 เสนอให้ประธานสภาส่งไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งนายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า
- กรณี พรบ. มีสมาชิกรัฐสภา 1/10
- กรณี พรบ.ประกอบฯ มีสมาชิกรัฐสภา ไม่น้อยกว่า 20 คน
- กรณีนายกรัฐมนตรี เห็นว่า พรบ.หรือ พรบ.ประกอบฯ มีข้อความขัดหรือแย้ง
หรือตราโดยไม่ถูกต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้ง ประธาน สส.
ประธาน สว. และประธานรัฐสภาทราบโดยไม่ชักช้า
- หลังประกาศใช้กฎหมาย มาตรา 198 เป็นกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของบุคคลใดตามมาตรา 197(1) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลปกครอง แล้วแต่กรณี(ถ้าไม่เกี่ยวพันกับรัฐธรรมนูญ ต้องส่งศาลปกครอง เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตามมาตรา 198 เฉพาะบทบัญญัติองกฎหมายเป็นหลักเท่านั้น)
2. การควบคุมตรวจสอบแบบรูปธรรม (มีคดีเกิดขึ้นในศาล)
มาตรา 264 เป็นการควบคุมหลังจากที่กฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว ศาลหรือคู่ความเห็นว่า กฎหมายที่ต้องใช้ในคดีนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ ศาลต้องระงับกระบวนพิจารณา แล้วส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าขัดฯ ศาลจะนำเอากฎหมายมาใช้กับคดีนั้นไม่ได้
กรณีขัดรัฐธรรมนูญ
- สิทธิตรวจสอบ เป็นอำนาจที่จะพิจารณาในเบื้องต้นว่ากฎหมายนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
- สิทธิวินิจฉัยชี้ขาด เป็นอำนาจในการชี้ขาดเป็นที่สุด เป็นอำนาจเบื้องต้นว่ากฎหมายนั้นขัดฯ
ระบบรวมศูนย์การควบคุมตรวจสอบ
1. ถ้าเป็นกฎหมายลำดับพระราชบัญญัติ ใช้ระบบรวมศูนย์อำนาจในการตรวจสอบ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ
2. ถ้าเป็นกฎหมายลำดับรอง ใช้ระบบกระจายอำนาจในการควบคุมตรวจสอบ
ขอบเขตการควบคุมตรวจสอบ
1. ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบเฉพาะเนื้อหา ไม่มีอำนาจตรวจสอบรูปแบบหรือกระบวนการตรากฎหมาย
2. ผู้มีสิทธิตรวจสอบ คือ ศาลและคู่ความในคดี
3. ถ้ากฎหมายนั้นศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยแล้วไม่ต้องส่ง
4. ต้องเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับคดี
ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 264
แนวทางที่ 1 กฎหมายไม่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมมีคำวินิจฉัย (ทำให้กฎหมายใช้บังคับไม่ได้ต่อไป แต่ไม่เกี่ยวกับอดีตที่ผ่านมา)
แนวทางที่ 2 กฎหมายไม่มีผลใช้ตั้งแต่แรก (ตั้งแต่วันประกาศใช้กฎหมาย)
แนวทางที่ 1 เน้นความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ
ข้อดี กฎหมายมีผลสมบูรณ์ ถูกต้องบนฐานของกฎหมายที่มีสภาพบังคับ
ข้อเสีย อธิบายไม่ได้ว่ากฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญมาแต่ต้น ทำไมยังมีผลใช้บังคับโดยบริบูรณ์
แนวทางที่ 2 เน้นในเรื่องความยุติธรรม (คดีถึงที่สุดและมีการบังคับคดีเสร็จสิ้นแล้ว)
ข้อดี สามารถอธิบายให้ถูกต้องตรงสภาพความเป็นจริง
ข้อเสีย มีปัญหาในการอธิบายของการดำรงอยู่ของการกระทำต่างๆที่เกิดขึ้นบนฐานของกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
การวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ม.๒๖๖
ม.๒๖๖ กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งหวังให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญทุกองค์กรที่เกิดปัญหาและเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ จากการศึกษาวิเคราะห์ประกอบกับแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดคดีเหล่านี้ พบข้อสังเกตดังต่อไปนี้
1) องค์กรตามรัฐธรรมนูญตามมาตรานี้ ควรเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ยังต้องมีอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง โดยจะต้องเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระและใช้อำนาจในลักษณะที่เป็นอำนาจทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย
2) การวินิจฉัยชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญตาม ม.๒๖๖ มีการพัฒนาการของแนวความคิดทางกฎหมายของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนในระยะเวลาอันสั้น คำวินิจฉัยที่ ๔/๒๕๔๑ ศาลว่าเทศบาลเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่ต่อมาในคำวินิจฉัยที่ ๕๘-๖๒/๒๕๔๓ ศาลวินิจฉัยว่า อบต. อบจ.และเทศบาลเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นที่ตันขึ้นตามกฎหมายมิได้จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ จึงมิใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญตาม ม.๒๖๖
3) ต้องเป็นปัญหาขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรต่าง ๆ ไม่ใช่องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตนเอง คำวินิจฉัยที่ ๘/๒๕๔๒
4) ปัญหาเกี่ยวกับองค์กรกลุ่ม จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญจะต้องกระทำโดยเป็นมติองค์กรกลุ่ม เช่น ต้องมีมติเสียงข้างมากของที่ประชุมสภา ประธานสภาจะใช้อำนาจเสนอเรื่องโดยลำพังไม่ได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ใช้อำนาจเฉพาะของประธานรัฐสภาตาม ม.๒๖๖ ได้กำหนดไว้โดยแจ้งชัดในฐานะผู้เสนอเรื่องแทนองค์กรอื่นเท่านั้น
ปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ มี 2 ประเด็นปัญหา คือ
1. ปัญหาเกี่ยวกับวิธีพิจารณาของศาล
2. ปัญหาที่เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาล

1. ปัญหาเกี่ยวกับวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาที่มีความสำคัญอันจะนำไปสู่ข้อเสนอในการแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมาย มีอยู่ทั้งสิ้น ๔ ประการ ได้แก่
1.1 การให้ศาลรัฐธรรมนูญตราข้อกำหนดว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญได้เอง ตามมาตรา ๒๖๙ ของรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติดังกล่าวน่าจะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและความเป็นไปได้ในการที่จะสามารถมีข้อกำหนดที่ละเอียดครบถ้วนและกำหนดหลักเกณฑ์ในกระบวนพิจารณาที่เหมาะสม โดยต้องผ่านความเห็นชอบด้วยมติเอกฉันท์ของตุลาการรัฐธรรมนูญทุก ๆ คนในทุก ๆ เรื่อง และผลที่ตามมาจากการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลก็เป็นเรื่องที่จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบกฎหมาย ดังนั้นข้อกำหนดว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจึงควรจะต้องกำหนดให้มีขึ้นในรูปของกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ มิใช่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดขึ้นเอง (ศาลมีอำนาจตรากฎหมายเช่นเดียวกับฝ่ายนิติฯ)
1.2 ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องผูกพันต่อคำวินิจฉัยชี้ขาดที่ได้มีมติไปแล้ว ถึงแม้ว่าตุลาการเสียงข้างน้อยจะไม่เห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่ เมื่อต้องทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นปัญหาแห่งคดี ตุลาการเสียงข้างน้อยก็ยังคงยืนยันความเห็นเดิม เช่นนี้เท่ากับว่าเป็นการปฏิเสธความยุติธรรมหรือปฏิเสธการวินิจฉัยชี้ขาดคดี ซึ่งโดยหลักการต้องไม่มีปรากฏขึ้นในองค์กรตุลาการ ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ควรจะต้องมีการแก้ไขโดยต้องกำหนดให้ตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญทุกคนจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นหลักแห่งคดี หากว่าศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับเรื่องดังกล่าวเข้ามาในอำนาจพิจารณาของศาลโดยมติเสียงข้างมากมาแล้ว
1.3 ปัญหาในการกำหนดและประกาศองค์คณะพิจารณาคดีให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินกระบวนพิจารณาและทำให้หลักการคัดค้านตุลาการที่กำหนดไว้ในวิธีพิจารณาสามารถปฏิบัติได้โดยการกำหนดองค์คณะจะต้องไม่ต่ำกว่าเก้าคน หรือในคดีบางประเภทที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น คำโต้แย้งของคู่ความว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๑๔ วรรคสอง อาจบัญญัติกำหนดองค์คณะพิจารณาให้แตกต่างจากคดีอื่น หรือกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ
1.4 ปัญหาในการไม่แยกประเภทวิธีพิจารณาในกรณีต่าง ๆ ออกจากกันให้ชัดเจน โดยพันธะกิจทั้ง ๖ ประการของศาลรัฐธรรมนูญมีลักษณะและธรรมชาติที่แตกต่างกัน จึงควรมีวิธีพิจารณาที่แยกต่างหากจากกันในแต่ละกรณีด้วยเช่นนี้ ควรมีการยกร่างหลักเกณฑ์เกี่ยวกับวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยแยกหลักทั่วไปร่วมกันของวิธีพิจารณาคดีทุกประเภทออกไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก และจะต้องมีบทบัญญัติเฉพาะว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีแต่ละประเภทตามพันธะกิจทั้ง ๖ ประการของศาลรัฐธรรมนูญแยกต่างหากอีกส่วนหนึ่ง
2. ปัญหาเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
2.1 ปัญหาในเรื่องผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยชี้ขาดหรือที่เรียกว่า คำวินิจฉัยกลาง จะมีผลบังคับใช้เป็นคำพิพากษาตั้งแต่เมื่อใด จากพฤติการณ์ในการมีคำวินิจฉัยสองคราวคือมีการประกาศคำวินิจฉัยด้วยวาจากับคำวินิจฉัยเป็นลายลักษณ์อักษรที่มีขึ้นโดยสมบูรณ์ในวันที่เขียนคำวินิจฉัยกลางเสร็จและมีการลงนามครบถ้วนแล้ว จึงเป็นปัญหาสำคัญและจะส่งผลร้ายต่อสถานะและสิทธิทางกฎหมายของสมาชิกของสถาบันการเมืองที่สำคัญตามรัฐธรรมนูญ และจำเป็นต้องมีการแก้ไขโดยเร่งด่วน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเคร่งครัดกับสถานะความเป็นองค์กรตุลาการที่จะต้องทำคำวินิจฉัยชี้ขาดเป็นลายลักษณ์อักษร ในทุกประเด็นที่พิพากษาและจะต้องให้เหตุผลที่ชัดแจ้งประกอบด้วย หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องมีการแถลงด้วยวาจาก่อนที่คำพิพากษาจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2.2 ปัญหาในเรื่องคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการ ตามมาตรา ๒๖๗ วรรคสอง ปัญหาคือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละท่านได้เขียนคำวินิจฉัยส่วนตนและแถลงต่อที่ประชุมก่อนที่จะได้มีการจัดทำคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตาม ม. ๒๖๔ มี ๒ แนวความคิด คือ
แนวที่ ๑ เป็นแนวทางตามออสเตรีย
แนวที่ ๒ เป็นตามเยอรมัน
แนวคิดที่ ๑ ผลของคำวินิจฉัยไม่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย(ex nunc) คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลก่อสภาพแห่งความใช้บังคับไม่ได้ของกฎหมาย มีผลตั้งแต่วันที่ศาลวินิจฉัย(ยกเลิกกฎหมาย) จุดอ่อนคือ อธิบายไม่ได้ว่ากฎหมายฉบับนั้นทำไมจึงมีผลบังคับได้อยู่ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย (ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจนิติบัญญัติในทางปฏิเสธกฎหมาย) เป็นหลักการเน้นความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ
แนวคิดที่ ๒ ผลของคำวินิจฉัยไม่มีผลใช้บังคับตั้งแต่แรก(วันประกาศใช้กฎหมาย) (ex tunc) คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลเป็นการแสดงความเสียเปล่าของกฎหมาย หรือการบังคับใช้ไม่ได้ตั้งแต่แรกประกาศใช้กฎหมายนั้นมีผลย้อนไปในอดีต จุดอ่อนคือ กฎหมายส่งผลต่อการกระทำทางปกครองที่เกิดก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอย่างไร (เมื่อกฎหมายนั้นสิ้นผลตั้งแต่วันที่ประกาศใช้) เป็นหลักการเน้นความยุติธรรม
จากแนวความคิดทั้งสองทางทำให้เกิดแนวการประสานความคิดใน รธน.ม.๒๖๔ วรรคสาม เป็นเสมือนหนึ่งว่าผลของกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ มีผลย้อนไปในอดีตแต่ไม่กระทบกับคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้ว มีประเด็นปัญหาที่ต้องทำความเข้าใจอีก ๒ ประเด็น คือ คำพิพากษาถึงที่สุดหมายความว่าอย่างไร และถ้าการกระทำในทางกฎหมายขององค์กรของรัฐไม่ใช่คำพิพากษาถึงที่สุดแต่เป็นคำสั่งทางปกครองที่มีการบังคับการตามคำสั่งจบสิ้นไปแล้ว เช่น คำสั่งประเมินภาษีที่มีการชำระเรียบร้อยไปแล้ว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญจะมีผลกระทบกับคำสั่งดังกล่าวหรือไม่ (ฐานของกฎหมายที่เก็บภาษีขัดรัฐธรรมนูญ)
ประเด็นแรก คำพิพากษาถึงที่สุด ถึงที่สุดในที่นี้อาจารย์เห็นว่าต้องถึงที่สุดและมีการบังคับคดีจบสิ้นไปแล้ว เพราะ ม.๒๖๔ วรรคสาม ตั้งอยู่บนความแน่นอนของนิติฐานะที่นิ่งแล้ว จึงเยียวยาความเสียหายของจำเลยในคดีนั้น
ประเด็นที่สอง คำสั่งทางปกครองที่ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ตาม ม.๒๖๔ วรรคสาม คำสั่งทางปกครองที่ถูกปฏิบัติหรือดำเนินไปแล้วโดยกฎหมายที่ถูกต้องในขณะนั้น มีผลผูกพันบังคับการได้สามารถดำรงอยู่ได้ด้วย จึงไม่มีผลย้อนหลังกับไป อาจารย์เห็นว่าคำสั่งทางปกครองที่ไม่อุทธรณ์โต้แย้งมีสภาพคล้ายคลึงกับคำพิพากษาถึงที่สุด ใช้หลัก Analogy คำสั่งทางปกครองต้องมีจุดตัด คือ ถ้าเรื่องใดจบแล้วคือจบ เป็นการนำหลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะมาใช้ ถ้าเรื่องยังไม่จบก็นำเอาหลักความยุติธรรมมาใช้
แต่ในกรณีของคดีทางอาญาแตกต่างกัน เมื่อมีการบังคับคดี ต้องมีการดำเนินกระบวนการเพื่อลบล้างคำพิพากษาจากกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ คือ ขอรื้อฟื้นคดีใหม่
อำนาจวินิจฉัยความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ม.๒๖๖
ประเด็นปัญหาคือ อะไรคือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรตามรัฐธรรมนูญศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่า องค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญและกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังก่อปัญหาอีกว่าอย่างไรจึงถือว่าจัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ อย่างเช่นศาลปกครองถือว่าจัดตั้งโดยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะว่ามี พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง อำนาจของศาลปกครองมาก็จาก พ.ร.บ.จัดตั้งนี้ อาจารย์เห็นว่าศาลปกครองถือว่าเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ปัญหานี้เกิดเพราะการแยกชั้นของกฎหมายยังมีข้อถกเถียงกัน แต่ในต่างประเทศการแยกกฎหมายปกครองกับรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างชัดเจน กล่าวคือรัฐธรรมนูญเป็นสถาบันหรือว่าเป็นองค์การตัวขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญให้เป็นไปได้คือองค์การตามรัฐธรรมนูญ
เงื่อนไขทางทฤษฎี ตาม ม.๒๖๖ คดีขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร คนที่มีสิทธิยื่นเรื่องตาม ม.๒๖๖ คือ องค์กรที่มีปัญหาขัดแย้งนั้นเอง และประธานรัฐสภา ปัญหาคือ ทำไมประธานรัฐสภาจะต้องทำหน้าที่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ในเมื่อ ม. ๒๖๖ เป็นกรณีการขัดแย้งในอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคู่กรณีก็ส่งเรื่องเอง
สรุป คดีของศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 266)
ผู้มีสิทธิตามมาตรา 266 คือ องค์กรที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ และประธานรัฐสภา

เรียบเรียงโดย...ธีรวัฒน์ สุขมล

วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

TRUE MLM ซิม ทรู สีส้ม

TRUE MLM ซิม ทรู สีส้ม
sim true mlm (ซิมทรู สีส้ม) โทรกี่บาท ก็ได้เงินคืน สร้างรายได้ 2,000,000 บาท/เดือน
ฟอร์มทีมต้นสาย ร้อยสายงานด่วน
กับบริษัทเครือข่ายเปิดใหม่ เครือข่ายโทรศัพท์
Sim MLM บริษัทลูกของ true
ด้วยแผนการตลาดที่ไม่ยุ่งยาก
สามารถสร้างรายได้ ได้อย่างมั่นคง
เกษียณได้จริง เพราะทุกคนใช้ทุกเดือน
ร่วมทีมกับเรา ทีมออนไลน์เจ้าแรก
ระบบพร้อม ทีมงานพร้อม
ลุยก่อนเกษียณก่อน
ธุรกิจเครือข่ายหนึ่งเดียว ที่มาแรงกว่าค่ายไหนๆ
99% ตอบตกลงทันที แล้วคุณล่ะจะรออะไร
SIM Rich Networkเราจะทำให้คุณมีรายได้ตั้งแต่เดือนแรก
เพียงคุณสามารถแนะนำเพื่อนได้แค่ 2 คนเท่านั้น
http://www.truerealnetwork.com


ทรู(True) mlm มาแล้ว ขอเชิญผู้สนใจ
–> ถ้าสนใจ กับการใช้โทรศัพท์ ซิมทรู สีส้ม แบบเติมเงิน (เปิดเบอร์ใหม่) สมัครสมาชิกเพียง 300 บาท ซิม 250 บาท
แนะนำต่อก็รวยได้ง่ายๆ กับรายได้หลายๆ ทาง
1.รายได้จากการเติมเงินมือถือของลูก หลาน เหลน โหลน ลื่อ 5ชั้น
2.จากทีมอ่อน 15% (ช่วงเดือน ธ.ค.54-มี.ค.55 ปรับเป็น 25%ครับ) แต่บริษัทขอสงวนสิทธิ์ตัดจ่ายให้ไม่เกิน 2 ล้านต่อเดือน
และอื่นๆ

เปิดตัวเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 นี้ เราเป็นต้นสายแรกๆ รวยแน่นอน
สนใจคลิก http://www.truerealnetwork.com
เรามีเว็บไซด์ให้ใช้ฟรี!!
รีบด่วน!! รวยแน่นอน กับการลงทุนเพียง 550 บาท (ยังไม่ต้องโอนเงินมานะครับ จองตำแหน่งไว้ก่อนครับ)

รายละเอียดการสมัครสมาชิก ทำโดย real network
1. ค่าสมัคร 300 บาท
2. ค่าซิม MLM 1 ซิม ราคา 250 บาท

โปรโมชั่น
1.โทรหาซิม….ในระบบ MLM ด้วยกัน ฟรี 22 ชั่วโมง (ยกเว้น เวลา 20.00-22.00 น.)
2.โทรหาซิมทรู….ไม่ใช่ระบบ MLM ฟรี 20 ชั่วโมง ( ยกเว้น เวลา 18.00-22.00 น.)
3.โทรนอกเครือข่ายเดือนละ 200 นาที นาทีละ 1 บาท (ตอนนี้เพิ่มเป็น 300 บาทแล้ว เพิ่มให้ 100บาท ในวันรุ่งขึ้นของวันที่สมัคร *9394 แล้ว)

