วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คุณสมบัติของผู้ขออนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน

คุณสมบัติของผู้ขออนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน

- บรรลุนิติภาวะ
- สภาพร่างกายปกติไม่พิการหรือทุพพลภาพ
- ไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
- มีชื่อในทะเบียนบ้านและมีถิ่นที่อยู่ประจำในท้องที่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
- ไม่เคยต้องโทษจำคุกคดีอาญา
เอกสารประกอบคำขออนุญาต
การขออนุญาตซื้อปืนและเครื่องกระสุนปืน

ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการอื่นๆ หรือพนักงานองค์กรของรัฐ

  - บัตรประจำตัวข้าราชการหรือพนักงาน (ฉบับจริงพร้อมสำเนา)
  - ทะเบียนบ้าน(ฉบับจริง พร้อมสำเนา)
  - หนังสือรับรองจากผู้บังคับบัญชารับรองตำแหน่งหน้าที่ เงินเดือน ความประพฤติ  และเหตุผลความจำเป็นที่ขออนุญาตที่ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน
  - ผู้ออกหนังสือรับรองต้องเป็น ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด ระดับผู้อำนวยการกอง หรือเทียบเท่าขึ้นไป
  - ข้าราชการตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการกอง หรือเทียบเท่าขึ้นไปไม่ต้องมีหนังสือรับรอง
  - หลักฐานแสดงว่าผ่านการฝึกอบรมการใช้อาวุธปืน

ข้าราชการทหารหรือตำรวจ

  - บัตรประจำตัวข้าราชการหรือพนักงาน (ฉบับจริงพร้อมสำเนา)
  - ทะเบียนบ้าน (ฉบับจริง พร้อมสำเนา)
  - หนังสือรับรองจากผู้บังคับบัญชารับรองตำแหน่งหน้าที่ เงินเดือน ความประพฤติ
     และเหตุผลความจำเป็นที่ขออนุญาต ที่ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน
  - ผู้ที่ออกหนังสือต้องเป็นผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดที่มียศตั้งแต่พันเอกหรือพันตำรวจเอกขึ้นไป
  - ผู้มียศตั้งแต่พันเอกหรือพันตำรวจเอกขึ้นไปไม่ต้องมีหนังสือรับรอง
  - หลักฐานแสดงว่าผ่านการฝึกอบรมการใช้อาวุธปืน

ประชาชนทั่วไป หรือผู้ประกอบอาชีพอื่น

   - บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับจริง พร้อมสำเนา)
   - ทะเบียนบ้าน (ฉบับจริง พร้อมสำเนา)
   - หลักฐานการประกอบอาชีพ อาทิเช่น หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือร้าน
     หากเป็นลูกจ้างหรือรับจ้างต้องมีหนังสือรับรองตำแหน่งหน้าที่ เงินเดือน จากผู้ที่มีอำนาจจัดการของกิจการนั้น     
     หรือเจ้าของแล้วแต่กรณี หากมิได้มีอาชีพรับจ้างต้องมีเอกสารประกอบตามที่อ้างอิง อาทิเช่น ทำสวน ทำไร

     ติดต่อค้าขายที่ หรือค้าขายย่อย หรือเร่ขาย โดยไม่ได้จดทะเบียน ต้องนำหลักทรัพย์ เช่น โฉนดที่ดิน
     เงินฝากธนาคาร (Statement) หรือหลักฐานอื่นเพื่อประกอบการพิจารณา
  - หนังสือรับรองความประพฤติและเหตุผลความจำเป็นที่ขออนุญาตจากข้าราชการระดับ 6 ขึ้นไป
     หรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไป
  - พิมพ์ลายนิ้วมือตรวจสอบประวัติ และสืบสวนความประพฤติ
  - หากขออนุญาตเพื่อการกีฬาจะต้องนำหลักฐานการเป็นสมาชิกสนามยิงปืนมาแล้วไม่น้อยกว่า 60 วัน
    มาประกอบการพิจารณา
  - หลักฐานแสดงว่าผ่านการฝึกอบรมการใช้อาวุธปืน