แผนการตลาด
ค่าแนะนำได้ทุกเดือน
เราต้องแนะนำให้ทุกคนที่เรารู้จักใช้ซิมนี้ แนะนำได้ไม่จำกัด
ทุกครั้งที่มีการเติมเงินประจำเดือน
ผู้แนะนำจะได้ผลตอบแทน ดังนี้

1.ชั้นลูกเติมเงิน เราได้ค่าแนะนำ 51 บาท(ได้ทุกเดือน)
2.ชั้นหลานเติมเงิน เราได้ผลตอบแทน 39 บาท(ได้ทุกเดือน)
3.ชั้นเหลนเติมเงิน เราได้ผลตอบแทน 30 บาท(ได้ทุกเดือน)
4.ชั้นโหลนเติมเงิน เราได้ผลตอบแทน 21 บาท(ได้ทุกเดือน)
5.ชั้นลื่อเติมเงิน เราได้ผลตอบแทน 9 บาท(ได้ทุกเดือน)
(รายได้ตามข้อ 1 – 5 ได้ไม่จำกัด ไม่อั้น)
6.ค่าบริหารองค์กรทีมอ่อน
ทุกครั้งที่สมาชิกใต้สายงานเติมเงิน 1,000 บาท
จะมีคะแนนเกิดขึ้น 300 คะแนน
เฉพาะคะแนนข้างอ่อน จ่ายให้เรา 15%(โปรโมชั่น ธ.ค.-มี.ค.55 ปรับให้ 25%)
สูงสุดไม่เกินเดือนละ 2 ล้านบาท

สนใจคลิ๊ก

http://realnetworkings.com/regist.html
ติดต่อสอบถาม คุณธีรวัฒน์ สุขมล โทร 085-9549109

เรียลเน็ตเวิร์ค ครั้งแรกของไทยและของโลก

เรียลเน็ตเวิร์ค
เรียลเน็ตเวิร์ค ครั้งแรกของไทยและของโลก นั่นคือ สัญญาณโทรศัพท์มือถือเข้ามาในระบบเครือข่ายจ่ายผลตอบแทนแบบ เรียลเน็ตเวิร์ค MLM ในอดีตที่ผ่านมานับตั้งแต่ประเทศไทยมีโทรศัพท์มือถือ ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือไม่เคยได้รับเงินปันผลจากการใช้โทรศัพท์แม้แต่บาทเดียว แต่หลังจากนี้เป็นต้นไป คนใช้โทรศัพท์มือถือมีโอกาสได้รับเงินปันผลทุกสัปดาห์ทุกเดือน
หลักการธุรกิจสัญญาณโทรศัพท์มือถือในระบบเครือข่ายจ่ายผลตอบแทนแบบ MLM

จุดเด่นของธุรกิจเครือข่าย เรียลเน็ตเวิร์ค
1. สัญญาณมือถือ เห็นผลเร็วภายใน 1 – 2 นาที เพียงใส่ซิมการ์ดแล้วเปิดโทรศัพท์มือถือก็รู้ได้ทันทีว่าสัญญาณ ชัดเจนหรือไม่ ลองโทรดูก็ทราบได้ทันทีว่ารับเข้าโทรออกชัดเจนเพียงใด ต่างจากอาหารเสริม ปุ๋ย เครื่องสำอาง และ สินค้าอื่นๆ ที่ต้องรอผลหลายวัน
2. สัญญาณมือถือ ไม่ต้องแจกให้ทดลองใช้ ฟรี เพราะทุกคนทราบถึงประสิทธิภาพดีอยู่แล้ว
3. สัญญาณมือถือ ไม่ต้องซื้อรักษายอด เพราะการจ่ายค่าโทรรายเดือนหรือเติมเงินรายเดือนถือเป็นการรักษายอดไปในตัว
4. สัญญาณมือถือ ตลาดกว้างใหญ่มาก ตั้งแต่เด็กอนุบาล ถึง ผู้สูงอายุล้วนต้องใช้โทรศัพท์มือถือทั้งสิ้น ว่ากันว่า คนไทย 65 ล้านคน ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่จะไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ จึงช่วยให้สมาชิกขยายธุรกิจได้อย่างกว้างไกล ไร้ขีดจำกัด และ ไม่มีคู่แข่งขัน
5. สัญญาณมือถือ ใช้เปิดใจลูกค้าใหม่ง่าย หลังจากนั้นจึงนำเสนอสินค้าอื่นๆ ของ บริษัทฯ ให้ลูกค้าพิจารณาต่อไป
6. สัญญาณมือถือ ไม่ต้องบริการหลังการขายให้ยุ่งยาก เพราะหลังจากแนะนำเขาเป็นสมาชิกแล้ว หลังจากนั้นทุกๆ เดือน เขาก็ไปจ่ายเงินค่าแอร์ไทม์ที่ร้านเซเว่นฯ ไปรษณีย์ เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือ ธนาคาร การจ่ายเงินของสมาชิกไม่ว่าจ่ายที่ใดก็ล้วนถือว่าเป็นการรักษายอดไปในตัว
7. สัญญาณมือถือ เป็นครั้งแรกที่เข้าร่วมกับธุรกิจเครือข่ายจ่ายผลตอบแทนแบบ MLM ดังนั้น ใครที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกเพื่อขยายธุรกิจนี้ จึงนับว่า เป็นต้นสายของธุรกิจนี้ ซึ่งในอนาคตจะมีคนไทยนับล้านๆ คนเข้าร่วมธุรกิจนี้กับคุณ
8. สัญญาณมือถือ ธุรกิจเครือข่ายโดย เดอะวินเนอร์กรุ๊ป สมาชิกทุกคนได้รับเว็บไซต์ขยายธุรกิจฟรี ดังนั้น สมาชิกอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ ขยายธุรกิจได้ตลอด 24 ชั่วโมง แม้นอนหลับแล้วเว็บไซต์ก็ยังทำงานแทนท่าน
9. สัญญาณมือถือ กำลังก้าวเข้าสู่ระบบ 3G ซึ่ง สมาชิกของ เรียลเน็ตเวิร์ค จะได้ใช้ระบบ 3G ก่อนใครทั้งหมด เพราะสัญญาณมือถือในระบบเครือข่าย คือ ระบบ 3G เจ้าแรกของประเทศไทย
10. สัญญาณมือถือ ในอดีตที่ผ่านมาทุกคนต้องจ่าย จ่าย จ่าย….ไม่เคยเลยที่จะได้รับเงินปันผล แต่สมาชิก เรียลเน็ตเวิร์ค จะเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่ได้รับเงินปันผลจากการใช้โทรศัพท์ และ สามารถเปลี่ยนค่าโทรเป็นรายได้อย่างน่าอัศจรรย์

สนใจ ติดต่อสอบถาม คุณธีรวัฒน์ สุขมล โทร 085-9549109
http://realnetworkings.com/regist.html

สุดยอดธุรกิจเครือข่าย

ทรู MLM สุดยอดธุรกิจเครือข่าย ใหม่แห่งศตวรรษ Real Network ปฏิวัติวงการเครือข่าย ด้วย ธุรกิจ ทรู MLM ไม่ต้อง ศึกษาสินค้าให้ยุ่งยาก สินค้ามีเพียง ซิมทรู เท่านั้น หากมองในด้านธุรกิจกับ ผลตอบแทนที่จะได้รับกลับมานั้น คุ้มเกินคาดครับ วันนี้ เพียงท่าน เข้ามาศึกษา ผลตอบแทนที่จะได้รับจาก ทรู MLM ท่านจะรู้ท่านทีว่า ทำงานแค่น้อยนิด ก็ได้ รับเงินคืนอย่างง่ายๆแล้ว - ไม่ต้องศึกษา สินค้าให้ยุ่งยาก - สินค้าพบเห็นอยู่ทุกวัน - แนะนำง่าย - เราไม่ได้ขายสินค้า แต่เรา ขายธุรกิจ พบกับ ทรู MLM

คลิ๊กลิงค์

http://realnetworkings.com/regist.html
สนใจ ติดต่อ คุณธีรวัฒน์ สุขมล โทร 085-9549109

วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ธุรกิจเครือข่ายอินเตอร์เน็ต realnetwork

ธุรกิจเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ยิ่งใหญ่ true success sim realnetwork เป็น ธุรกิจเครือข่ายของบริษัท true ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่าทางธุรกิจกว่าหมื่นล้านบาท และยังเป็นผู้นำด้านสัญญาณโทรศัพท์มือถือของประเทศไทย โดยทางบริษัทได้ให้โอกาสกับผู้ใช้โทรศัพท์ได้มีส่วนร่วมในการทำธุรกิจครั้งนี้ เพียงแค่มี sim และใช้โทรศัพท์ตามปกติ คุณก็สามารถมีส่วนร่วมกับธุรกิจเครือข่ายนี้ อีกทั้งยังสามารถทำเงินได้ไม่จำกัดขึ้นอยู่กับจำนวนเครือข่ายของคุณเอง แผนการตลาด true mlm success sim realnetwork รายได้จะมาจากการที่เราใช้ success sim และทำการเติมเงินค่าโทรตามปกติและจากการสร้างเครือข่ายแนะนำสมาชิกครับ โดยเงินจะคิดจากแต้ม RV (real value) ซึ่งจะได้มาจากการเติมเงินค่าโทร (เติมเงิน 1,000 บาท จะได้รับ 300RV)

ยอดรายได้จากการแนะนำสมาชิกกันครับ
1. รายได้จากการที่เราแนะนำสมาชิกขั้นที่ 1 (ก็คือสมาชิกที่สมัครต่อจากเราโดยตรง) ตรงนี้เราจะได้ค่าแนะนำ 17% ซึ่งก็จะเท่ากับ ถ้าสมาชิกที่เราแนะนำเขาเติมเงิน 1,000 บาท เราก็จะได้รับเงิน 51 บาท คิดจากยอดเติมเงิน 1,000 บาท ได้แต้ม RV 300 ก็เอา 300 คูณ 17 % ก็เท่ากับ 51 บาทครับ
2. รายได้จากการที่ สมาชิกขั้นที่ 1 แนะนำสมาชิกขั้นที่ 2 (ก็คือสมาชิกที่สมัครต่อจากคนที่สมัครต่อเราอีกที) ตรงนี้เราจะได้ค่าแนะนำ 13% ซึ่งก็จะเท่ากับ ถ้าสมาชิกที่เราแนะนำเขาเติมเงิน 1,000 บาท เราก็จะได้รับเงิน 39 บาท คิดจากยอดเติมเงิน 1,000 บาท ได้แต้ม RV 300 ก็เอา 300 คูณ 13 % ก็เท่ากับ 39 บาทครับ
3. รายได้จากการที่ สมาชิกขั้นที่ 2 แนะนำสมาชิกขั้นที่ 3 (ก็คือสมาชิกที่สมัครต่อจากข้อ 2) ตรงนี้เราจะได้ค่าแนะนำ 10% ซึ่งก็จะเท่ากับ ถ้าสมาชิกที่เราแนะนำเขาเติมเงิน 1,000 บาท เราก็จะได้รับเงิน 30 บาท คิดจากยอดเติมเงิน 1,000 บาท ได้แต้ม RV 300 ก็เอา 300 คูณ 10% ก็เท่ากับ 30 บาทครับ
4.รายได้จากการที่ สมาชิกขั้นที่ 3 แนะนำสมาชิกขั้นที่ 4 (ก็คือสมาชิกที่สมัครต่อจากข้อ 3) ตรงนี้เราจะได้ค่าแนะนำ 7% ซึ่งก็จะเท่ากับ ถ้าสมาชิกที่เราแนะนำเขาเติมเงิน 1,000 บาท เราก็จะได้รับเงิน 21 บาท คิดจากยอดเติมเงิน 1,000 บาท ได้แต้ม RV 300 ก็เอา 300 คูณ 7% ก็เท่ากับ 21 บาทครับ
5.รายได้จากการที่ สมาชิกขั้นที่ 4 แนะนำสมาชิกขั้นที่ 5 (ก็คือสมาชิกที่สมัครต่อจากข้อ 4) ตรงนี้เราจะได้ค่าแนะนำ 3% ซึ่งก็จะเท่ากับ ถ้าสมาชิกที่เราแนะนำเขาเติมเงิน 1,000 บาท เราก็จะได้รับเงิน 9 บาท คิดจากยอดเติมเงิน 1,000 บาท ได้แต้ม RV 300 ก็เอา 300 คูณ 3% ก็เท่ากับ 9 บาทครับ
6. รายได้จากระบบเครือข่าย ตรงนี้จะมีรายได้ 15% ของคะแนน RV ของเครือข่ายทั้งหมดต่อเดือน (ไม่มีจุดสิ้นสุดยิ่งมีเครือข่ายเยอะก็ยิ่งได้เงินเยอะ) ยกตัวอย่างคุณมีคะแนน RV ของเครือข่ายเดือนนี้ 500,000 RV คุณก็จะมีรายได้ 500,000 คูณ 15% = 75,000 บาท/เดือนเลยทีเดียว
7.รายได้และสิทธิพิเศษจากโบนัส - มีโบนัสท่องเที่ยวต่างประเทศเมื่อหาสมาชิกต่อจากเราโดยตรงได้ 50 คน (เป็นโปรโมชันภายใน 3 เดือนแรกนับจากเปิดตัวธุรกิจ เปิดตัววันที่ 15 กฤกฏาคม 2554) - มีโบนัสให้กับสายงานที่มีเครือข่ายครบตามเงื่อนไข - มีโบนัสสะสมเป็นแต้มไว้สำหรับแลกของรางวัล โดยระบบ true mlm success sim realnetwork จะคิดเงินให้ในวันสุดท้ายของเดือนและจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของเราภายในวันที่ 20 ของเดือนถัดไป ยกตัวอย่างเช่น คุณทำยอดเดือน มิถุนายนได้ 50,000 บาท คุณก็จะได้รับเงินเข้าบัญชีธนาคารของคุณในวันที่ 20 กฤกฏาคม หมายเหตุ การแนะนำสมาชิกในแต่ขั้นสามารถแนะนำได้ไม่จำกัดจำนวน แต่จะมีสมาชิกติดตัวได้แค่ 2 คน คนถัดๆไปที่เราหาก็จะถูกนำไปต่อให้กับลูกทีมคนอื่นๆของเราตามลำดับขั้น(แต่เราก็ยังได้รับค่าแนะนำจากข้อ 1 ตามปกติ) ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นข้อดีของระบบ true mlm success sim realnetwork ที่จะทำให้สมาชิกช่วยเหลือกันในการสร้างเครือข่าย

ข้อดีของ true mlm success sim realnetwork
1. สินค้าก็คือค่าโทรศัพท์มือถือ ซึ่งตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่าโทรศัพท์มือถือเป็นปัจจัยที่ 5 ที่ทุกคนต้องมีและต้องใช้อยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งปกติเราก็มีแต่จะต้องจ่ายค่าโทรศัพท์อย่างเดียวแต่ true mlm success sim realnetwork สามารถเปลี่ยนค่าโทรศัพท์นั้นเป็นเงินได้
2. เป็นธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง True ซึ่งรับประกันได้ว่าน่าเชื่อถือและถูกกฎหมายแน่นอน อีกทั้งยังมีความมั่นคงสามารถทำเป็นอาชีพหลักไปได้ตลอด ไม่มีการจำกัดรายได้
3. เป็นธุรกิจที่พึ่งจะเปิดตัว ซึ่งเราเป็นต้นสายในการทำงานแน่นอน ยิ่งเป็นระบบที่รันสมาชิกจากข้างบนลงไปข้างล่างเรื่อยๆ ยิ่งเป็นต้นสายเท่าไรก็ยิ่งจะประสบความสำเร็จเร็วขึ้นเท่านั้น
4. มีสิทธิประโยชน์จากการใช้ sim ตัวนี้ คือ - โทรฟรีไม่อั้น ในกลุ่มเพื่อนสมาชิก (ยกเว้นช่วง 2 ทุ่ม - 4 ทุ่ม) - โทรฟรีไม่อั้น ในเครือข่ายทรูมูฟ (ยกเว้นช่วง 6 โมงเย็น - 4 ทุ่ม) - โบนัสพิเศษ 200 บาท ใช้โทรได้ทุกเครือข่าย นาทีละ 1 บาท ส่ง SMS และ MMS ราคาพิเศษ ข้อความละ 1.25 บาท * วิธีเช็คยอดเงินโบนัสพิเศษ กด *510*7# แล้วกดโทรออก (ฟรี) *ตรวจสอบระยะเวลาใช้งานของแพ็กเกจโทรฟรีไม่อั้น กด *931*0# แล้วกดโทรออก (ฟรี)
5. มีแพ็กเกจเสริมสำหรับเล่นเน็ต - เน็ตคุ้มคิดง่ายเป็นนาที * ค่าบริการ EDGE/GPRS และ WiFi ส่วนเกินจากแพ็กเกจนาทีละ 1 บาท หรือขึ้นอยู่กับโปรโมชันหลักที่ใช้งาน - เน็ตแรงคิดตามจริงเป็นเมกะไบท์ * ค่าบริการ EDGE/GPRS ส่วนเกินจากแพ็กเกจ เมกะไบท์ละ 10 บาท หรือขึ้นอยู่กับโปรโมชันหลักที่ใช้งาน * ค่าบริการ WiFi ส่วนเกินจากแพ็กเกจนาทีละ 1 บาท หรือขึ้นอยู่กับโปรโมชันหลักที่ใช้งาน
6. ใช้ทรูมูฟโทรไปต่างประเทศก็ได้ เอาไปใช้ที่ต่างประเทศก็ดี
7. สมาชิกของ true mlm success sim realnetwork จะได้ใช้ระบบ 3G ก่อนใครทั้งหมด เพราะสัญญาณมือถือในระบบเครือข่าย คือ ระบบ 3G เจ้าแรกของประเทศไทย

ข้อดีที่จะมาร่วมทำงาน true mlm success sim realnetwork กับทางทีมงานของเรา
1. ทีมงานเราเป็นทีมงานที่ทำงานผ่านเน็ตเป็นอาชีพหลักซึ่งมีเครือข่ายอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว ถ้าคุณมาร่วมงานกับทางเราก็จะช่วยทำให้คุณประสบความสำเร็จได้เร็วเพราะระบบของ true mlm success sim realnetwork เป็นระบบที่ให้หาสมาชิกติดตัวได้ 2 คนเท่านั้น ถ้ามีสมาชิกคนที่ 3 มาสมัครต่อก็จะกลายเป็นลูกทีมของลูกทีมเราทันที ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้คุณได้ลูกทีมจากเครือข่ายของเรานั้นเอง
2. ทางเรามีเว็บโปรโมทและระบบโปรโมทแบบมืออาชีพให้กับสมาชิกไว้ใช้สำหรับหาสมาชิก
3. หลังจากสมัครสมาชิกเรียบร้อยแล้วทางเราจะทำการจัดส่ง SIM และคู่มือการทำงานไปให้ ซึ่งคุณสามารถเริ่มทำงานได้ทันที
4. ถ้าคุณมีเครือข่ายลูกทีม คุณไม่ต้องเป็นคนจัดส่ง SIM หรือจัดการข้อมูลอะไรเลย ทางเราจะเป็นฝ่ายดำเนินการให้เองทั้งหมด ทั้งการจัดส่ง SIM และคู่มือการทำงานให้กับลูกทีมของคุณและแนะนำการทำงาน (แต่ถ้าคุณต้องการเป็นคนจัดการเรื่องนี้เองก็ได้ครับ)