การขออนุญาตซื้ออาวุธปืนจากบุคคล

  - หลักฐานเอกสารเช่นเดียวกับการขออนุญาตซื้อปืนและเครื่องกระสุน
  - สำเนาบัตรประจำตัวและทะเบียนบ้านของผู้โอน พร้อมใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (ป.4)
    ฉบับจริงของอาวุธปืนที่จะโอน
  - ผู้โอน(เจ้าของเดิมกับผู้ขอรับโอน) ต้องบันทึกการยินยอมการโอนต่อหน้านายทะเบียนไว้ในหลังใบอนุญาต(ป.4)
    ว่าโอนปืนกระบอกนี้ ให้ใคร มีค่าตอบแทนเท่าใด  หรือโอนไม่คิดค่าตอบแทน เนื่องจากอะไร แล้วลงนามไว้เป็นหลักฐาน   
    พร้อมผู้รับโอนลงนามไว้ด้วย
  - หลักฐานแสดงว่าผ่านการฝึกอบรมการใช้อาวุธปืน
  - หากขออนุญาตเพื่อการกีฬาจะต้องนำหลักฐานการเป็นสมาชิกสนามยิงปืนมาแล้วไม่น้อยกว่า 60 วัน
    มาประกอบการพิจารณา
  - นำอาวุธปืนที่ขอรับโอนไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบในวันที่ยื่นคำร้อง

การขอรับโอนอาวุธปืนมรดก (เจ้าของปืนตาย)

  - ผู้ที่มีอาวุธปืนหรือใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน(ป.4) อยู่ในครอบครองต้องแจ้งการตายต่อนายทะเบียนท้องที่ภายใน
    30 วัน นับแต่วันที่ตายพร้อมนำใบอนุญาต(ป.4) และอาวุธปืนมอบให้นายทะเบียนด้วย
  - ใบมรณบัตร พร้อมสำเนา
  - สำเนาคำสั่งศาลกรณีศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดก
  - ถ้ามีผู้จัดการมรดกเสนอได้เลย
  - ถ้าไม่มีผู้จักการมรดก ต้องสอบทายาททั้งหมด ว่ายินยอมสละปืนแล้วเสนอนายทะเบียนฯ
  - ผู้ขอรับโอนปืนมรดกนำหลักฐานเอกสารประกอบคำร้องเช่นเดียวกับการขอรับโอนอาวุธปืนจากบุคคลมายื่นต่อ
    นายทะเบียนท้องที่พร้อมเอกสารข้างต้น
  - หลักฐานแสดงว่าผ่านการฝึกอบรมการใช้อาวุธปืน
  - นำอาวุธปืนที่ขอรับโอนไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบในวันที่ยื่นคำร้อง

การแจ้งการย้ายอาวุธปืน

  - ต้องยื่นคำร้องขอย้ายอาวุธปืนต่อนายทะเบียนท้องที่เดิม และนายทะเบียนท้องที่ซึ่งย้ายไปอยู่ใหม่ภายใน 15 วัน นับแต่
    วันย้ายออกไปและวันที่ไปถึง
  - ทะเบียนบ้าน (ฉบับจริง พร้อมสำเนา)
  - บัตรประจำตัว (ฉบับจริง พร้อมสำเนา)
  - นำอาวุธปืนไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
  - ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

การออกใบแทนหรือคัดสำเนาใบอนุญาตอาวุธปืน

  - ทะเบียนบ้าน (ฉบับจริง พร้อมสำเนา)
  - บัตรประจำตัว (ฉบับจริง พร้อมสำเนา)
  - กรณีใบอนุญาตสูญหาย แจ้งความสถานีตำรวจท้องที่ที่ใบอนุญาตหาย แล้วนำใบแจ้งความพร้อมคัดสำเนาประจำวันด้วย
  - นำอาวุธปืนไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ

อัตราค่าธรรมเนียมอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน
  1. ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน
     - ปืนยาวประจุปาก ปืนอัดลม                                                         ฉบับละ       100  บาท
     - ปืนอื่นๆ                                                                                       ฉบับละ        500  บาท
  2. ใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว                                                      ฉบับละ      1,000  บาท
  3. ใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน                                                             กระบอกละ       5  บาท
  4. ใบอนุญาตให้ซื้อกระสุนปืน นอกจากกระสุนอัดลม                                               1 บาท
      ร้อยละหรือเศษของร้อย
  5. ใบแทนใบอนุญาต
     - ใบแทนใบอนุญาติให้ทำ ค้าอาวุธปืน                                          ฉบับละ          20  บาท
       เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด
     - ใบแทนใบอนุญาตให้ประกอบซ่อมแซม                                    ฉบับละ          15  บาท
       หรือเปลี่ยนลักษณะอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน
       - ใบแทนใบอนุญาตอื่นๆ                                                             ฉบับละ           5  บาท
ไม่ต้องจ่ายค่าบริการอื่น นอกจากค่าธรรมเนียมเท่านั้น