คลิ๊กลิงค์

http://realnetworkings.com/regist.html

สนใจติดต่อ คุณธีรวัฒน์ สุขมล 085-9549109

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

โมฆะกรรม และ โมฆียะกรรม

โมฆะกรรม และ โมฆียะกรรม ต่างกันดังนี้

โมฆะกรรม
การกระทำที่เป็นการสูญเปล่า เสียเปล่า ไม่อาจบังคับกันได้ตามกฎหมาย
หรือสูญเปล่าตั้งแต่เริ่มแรก
ปพพ. (ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์) มาตรา ๑๗๒
โมฆะกรรม นั้น ไม่อาจ ให้สัตยาบัน แก่กันได้ และ ผู้มีส่วนได้เสีย คนหนึ่งคนใด จะยกความเสียเปล่า แห่งโมฆะกรรม ขึ้นกล่าวอ้าง ก็ได้
ถ้า จะต้องคืน ทรัพย์สิน อันเกิดจาก โมฆะกรรม ให้นำ บทบัญญัติว่าด้วย ลาภมิควรได้ แห่งประมวลกฎหมายนี้ มาใช้บังคับ
มาตรา ๑๗๒ โมฆะกรรม
มาตรา ๑๗๓ ส่วนหนึ่งส่วนใดเป็นโมฆะ
มาตรา ๑๗๔ เข้าลักษณะนิติกรรมอย่างอื่น ที่ไม่เป็นโมฆะ


โมฆียะกรรม
การกระทำที่ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย จนกว่าจะถูกบอกล้าง
กฎหมายใช้คำว่า บอกล้าง เมื่อสัญญาถูกบอกล้าง ก็จะตกเป็นโมฆะ เพราะถูกบอกล้าง แต่ถ้ามีการแสดงเจตนารับรองการทำนิติกรรมสัญญา กฎหมายเรียกว่าการให้สัตยาบัน ก็จะทำให้ สัญญานั้นสมบูรณ์ ไม่อาจบอกล้างต่อไปได้
ปพพ. มาตรา ๑๗๖
ส่วน โมฆียะกรรม เมื่อ บอกล้างแล้ว ให้ถือว่า เป็นโมฆะ มาแต่เริ่มแรก และ ให้ผู้เป็นคู่กรณี กลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้า เป็นการพ้นวิสัย จะให้กลับคืน เช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับ ค่าเสียหายชดใช้ให้แทน
ถ้า บุคคลใด ได้รู้ หรือ ควรจะได้รู้ว่า การใดเป็นโมฆียะ เมื่อ บอกล้างแล้ว ให้ถือว่า บุคคลนั้น ได้รู้ว่า การนั้นเป็นโมฆะ นับแต่วันที่ ได้รู้ หรือ ควรจะได้รู้ว่า เป็นโมฆียะ
ห้ามมิให้ ใช้สิทธิเรียกร้อง อันเกิดแต่ การกลับคืนสู่ ฐานะเดิม ตามวรรคหนึ่ง เมื่อพ้นหนึ่งปี นับแต่ วัน บอกล้างโมฆียะกรรม
มาตรา ๑๗๕ ผู้มีสิทธิบอกล้าง หรือ ให้สัตยาบัน แก่โมฆียะกรรม
มาตรา ๑๗๖ ผลของการบอกล้าง โมฆียะกรรม
มาตรา ๑๗๗ ผลของการให้สัตยาบัน แก่โมฆียะกรรม
มาตรา ๑๗๘ วิธีบอกล้าง หรือ ให้สัตยาบัน
มาตรา ๑๗๙ ระยะเวลาให้สัตยาบัน
มาตรา ๑๘๐ การให้สัตยาบันโดยปริยาย
มาตรา ๑๘๑ ระยะเวลาบอกล้าง โมฆียกรรม


โมฆะ หมายถึง นิติกรรมใดๆที่ทำนั้นเป็นอันเสียเปล่าตั้งแต่ต้น ผลก็คือ เสมือนว่าไม่เคยมีการทำนิติกรรมนั้นมาก่อน(นิติกรรม=สัญญาต่างๆ)
โมฆียะ หมายถึง การไม่สมบูรณ์ของนิติกรรมต่างๆ โมฆียะนี้ให้ให้ผลสองทางคือ ยอมรับนิติกรรมนั้น หรือ ปฏิเสธนิติกรรมนั้น
๑. ยอมรับนิติกรรม ก็คือสัญญาต่างๆที่เป็นโมฆียะ และเรายอมรับหรือตกลงหรือยืนยังที่จะยังคงทำนิติกรรมนั้นต่อไป
๒. ปฏิเสธนิติกรรมนั้น ก็คือสัญญาต่างๆที่ไม่สมบูรณ์บางส่วน เมื่อเรารู้ถึงความไม่สมบูรณ์ของนิติกรรมนั้นเราจึงปฏิเสธไม่ยอมรับนิติกรรมนั้น ทำให้ผลกลายเป็นเสียเปล่า ผลข้อนี้จะเหมือนกับโมฆะ หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า เมื่อเราปฏิเสธผลนั้นก็จะกลายเป็นโมฆียะทันที


นิติกรรมที่เป็นโมฆะ คือนิติกรรมที่ถือว่าไม่ได้มีอะไรกันมาตั้งแต่ต้น โดยหากเป็นโมฆะแล้ว คู่สัญญาให้คืนกลับฐานนะเดิมเช่น สัญญาซื้อขายที่เป็นโมฆะก็คือไม่มีการทำสัญญากันเลย ให้ผู้ซื้อคืนทรัพย์ให้ผู้ขาย และให้ผู้ขายคืนราคาให้แก่ผู้ซื้อ คือถือว่าไม่ได้มีการทำสัญญากันเกิดขึ้นเลย และที่สำคัญคือนิติกรรมที่เป็นโมฆะจะไม่สามารถให้สัตยาบันได้ เช่นการทำนิติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย นิติกรรมที่พ้นวิสัย
นิติกรรมที่เป็นโมฆียะคือนิติกรรมที่ไม่สมบูรณ์มาแต่ต้น สามารถให้สัตยาบัน หรือบอกล้างได้โดยผู้ที่มีอำนาจปกครองเช่นผู้ปกครองของผู้เยาว์ ผู้พิทักษ์ของผุ้เสมือนไร้ความสามารถ เช่นผู้เยาว์ทำสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองถือว่าเป็นโมฆียะ หากภายหลังผู้ปกครอง(พ่อ แม่) ทราบแล้วยอมให้สัตยาบันก็ถือว่าสัญญานั้นเป็นสัญญาที่สมบูรณ์มาตั้งแต่ต้น แต่ถ้าผู้ปกครองไม่ยินยอมก็จะบอกล้างสํญญานั้น ก็ถือว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะคือเสียมาตั้งแต่ต้น คนขายรถก็ต้องคืนเงิน ผู้เยาว์ก็ต้องเอารถไปคืน การทำนิติกรรมโดยสำคัญผิด ถูกข่มขู่ กลฉ้อฉลก็ถือว่าเป็นโมฆียะได้
มีอาจารย์บางท่านเปรียบเทียบคำว่าโมฆะเหมือนเมล็ดข้าวที่เสียแล้ว ไม่สามารถนำไปปลูกให้ขึ้นได้อีก ส่วนโมฆียะเสมือนเมล็ดข้าวที่แคระแกรน สามารถนำไปปลูกให้งอกเป็นต้นได้แต่ไม่สมบูรณ์ หากดูแลดีต้นข้าวก็สามารถเจริญเติบโตดีคือการให้สัตยาบัน หากไม่ดูแลต้นข้าวก็จะตายก็คือการบอกล้างนั่นเอง


โมฆะกรรม หมายถึง นิติกรรมที่ทำขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่มีผลตามกฎหมาย เช่น สัญญาเงินกู้ที่มีการเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

โมฆียะกรรม หมายถึง นิติกรรมที่ทำโดยบุคคลที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย เช่น บุคคลไร้ความสามารถนิติกรรมนั้นจึงไม่สมบูรณ์ สามารถบอกล้างได้ เมื่อบอกล้างแล้วจึงกลายเป็นไม่มีผลตามกฎหมาย

การขอใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ชั่วคราว

การขอใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ชั่วคราว
ข้อมูลจาก กรมการขนส่งทางบก


หลักเกณฑ์ / คุณสมบัติ


ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ หรือเรียกง่ายๆว่า "ใบขับขี่" นั้น


1. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ (ยกเว้นสำหรับรถจักรยานยนต์ความจุ กระบอกสูบขนาดไม่เกิน 90 ซีซี ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์)

2. ต้องไม่เป็นผู้มีร่างกายบกพร่อง เช่น ตาบอด ตาบอดสี หรือหูหนวก


เอกสารที่ใช้

1. บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่น ซึ่งใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชน หรือใบสำคัญ ประจำตัวคนต่างด้าวพร้อมภาพถ่าย

2. สำเนาทะเบียนบ้านหรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่พร้อมภาพถ่าย

3. ใบรับรองแพทย์ แสดงว่าผู้ขอไม่มีโรคประจำตัวอันอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ และไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน

4. รูปถ่าย ขนาด 1 นิ้ว ซึ่งถ่ายไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 2 รูป


หมายเหตุ กรณีที่เป็นชาวต่างประเทศ ให้ใช้หนังสือเดินทางที่ได้รับ VISA ประเภท NON - IMMIGRANT แทนบัตรประจำตัวประชาชน และหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย จากสถานทูต หรือหน่วยราชการ แทนสำเนาทะเบียนบ้าน



หมายเหตุ ถ้าผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถมีใบอนุญาตขับรถดังต่อไปนี้ให้นำมาด้วย พร้อมภาพถ่าย เพื่อจะได้รับสิทธิ์ยกเว้นการทดสอบบางประการ ดังนี้

- - ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกซึ่งยังไม่สิ้นอายุพร้อมภาพถ่าย จะได้รับยกเว้นไม่ต้องทดสอบใด ๆ

- - ใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร

- - ใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลหรือรถจักรยานยนต์ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนนทำ ณ นครเจนิวา ค.ศ.1949

- - ใบอนุญาตขับรถซึ่งต่างประเทศออกให้และยังไม่สิ้นอายุ พร้อมภาพถ่าย โดยใบอนุญาตขับรถต่างประเทศดังกล่าวต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษหรือแปลเป็นภาษาไทย ซึ่งรับรองคำแปลโดยสถานทูตมาด้วย จะได้รับยกเว้นไม่ต้องทดสอบข้อเขียน และทดสอบขับรถ


ขั้นตอนการดำเนินงาน

1. ยื่นคำขอพร้อมหลักฐานประกอบคำขอ

2. เข้ารับการอบรมโดยใช้เวลาอบรม 2 ชั่วโมงเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราาจรทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์และการขับรถที่ถูกต้องปลอดภัย รอบเช้า 8.00-9.00 น. รอบบ่าย 13.00 น.