สถานที่ติดต่อ :  ศูนย์บริการประชาชนกรมการปกครอง
                        วังไชยา นางเลิ้ง ถนนนครสวรรค์
                        เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
                        โทร. 0-2356-9552

การขอทะเบียนอาวุธปืน

การขอทะเบียนอาวุธปืน
 
ความหมาย
      อาวุธปืน หมายรวมตลอดถึง อาวุธทุกชนิด ซึ่งใช้เครื่องส่งกระสุนโดยวิธีระเบิด หรือกำลังดันของแก๊ส หรืออัดลม หรือเครื่องกลไกอย่างใด ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของพลังงานและส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธนั้นซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่าสำคัญ และ ได้ระบุไว้ในกฎกระทรวง

 ผู้มีอำนาจอนุญาต
      1. ผู้อนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนและเครื่องกระสุนให้มีและใช้อาวุธปืน คือนายทะเบียนท้องที่

- เขตกรุงเทพฯ ได้แก่ ผู้บังคับการกองทะเบียน รองผู้บังคับการกองทะเบียน, กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง หรือผู้รักษาราชการแทน

- จังหวัดอื่น ๆ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ
      2. เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว (พกพา)
- เขตกรุงเทพฯ และทั่วราชอาณาจักร ได้แก่ อธิบดีกรมตำรวจ

- จังหวัดอื่น ๆ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด อนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวเฉพาะในเขตจังหวัดและเฉพาะผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในเขตจังหวัดนั้น

      3. การตั้งร้านค้าอาวุธปืนและเครื่องกระสุนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจอนุมัติให้นายทะเบียนท้องที่ออกใบอนุญาต

      4. การขออนุญาตตั้งร้านค้าวัตถุระเบิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจอนุมัติให้นายทะเบียนท้องที่ออกใบอนุญาต

      5. การขออนุญาตมีและใช้วัตถุระเบิดในราชอาณาจักรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจอนุมัติให้นายทะเบียนท้องที่ออกใบอนุญาต

      6. การตั้งร้านค้า ทำ/สั่ง นำเข้าดอกไม้เพลิงนายทะเบียนท้องที่ มีอำนาจออกใบอนุญาต (ยกเว้นดอกไม้เพลิงชนิดประทัดไฟต้องขอความเห็นชอบจาก รมว.มท. ก่อน)

อาวุธปืนที่อนุญาตให้มีไว้ในครอบครอง เพื่อ
 

1. มีไว้ใช้

2. มีไว้เพื่อเก็บ
 

 การขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน

หลักการพิจารณาออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน

      การพิจารณาออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนให้แก่บุคคลสำหรับใช้ในการป้องกันตัวและทรัพย์สิน ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้.
      ข้อ 1 คุณสมบัติของผู้ขอมีและใช้อาวุธปืน ต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่ขัดต่อมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ คือ

(1) บุคคลซึ่งต้องโทษจำคุก สำหรับความผิดตามระมวลกฎหมายอาญาดังต่อไปนี้.

ก. มาตรา 57 ถึงมาตรา111 มาตรา 120 มาตรา 177 ถึงมาตรา 183 มาตรา 249 มาตรา 250 หรือ มาตรา 298 ถึงมาตรา 303

ข. มาตรา 254 ถึงมาตรา 257 และพ้นโทษยังไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษถึงวันที่ยื่นคำขออนุญาต เว้นแต่
ในกรณีความผิดที่กระทำโดยความจำเป็น หรือเพื่อป้องกัน หรือโดยถูกยั่วโทสะ

(2) บุคคลซึ่งต้องโทษจำคุก สำหรับความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่อง กระสุนปืน

วัตถุระเบิด และดอกไม้เพลิง พุทธศักราช 2477 มาตรา 7 มาตรา 11 ถึงมาตรา 22 มาตรา 24 มาตรา 29 มาตรา 33 หรือมาตรา38

(3 ) บุคคลซึ่งต้องโทษจำคุก ตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป ในระหว่างห้าปีนับย้อนหลังขึ้นไปจากวันที่ยื่นคำขอสำหรับความผิดอย่างอื่น นอกจากบัญญัติไว้ใน (1)(2) เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(4) บุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ

(5) บุคคลซึ่งไม่สามารถจะใช้ปืนได้โดยกายพิการ หรือทุพพลภาพ เว้นแต่จะมีไว้เพื่อเก็บตาม มาตรา 11 แห่ง พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ

(6) บุคคลซื่งเป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือปรากฏว่าเป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(7) บุคคลซึ่งไม่มีอาชีพและรายได้

(8) บุคคลซึ่งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

(9) บุคคลซึ่งมีความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อันอาจกระทบกระเทือนถึงความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(10) ภูมิลำเนาของผู้ขอมีและใช้อาวุธปืนต้องเป็นบุคคลที่มีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฏหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

และมีถิ่นที่อยู่ประจำในท้องที่ที่บุคคลนั้นขออนุญาตไม่น้อยกว่าหกเดือน

      ข้อ2 การสอบสวนคุณสมบัติและความจำเป็น ต้องทำการสอบสวนพิจารณาถึงสภาพความเป็นอยู่หรือสิ่งแวดล้อม

ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 674/2490 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2490 ข้อ 12 และระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 47 บทที่ 3 ข้อ 16 ดังนี้

(1) ผู้ขออนุญาตมีอายุเท่าใด เป็นหัวหน้าครอบครัว หรืออาศัยผู้ใดอยู่

(2) บ้านอยู่ในที่เปลี่ยวหรือไม่ และในบ้านนั้นมีผู้ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนอย่างใดอยู่บ้างแล้วหรือไม่

(3) บ้านที่อยู่เป็นนของผู้รับใบอนุญาตเอง หรือเช่าเขาอยู่

(4) ความประพฤติตามปกติเป็นอย่างไร

(5) เคยต้องโทษทางอาญาอย่างใดบ้างหรือไม่

(6) เกี่ยวข้องกับพวกคนพาลหรือพวกนักเลงหรือไม่

(7) มีหลักทรัพย์สมบัติอะไรบ้าง ประมาณราคามากน้อยเท่าใด

(8) ประกอบอาชีพทางใด

(9) การขอมีอาวุธปืน เพื่อประโยชน์อย่างใด

(10) มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเงิน หรือทรัพย์สมบัติเป็นพิเศษอย่างใด

(11) เคยถูกประทุษร้ายต่อทรัพย์และร่างกาย หรือถูกขู่เข็ญว่าจะทำร้ายอย่างใดบ้างหรือไม่

(12) เป็นคนมีสติไม่ปกติเป็นบางครั้งคราวหรือไม่

(13) เป็นคนมีนิสัยฉุนเฉียว หรือเกะกะระรานเพื่อนบ้านใกล้เคียงหรือผู้อื่นบ้างหรือไม่

(14) เคยได้รับอนุญาตมีอาวุธปืนมาแล้วหรือเปล่า ถ้าเคยมีแล้ว เหตุใดจึงขออนุญาตอีก

(15) เจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ใกล้ชิด เช่น สารวัตรตำรวจนครบาล ตำรวจภูธร หัวหน้าสถานี กำนันผู้ใหญ่บ้านเห็นสมควรอนุญาตหรือไม่

(16) ถ้าเป็นบุคคลต่างด้าว ต้องสอบให้ทราบว่า

ก.มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยนานเท่าใด

ข.พูดภาษาไทยได้หรือไม่

ค. มีครอบครัวเป็นคนต่างด้าวหรือคนไทยอยู่ในประเทศไทยหรือไม่

ง. เป็นผู้มีจิตใจใฝ่ลัทธิใดลัทธิหนึ่ง อันเป็นภัยต่อประเทศหรือไม่

(17) ถ้าเป็นการขอรับมรดก ต้องสอบให้ได้ความว่าได้มีทายาทคนใดคัดค้านการขอรับโอนบ้างหรือไม่ หากมีการคัดค้านก็ให้ระงับการออกใบอนุญาตไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
      ข้อ 3 การสอบสวนผู้ขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน เพื่อให้นายทะเบียนท้องที่ออกใบอนุญาตได้พิจารณากลั่นกรองที่จะอนุญาตให้บุคคลมีและใช้อาวุธปืนได้ถูกต้อง ให้ดำเนินการดังนี้