3. เข้ารับการทดสอบสายตาบอดสีโดยให้อ่านสีในแผ่นทดสอบ

4. เข้ารับการทดสอบข้อเขียนเกี่ยวกับข้อบังคับในการเดินรถ

5. เข้ารับการทดสอบขับรถ

6. เสียค่าธรรมเนียมคำขอ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขับรถ

7. รอรับใบขับขี่



สถานที่ติดต่อ / ค่าธรรมเนียม

ผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ ให้ยื่นคำขอที่สำนักทะเบียนและภาษีรถ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานขนส่งเขตพื้นที่ 1, 2, 3 และ 4

ผู้มีลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ให้ยื่นคำขอที่ สำนักงานขนส่งจังหวัด หรือสำนักงานขนส่งจังหวัดสาขา


การขอใบอนุญาตขับรถ
ใบอนุญาตขับรถมี 11 ชนิด คือ

(1) ใบอนุญาตขับรถชั่วคราว
- ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว
- ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลชั่วคราว
- ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว
(2) ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล
(3) ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล
(4) ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ
(5) ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ
(6) ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล
(7) ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ
(8) ใบอนุญาตขับรถบดถนน
(9) ใบอนุญาตขับรถแทรกเตอร์
(10) ใบอนุญาตขับรถชนิดอื่นนอกจาก (1) ถึง (9)
(11) ใบอนุญาตขับรถตามความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี


มาดูวิธีการทำใบขับขี่รถกันเถอะ


นำข้อมูลมาจาก http://www.dlt.go.th/driving_hp/contactdrl/drl-right09.htm ครับ

การทดสอบการขับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ แบ่งเป็น 3 ตอน คือ

(1) การทดสอบสมรรถภาพของร่างกาย
(2) การทดสอบข้อเขียน
(3) การทดสอบขับรถ

การทดสอบสมรรถภาพของร่างกาย



1. ทดสอบสายตาทางกว้าง ถ้าสามารถมองเห็นทั้งด้านซ้ายและด้านขวา เป็นมุมกว้างข้างละ 75 องศา 2 ใน 3 ครั้ง ให้ถือว่าผ่านการทดสอบ

2. ทดสอบสายตาทางลึก ให้ทดสอบการมองเห็นในระยะ 2.50 - 3.50 เมตร รวม 3 ครั้ง หากผลการทดสอบห่างจากจุดที่กำหนดไม่เกินกว่า 1 นิ้ว 2 ใน 3 ครั้ง ให้ถือว่าผ่าน
การทดสอบ โดยการทดสอบจะให้เรานั่งใช่ปุ่มบังคับให้เสาเล็กๆ ให้มาอยู่ในแนวตรงกัน หรือใกล้เคียง

3. ทดสอบสายตาบอดสี ให้ดูสีเขียว สีแดง และสีเหลืองจากเครื่องทดสอบหรือแผ่นภาพทดสอบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดหรือเห็นชอบ โดยอยู่ห่างจากแผ่นภาพทดสอบ
ในระดับสายตาระยะไม่น้อยกว่า 3 เมตร แล้วอ่านสีตามที่เจ้าหน้าที่กำหนดสีละ 3 ครั้ง หากอ่านได้ถูกต้อง 2 ใน 3 ครั้ง ให้ถือว่าผ่านการทดสอบ

4. การทดสอบปฏิกิริยา ให้ทดสอบความสามารถในการใช้เบรกเท้ารวม 3 ครั้ง หากสามารถเหยียบเบรกได้ในระยะเวลาน้อยกว่า หรือเท่ากับ 0.75 วินาที 2 ใน 3 ครั้ง ให้ถือ
ว่าผ่านการทดสอบ

การทดสอบข้อเขียน จะต้องเข้าห้องอบรม 2 ชั่วโมง อบรมความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจร กฎหมายว่าด้วยรถยนต์,กฎหมายทางหลวง และการขับรถที่ถูกต้องปลอดภัย



ผู้เข้ารับการทดสอบข้อเขียนต้องทดสอบความรู้ในข้อควรปฏิบัติ หรือข้อบังคับการเดินรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ตามชนิดของใบอนุญาต กรณีเป็นการทดสอบสำหรับการขอรับใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ต้องทดสอบความรู้เกี่ยวกับถนนและทางหลวงในเขตจังหวัดที่ขอรับใบอนุญาตขับรถนั้นด้วย

กรณีทดสอบข้อเขียนในเขตกรุงเทพมหานคร จะใช้วิธีการทดสอบด้วยระบบ E-exam จำนวน 30 ข้อ ข้อละ 1 คะแนน และต้องได้ 23 คะแนนขึ้นไปจึงจะถือว่าผ่านการทดสอบ แต่ถ้าเป็นสำนักงานขนส่งจังหวัดอื่น ๆ ใช้วิธีการทดสอบโดยแบบทดสอบ ซึ่ง แบบทดสอบข้อเขียนเป็นแบบปรนัย มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 ชุด แต่ละชุดมี 30 ข้อ ๆ ละ 1 คะแนน หมุนเวียนสับเปลี่ยน แต่ละชุดตามความเหมาะสม โดยใช้เวลาทดสอบประมาณ 30 นาที และต้องได้คะแนน 22 คะแนน ขึ้นไป จึงถือว่าผ่านการทดสอบ ส่วนรถจักรยานยนต์ แต่ละชุดมี 20 ข้อ และต้องได้คะแนน 15 คะแนนขึ้นไป จึงถือว่าผ่านการทดสอบ

กรณีผู้เข้ารับการทดสอบอ่านและเขียนหนังสือไม่ได้ ให้เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการทดสอบอ่านคำถามให้ฟังแล้วให้ผู้เข้ารับการทดสอบตอบด้วยปากเปล่า และทำเครื่องหมายด้วยตนเอง และให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการทดสอบบันทึกในกระดาษคำตอบว่า "สอบปากเปล่า" พร้อมทั้งลงนามกำกับไว้เป็นหลักฐานเมื่อเสร็จสิ้นการสอบ ให้รีบตรวจคำตอบ
และแจ้งผลการทดสอบให้ทราบโดยเร็ว

การทดสอบขับรถยนต์ ให้ทดสอบขับรถ จำนวน 3 ท่า คือ ท่าที่ 1 และท่าที่ 2 เป็นท่าบังคับ และเลือกทดสอบอีก 1 ท่าตามความเหมาะสมของสนามทดสอบ ยกเว้นรถเกียร์
อัตโนมัติไม่ใช้ท่าที่ 4 (มักเป็นท่าที่ 5 อ่ะ)



ท่าที่ 1 การขับรถเดินหน้าและหยุดรถเทียบทางเท้า
ผู้เข้ารับการทดสอบต้องขับรถเดินหน้าตั้งแต่เริ่มขับรถอย่างต่อเนื่องไปจนถึงจุดทดสอบที่กำหนดให้หยุดรถ โดยให้หยุดรถได้เพียงครั้งเดียว ณ จุดที่กำหนดให้หยุดเท่านั้น ด้านซ้ายของรถต้องขนานขอบทางและห่างจากขอบทางไม่เกิน 25 เซนติเมตร กันชนหน้าหรือล้อหน้าสุดหรือขอบล้อสำหรับที่ไม่มีกันชนหน้าต้องไม่ล้ำเกินจุดหยุดรถข้างทาง และต้องอยู่ห่างจากจุดหยุดรถนั้น ไม่เกิน 1 เมตร และต้องไม่ขับรถปีนทางเท้าหรือขอบทาง

ท่าที่ 2 การขับรถเดินหน้าและถอยหลังในทางตรง ให้เลือกทดสอบแบบใดแบบหนึ่ง ดังนี้
แบบที่ 1 ให้ขับรถเดินหน้าและถอยหลังออกโดยตลอดช่องเดินรถ ซึ่งประกอบด้วยหลักที่ตั้งไว้ในแนวตรงขนานกัน 2 แถว มีความยาวประมาณ 10 - 12 เมตร หลักแต่ละหลักในแถวเดียวกัน มีระยะห่าง 1.5 เมตร ส่วนความกว้างของช่องเดินรถเท่ากับความกว้างสุดของตัวรถรวมกระจกมองข้างบวกเพิ่มอีก 0.5 ิเมตร ต้องไม่ขับรถชนหรือเบียดหลัก ให้ขับรถเดินหน้าหรือถอยหลังได้เพียงครั้งเดียว และเครื่องยนต์ต้องไม่ดับ
แบบที่ 2 ให้ขับรถเดินหน้าและถอยหลังออกโดยตลอดช่องเดินรถ ซึ่งมีขนาดความกว้าง 2.50 เมตร ยาว 10 - 12 เมตร เป็นระยะคงที่ใช้กับรถทุกขนาด ล้อรถต้องไม่ทับเส้น หรือไม่ชน หรือเบียดหลัก ให้ขับรถเดินหน้าและถอยหลังได้เพียงครั้งเดียว และเครื่องยนต์ต้องไม่ดับ