      ก. ในท้องที่กรุงเทพมหานคร ให้นายทะเบียนส่งเรื่องให้สารวัตรใหญ่หรือสารวัตรสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ดำเนินการดังนี้

(1) พิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ขออนุญาตเพื่อตรวจสอบประวัติประกอบการพิจารณาด้วย เว้นแต่ผู้ขอเป็นข้าราชการประจำการไม่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือตรวจสอบ
(2) ทำการสอบสวนคุณสมบัติและเหตุผลความจำเป็น รายงานเสนอถึงผู้กำกับการตำรวจนครบาล เพื่อพิจารณาแล้วส่งเรื่องไปยังนายทะเบียนฯดำเนินการต่อไป

      การสอบสวนคุณสมบัติ และเหตุผลความจำเป็นดังกล่าวข้างต้น ให้อยู่ในความรับผิดชอบของสารวัตรใหญ่หรือสารวัตรสถานีตำรวจท้องที่หรือผู้รักษาการแทนที่จะต้องดำเนินการโดยรอบคอบและตรงต่อความเป็นจริง

      ข. ในจังหวัดอื่นให้ถือปฏิบัติตามความคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 674/2490 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2490 เรื่องระเบียบการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน

พ.ศ. 2490 และคำสั่งที่ 759/2494 เรื่องระเบียบการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 และคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 798/2501 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2501 เรื่องการอนุญาตให้บุคคลมีอาวุธปืนและระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณาออกใบอนุญาตมีอาวุธปืน ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายทะเบียนท้องที่ประจำจังหวัด และนายอำเภอเป็นนายทะเบียนท้องที่ประจำอำเภอ การสอบสวนผู้ขออนุญาตให้มีอาวุธเป็นเครื่องกระสุนปืน ก่อนที่จะพิจารณาอนุญาตตามความในข้อ 2 ด้วย
      ข้อ4 ชนิดและขนาดอาวุธปืน ซึ่งจะอนุญาตให้พิจารณาถึงฐานะ และความจำเป็นของผู้อนุญาตเป็นราย ๆ ไป โดยระลึกว่าการอนุญาตให้เอกชนมีอาวุธปืนนั้นเป็นการอนุญาตตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 9 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้มีไว้เพื่อป้องกันตัวหรือทรัพย์สินหรือในการกีฬา หรือในการยิงสัตว์

      การพิจารณาอนุญาตดังกล่าวข้างต้นนี้ มีหลักเกณฑ์ในการอนุญาตสำหรับชนิดและขนาดอาวุธปืนตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 674/2490 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2490 ข้อ 13 และหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ 0515/13548 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2515 ที่ 0313/ว8583 ลงวันที่ 25 กรกฏาคม 2517 และที่0515/ว686 ลงวันที่ 30 ธ.ค. 2517 ดังนี้
      ก. ถ้าผู้ขออนุญาตเป็นข้าราชการ ซึ่งมีหน้าที่ปราบปรามตามกฏหมาย หรือมีหน้าที่ ปฏิบัติงานเขตพื้นที่ที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่หัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไป รับรองหน้าที่การงานมาเป็นที่เชื่อถือได้หรือผู้ขออนุญาตเพื่อการกีฬาโดยมีหนังสือรับรองเป็นนักกีฬายิงปืน และมาฝึกซ้อมยิงปืนเป็นประจำจากเลขาธิการสมาคมยิงปืน หรือนายสนามยิงปืนนั้น ๆ ในการพิจารณาอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนพกให้อนุญาตขนาดลำกล้องไม่เกิน .45 หรือ 11 มม.ได้
      ข.สำหรับบุคคลทั่วไปที่มีความจำเป็นต้องมีอาวุธปืนพก อนุญาตให้มีได้ลำกล้องไม่เกินขนาด .38 หรือ 9 มม.สำหรับบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่ขัดกับมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ทั้งนี้ต้องไม่ขัดต่อกฏกระทรวงที่ใช้บังคับอยู่ตามที่ระบุไว้ในข้ออื่น ๆ ด้วย