ท่าที่ 3 การขับรถถอยหลังเข้าจอดและออกจากช่องว่างด้านซ้าย
ให้ขับรถถอยหลังเข้าจอดในช่องว่างด้านซ้ายซึ่งประกอบด้วยหลักไม่น้อยกว่า 9 หลัก เป็นช่องกว้างเท่ากับความกว้างของรถรวมกระจกมองข้างบวกเพิ่มข้างละ 0.5 เมตร ความยาวของช่องจอดเท่ากับความยาวของตัวรถบวกเพิ่มอีก 2.5 เมตร ตั้งแต่เริ่มเข้าเกียร์ขับรถถอยหลังเข้าจอดจนกระทั่งขับออกจากช่องว่างด้านซ้ายต้องเข้าเกียร์หรือเปลี่ยนเกียร์ไม่เกิน 7 ครั้ง ต้องไม่ชนหรือเบียดหลัก และตัวรถต้องขนานกับขอบทางหรือหลักด้านซ้าย ล้อรถต้องไม่ทับเส้นแบ่งช่องทาง

ท่าที่ 4 การหยุดรถและออกรถบนถนนลาด (สำหรับรถเกียร์ธรรมดา)
ให้ขับรถขึ้นเนินหรือสะพานโค้งแล้วหยุดรถบนเชิงลาดของเนินหรือสะพานโค้งนั้น โดยให้กันชนหน้าอยู่ที่จุดหยุดรถแล้วออกรถข้ามเนินหรือสะพานโค้งนั้นไปโดยปลอดภัย ต้องไม่ขับรถในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเป็นเหตุให้ตัวรถเคลื่อนถอยจากจุดที่หยุดเกินกว่า 1 เมตร และเครื่องดับไม่เกิน 2 ครั้ง

ท่าที่ 5 การกลับรถ
ให้กลับรถในช่องเดินรถ ซึ่งประกอบด้วยหลักที่ตั้งไว้ขนานกัน 2 แถว มีความยาวประมาณ 10 - 12 เมตร หลักในแต่ละแถวห่างกัน 1.5 เมตร ส่วนความกว้างของช่องเดินรถเท่ากับความยาวของรถบวกเพิ่มอีก 2 เมตร ต้องไม่ขับรถชน หรือเบียดหลัก และตั้งแต่เริ่มขับรถเพื่อกลับรถ จนกระทั่งกลับรถแล้วเสร็จต้องเปลี่ยนเกียร์ไม่เกินกว่า 7 ครั้ง

ท่าที่ 6 การขับรถเดินหน้าเข้าจอดในช่องที่เป็นมุมฉาก
ให้ผู้เข้ารับการทดสอบขับรถจากจุดเริ่มต้นให้ขับเดินหน้าเข้าไปในช่องจอดที่เป็นมุมฉาก ซึ่งประกอบด้วยหลักที่ตั้งเป็นแนวทดสอบ 2 แถว ขนานกันเป็นช่องเดินรถกว้าง 8 เมตร ยาวประมาณ 10 -20 เมตร และหลักอีก 2 แถวที่ตั้งเป็นแนวช่องจอดที่เป็นมุมฉากกับช่องเดินรถที่มีความกว้างเท่ากับความกว้างของตัวรถรวมกับกระจกมองข้างบวกเพิ่มอีกข้างละ 1 เมตร ความยาวเท่ากับความยาวของตัวรถบวกเพิ่มอีก 1 เมตร

ท่าที่ 7 การขับรถโดยปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร
ให้ขับรถโดยปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร ไม่น้อยกว่า 8 เครื่องหมาย คือ ป้ายหยุด ห้ามเลี้ยวซ้ายหรือห้ามเลี้ยวขวา ให้เลี้ยวซ้ายหรือให้เลี้ยวขวา ห้ามหยุดรถ ห้ามเข้า และเครื่องหมายอื่นๆ อีก 3 เครื่องหมาย และต้องให้สัญญาณไฟตามจุดต่างๆ ได้ถูกต้องทุกแห่ง

การทดสอบขับรถจักรยานยนต์ ให้ทดสอบจำนวน 3 ท่า คือ ท่าที่ 1 เป็นท่าบังคับ และเลือกทดสอบอีก 2 ท่าตามความเหมาะสมของสนามทดสอบ (มักเป็นท่า 2 กับ 4)

ท่าที่ 1 การขับรถโดยปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร
ผู้เข้ารับการทดสอบต้องปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรไม่น้อยกว่า 5 เครื่องหมาย คือ ป้ายหยุด ห้ามเลี้ยวซ้ายหรือห้ามเลี้ยวขวา ให้เลี้ยวซ้ายหรือให้เลี้ยวขวา ห้ามหยุดรถ ห้ามเข้า และต้องให้สัญญาณไฟตามจุดต่างๆ ได้ถูกต้องทุกแห่ง

ท่าที่ 2 การขับรถทรงตัวบนทางแคบ
ต้องขับขี่โดยทรงตัวบนอุปกรณ์ที่ใช้ไม้กระดานกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 15 เมตร หรือใช้คอนกรีตเทเป็นแนวเส้นตรงตามขนาดดังกล่าวให้สูงประมาณ 2 - 3 เซนติเมตร โดยให้กำหนดจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดห่างจากไม่กระดานหรือแนวคอนกรีต 8 เมตร และต้องขับผ่านตลอดตั้งแต่ต้นจนจบใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 วินาที และเริ่มนับเวลาเมื่อล้อหลังขึ้นอยู่บนอุปกรณ์และสิ้นสุดเมื่อล้อหน้าลงจากอุปกรณ์ ในระหว่างขับ เท้าต้องไม่หลุดจากที่พักเท้า ล้อต้องไม่ตกหรือลื่นไถลจากอุปกรณ์ ใช้ความเร็วอย่างเหมาะสม และเครื่องต้องไม่ดับระหว่างทดสอบ

ท่าที่ 3 การขับรถผ่านทางโค้งรัศมีแคบรูปตัวแซด
ให้ขับรถในทางโค้งรัศมีแคบ ที่ใช้หลักหรือกรวยหรือใช้คอนกรีตเทเป็นรูปตัวแซด (Z) ที่มีช่องเดินรถกว้าง 2 เมตร กรวยหรือหลักห่างกัน 1.5 เมตร ฐานบนและฐานล่างของตัวแซด ยาว 5 เมตร ความยาวระหว่างฐานบนและฐานล่างของตัวแซด ยาว 16 เมตร ให้ขับรถช้า ใช้เกียร์ต่ำและสามารถควบคุมรถขับเลี้ยวขวาและเลี้ยวซ้ายไปได้ตลอด ห้ามลื่นไถลหรือรถล้ม ไม่ชนกรวยหรือหลัก เครื่องยนต์ต้องไม่ดับ และไม่ใช้เท้าแตะพื้น

ท่าที่ 4 การขับรถผ่านทางโค้งซ้ายและโค้งขวารูปตัวเอส
ให้ขับรถผ่านทางโค้งซ้ายและโค้งขวา ที่ใช้หลักหรือกรวยหรือใช้คอนกรีตเทเป็นรูปตัวเอส (S) ที่มีช่องทางเดินรถกว้าง 2 เมตร ยาว 17 เมตร กรวยหรือหลักห่างกัน 1 เมตร ให้สามารถควบคุมรถผ่านไปได้ตลอดโดยรถไม่เสียหลักลื่นไถลหรือล้ม ไม่ชนกรวยหรือหลัก เครื่องยนต์ต้องไม่ดับ และไม่ใช้เท้าแตะพื้น

ท่าที่ 5 การขับรถหลบหลีกสิ่งกีดขวาง
ให้ขับรถด้วยความเร็วที่ 20 - 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขับรถหลบหลีกกรวยยางที่ตั้งไว้สำหรับทดสอบไปทางด้านซ้ายและด้านขวาในลักษณะสลับฟันปลา ซึ่งกรวยยางตั้งบนพื้นที่ที่มีความกว้าง 3.5 เมตร จำนวน 5 หลัก เป็นเส้นตรงบริเวณกึ่งกลางของพื้นที่ที่ใช้ทำการทดสอบ โดยให้กรวยยางแต่ละอันมีระยะห่าง 5 เมตร โดยให้จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดมีระยะห่างจากกรวยยาง จำนวน 8 เมตร ในระหว่างขับรถต้องสามารถควบคุมรถได้ดี ไม่เสียหลักลื่นไถล ไม่เฉี่ยวหรือชนสิ่งกีดขวางหรือขอบทาง และเครื่องยนต์ต้องไม่ดับขณะขับรถ

เมื่อผ่านการทดสอบแล้วจะได้รับใบอนุญาตขับรถชนิดชั่วคราว มีกำหนด 1 ปี จากนั้นจึงขอเปลี่ยนเป็นใบอนุญาตขับรถชนิดส่วนบุคคลมีกำหนด 5 ปี เมื่อใบอนุญาตขับรถชนิดชั่วคราวมีอายุครบ 1 ปี แล้ว และมิได้นำมาเปลี่ยนประเภท หากขาดอายุเกิน 1 ปีแต่ไม่เกิน 3 ปี จะต้องทดสอบข้อเขียนใหม่ หากขาดอายุเกิน 3 ปี จะต้องทำการทดสอบใหม่ทั้งหมด

ความรู้เรื่องกฎหมาย

ความรู้เรื่องกฎหมาย
                กฎหมาย คือ บรรดาคำสั่งหรือข้อบังคับของรัฐหรือประเทศที่ใช้บังคับความประพฤติทั้งหลายของบุคคล อันเกี่ยวด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกัน ถ้าใครฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะต้องมีความผิดและถูกลงโทษ ในทางอาญาอาจจะมีโทษปรับเป็นเงินหรือโทษจำคุก ในทางแพ่งอาจจะถูกบังคับให้ชำระหนี้หรือชดใช้ค่าเสียหาย

ความหมายของกฎหมายตามแนวความคิดเดิม


1.       กฎหมาย  คือ  คำบัญชาของผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ
2.       กฎหมาย  คือ  คำสั่งทั้งหลายของผู้ปกครองว่าการแผ่นดินต่อราษฎรทั้งหลาย เมื่อไม่ทำตามก็จะต้องถูก ลงโทษ

ความหมายของกฎหมายตามแนวความคิดใหม่
1.       กฎหมาย คือ ระเบียบกฎเกณฑ์ซึ่งมีลักษณะเป็นสากลและพบเห็นได้ในทุกสังคม
2.       กฎหมาย คือ ระบบที่มีอำนาจโดยชอบธรรมซึ่งมีการรับรองไว้แล้ว
3.       กฎหมาย คือ กฎเกณฑ์สูงสุดของสังคมและเป็นตัวควบคุมกฎเกณฑ์อื่น ๆ
4.       กฎหมาย คือ ระบบกฎเกณฑ์ที่มีการจัดทำ การตีความ และการใช้บังคับเป็นกิจจะลักษณะ ตลอดจนมี
วัตถุประสงค์ของโครงสร้างหลักเกณฑ์ เจ้าหน้าที่และกระบวนการอันคำนึงถึงความสงบ
เรียบร้อย และความคิดเรื่องความยุติธรรม

ลักษณะสำคัญของกฎหมาย
1.       กฎหมายจะต้องมาจากรัฏฐาธิปัตย์
หมายความว่า  ผู้บัญญัติกฎหมายต้องมีอำนาจในรัฐ   จะเป็นบุคคลหรือคณะบุคคล เช่น พระมหากษัตริย์
หัวหน้าคณะปฏิวัติหรือรัฐสภาที่มีอำนาจเด็ดขาดที่จะออกกฎหมายมาบังคับได้   และรัฐหรือประเทศนั้น ๆ จะต้องเป็นเอกราช มีอำนาจอธิปไตยของตนเอง ไม่เป็นอาณานิคมหรือเมืองขึ้นของประเทศอื่นใด
2.       กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ทั่วไป
หมายความว่า  กฎหมายจะต้องใช้บังคับได้ทุกสถานที่และแก่บุคคลทุกคนโดยเสมอภาค
3.       กฎหมายเป็นข้อบังคับที่ใช้ได้เสมอไป
หมายความว่า   เมื่อได้มีการประกาศใช้กฎหมายเรื่องใดฉบับใดแล้ว  กฎหมายนั้นก็จะใช้ได้ตลอดไป จะ
เก่าหรือล้าสมัยอย่างไรก็ใช้บังคับได้อยู่   จนกว่าจะได้มีการประกาศยกเลิก เช่น พระราชบัญญัติตามช้างรัตนโกสินทรศก 127 เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่


4.       กฎหมายเป็นข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตาม
หมายความว่า  กฎหมายทุกฉบับประชาชนต้องปฏิบัติตาม  จะขัดกับผลประโยชน์ของตนอย่างไรหรือ
ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ เช่น กฎหมายกำหนดให้ผู้มีรายได้ต้องเสียภาษีอากร ชายไทยอายุย่างเข้า 21 ปี ใน พ.. ใดต้องตรวจเข้ารับราชการทหาร เป็นต้น บุคคลที่ถูกบังคับให้ต้องปฏิบัติจะปฏิเสธไม่ได้
5.       กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ
หมายความว่า ผู้กระทำหรืองดเว้นกระทำตามที่กฎหมายกำหนดต้องถูกลงโทษ เช่น กฎหมายกำหนดผู้มี
รายได้ต้องเสียภาษี ผู้นั้นต้องรับโทษปรับหรือถูกยึดทรัพย์สินมาขายหรือชำระค่าภาษี เป็นต้น

ที่มาของกฎหมาย
                1. กฎหมายลายลักษณ์อักษร คือ กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติตามแบบพิธีและขั้นตอนที่กำหนดไว้ โดยตราขึ้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและประกาศให้ประชาชนทราบ เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมาย พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นต้น กฎหมายของไทยส่วนใหญ่ที่ศาลหรือผู้ใช้นำมาปรับแก่คดีคือ กฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นสำคัญ
                2. กฎหมายจารีตประเพณี คือ กฎหมายที่ไม่ได้มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ประชาชนได้ประพฤติตามแบบอย่างกันมาเป็นเวลาช้านานโดยรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดีงามและถูกต้อง และรัฐใช้ข้อปฏิบัติเหล่านี้เสมือนกฎหมายอย่างหนึ่ง โดยมีศาลยุติธรรมรับรองกฎหมายจารีตประเพณี
                3. หลักกฎหมายทั่วไป คือ หลักเกณฑ์ทั่ว ๆ ไป   ของกฎหมายที่ยึดหลักความเป็นธรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป โดยศาลยุติธรรมเป็นผู้รับรองหลักกฎหมายว่ามีฐานะเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้ได้

ประเภทและลำดับชั้นของกฎหมาย
                ประเภทของกฎหมาย กฎหมายมี 3 ประเภทคือ
1.       กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน ได้แก่ ราษฎรทั่วไปในฐานะที่รัฐเป็นฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือกว่าราษฎร กฎหมายมหาชนได้แก่กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
2.       กฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชน ในฐานะเท่าเทียมกันกฎหมายเอกชนได้แก่กฎหมายแพ่ง และกฎหมายพาณิชย์
3.       กฎหมายระหว่างประเทศ คือกฎหมายที่กำหนดตามความเกี่ยวพันระหว่างประเทศต่อประเทศ หรือรัฐต่อรัฐแบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ
3.1    กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
3.2    กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
3.3    กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา


ลำดับชั้นของกฎหมาย

1.       กฎหมายรัฐธรรมนูญ
คือ   กฎหมายสูงสุดในการจัดระเบียบการปกครองประเทศ     ซึ่งจะวางระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดของรัฐหรืออำนาจอธิปไตย ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ตลอดจนการกำหนดสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของชนชาวไทย
2.       พระราชบัญญัติ (...)
คือ   กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา เป็นกฎหมายหลักที่สำคัญที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน พระราชบัญญัติเป็นกฎหมายที่มีลำดับชั้นรองลงมาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติที่สำคัญที่รัฐสภาตราออกมาใช้บังคับ เช่น พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.. 2535 พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.. 2535 เป็นต้น
3.       ประมวลกฎหมาย
คือ     กฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ได้บัญญัติหรือตราขึ้นโดยรวบรวมจัดเอาบทบัญญัติเกี่ยวกับกฎหมายที่เป็นเรื่องเดียวกันเอามารวบรวมเป็นหมวดหมู่ วางหลักเกณฑ์ให้อยู่ในที่เดียวกันและมีข้อความเกี่ยวเนื่องติดต่อกันอย่างเป็นระเบียบ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลรัษฎากร เป็นต้น
                       ประมวลกฎหมายมีฐานะเท่าเทียมกับพระราชบัญญัติ     
4.       พระราชกำหนด (...)
คือ   กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี การตราพระราชกำหนดให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และต้องเป็นกรณีเพื่อจะรักษาความปลอดภัยของประเทศหรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือเป็นพระราชกำหนดเกี่ยวด้วยการภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินและเมื่อได้ประกาศใช้แล้วต้องเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อสภาทันทีถ้ารัฐอนุมัติก็มีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติก็ตกไป แต่ถ้าไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น การประกาศใช้พระราชกำหนดให้ประกาศในราช-กิจจานุเบกษา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ
5.       พระราชกฤษฎีกา (..)
คือ   กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี พระราชกฤษฎีกาจะออกได้ต่อเมื่อพระราชบัญญัติซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้ พระราชกฤษฎีกาจึงเป็นเสมือนกฎหมายที่ไม่สามารถจะออกมาให้ขัดหรือแย้งกับกฎหมายแม่บท และถ้ากฎหมายแม่บทถูกยกเลิก พระราชกฤษฎีกานั้นก็ถือว่าถูกยกเลิกไปด้วย การประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
              6.       กฎกระทรวง
คือ    กฎหมายที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติอันเป็นกฎหมายแม่บทออกมาเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินั้น ๆ กฎกระทรวงจึงเป็นกฎหมายบริวารที่กำหนดรายละเอียดของกฎหมายแม่บทอีกต่อหนึ่ง กฎกระทรวงจะออกมาขัดแย้งกับกฎหมายแม่บทไม่ได้และถ้ากฎหมายแม่บทถูกยกเลิก กฎกระทรวงนั้นถือว่าถูกยกเลิกไปด้วย คณะรัฐมนตรีเป็นอนุมัติกฎกระทรวง การประกาศใช้กฎกระทรวงให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
7.       ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่ง
คือ    กฎหมายปลีกย่อยประเภทที่เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ  ได้แก่เรื่องที่เกี่ยวกับระเบียบการปฏิบัติราชการภายในและการที่จะนำกฎหมายปลีกย่อยเหล่านี้ไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ถ้าในกฎหมายไม่ได้กำหนดเช่นนั้นก็อยู่ในดุลยพินิจของผู้มีอำนาจว่าการจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ ซึ่งประกาศ ระเบียบข้อบังคับ และคำสั่งเหล่านั้นก็เป็นกฎหมายได้เช่นกัน
8.       กฎหมายที่ออกโดยองค์กรปกครองตนเอง
ได้แก่   ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร  ข้อบัญญัติเมืองพัทยา  ข้อบัญญัติจังหวัด  เทศบัญญัติ  และข้อบังคับสุขาภิบาล เป็นกฎหมายที่มีพระราชบัญญัติการจัดตั้งองค์กรปกครองตนเองอันเป็นการบริหารส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ ให้มีอำนาจออกกฎหมายบังคับใช้เฉพาะท้องถิ่นเท่านั้น

สรุปสาระสำคัญ
1.       ลักษณะสำคัญของกฎหมาย มี 5 ประเภท
1.       กฎหมายต้องมาจากรัฎฐาธิปัตย์
2.       กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ทั่วไป
3.       กฎหมายเป็นข้อบังคับที่ใช้ได้เสมอไป
4.       กฎหมายเป็นข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตาม
5.       กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ
2.       ที่มาของกฎหมายไทย ได้แก่
1.       กฎหมายลายลักษณ์อักษร
2.       กฎหมายจารีตประเพณี
3.       กฎหมายทั่วไป
4.       ประเภทของกฎหมาย ได้แก่กฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมาย พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบข้อบังคับ คำสั่ง และกฎหมายที่ออกโดยองค์การปกครองตนเอง