      สำหรับอาวุธปืนที่มีอานุภาพร้ายแรงแม้ขนาดลำกล้องไม่เกิน .38 หรือ 9 มม. เช่นอาวุธปืนขนาด .357 ก็ไม่ควรอนุญาตเว้นแต่ผู้ขออนุญาตเป็นข้าราชการตำรวจ ทหารหรือข้าราชการอื่นซึ่มีหน้าที่ปราบปรามตามกฏหมายหรือเป็นข้าราชการในท้องที่กันดาร และผู้บังคับบัญชาตั้งแต่หัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไปรับรองหน้าที่การงานมาเป็นที่เชื่อถือได้ก็ให้พิจารณาอนุญาตได้ สำหรับในต่างจังหวัดให้นายทะเบียนฯ เสนอขอรับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

      ข้อ 5 การอนุญาตให้มีอาวุธปืน ตามปกติควรมีได้เพียงคนละ 2 กระบอก คือ สั้นและยาว แต่ในการพิจารณาอนุญาตมากน้อยเพียงใดแล้วแต่หลักฐานความจำเป็นของแต่ละบุคคล และควรเข้มงวดกวดขันอย่าให้มีมากเกินความจำเป็นไม่ซ้ำขนาดกันให้วงเล็บวัตถุประสงค์มีและใช้อาวุธปืนในใบอนุญาต (ป.4) ให้ชัดเจน

      ข้อ 6 การพิจารณาอนุญาตสำหรับข้าราชการ ตำรวจ ทหารประจำการ ให้มีอาวุธปืนให้ถือปฏิบัติดังนี้

ก. ข้าราชการตั้งแต่สัญญาบัตรขึ้นไป ไม่ต้องดำเนินการตามข้อ 3 แต่ต้องให้ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ชั้นหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าหรือผู้กำกับการตำรวจ หรือผู้บังคับกองพันทหารรับรองความประพฤติและตำแหน่งหน้าที่การงานเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

ข. ข้าราชการต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตรไม่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ แต่ต้องสอบสวนตามข้อ 3 เว้นแต่กรณีผู้มีหน้าที่สืบสวนและปราบปรามโจรผู้ร้ายเป็นประจำ หรือมีหน้าที่ต้องปฏิบัติในพื้นที่ที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต หรือมีหน้าที่ควบคุมเงินไม่ต้องสอบสวนแต่ต้องมีหนังสือรับรองความประพฤติและตำแหน่งหน้าที่การงานจากผู้บังคับบัญชาตามข้อ ก.

      ข้อ 7 การขอรับโอนอาวุธปืน

ก. การรับโอนอาวุธปืนระหว่างบุคคลทั่วไป พิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น

ข. การรับโอนปืนมรดก ถ้าผู้รับโอนมีคุณสมบัติครบถ้วน และเป็นทายาทโดยตรงต้องการรับโอนไว้ก็อนุญาตได้
      ข้อ 8 นักเรียน นักศึกษา ที่เรียนอยู่ในสถานศึกษา ซึ่งทางการนับเวลาการศึกษานั้นเป็นวันรับราชการ เช่น นักเรียน

นายร้อย นายเรืออากาศ นายร้อยตำรวจ ควรมีสิทธิได้รับอนุมัติให้มีอาวุธปืนได้ แต่ควรพิจารณาให้เฉพาะเป็นกีฬา หรือในกรณีรับโอนมรดกซึ่งไม่มีทายาทผู้อื่นที่จะรับโอนไว้ได้ หรือผู้ที่ได้รับปริญญาแล้วยังไม่ประกอบอาชีพแต่กำลังศึกษาต่ออีกควรพิจารณาให้ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น

      ข้อ 9 การพิจารณาออกใบอนุญาตสำหรับเครื่องกระสุนปืนของบุคคลนั้น ต้องสอบให้ทราบว่าผู้ขออนุญาตมีอาวุธปืน ซึ่งใช้กับอาวุธปืนที่ขออนุญาตหรือไม่ หากไม่มีห้ามออกใบอนุญาตให้ ถ้ามีและจะขออนุญาตต้องเสนอว่ามีเหตุผลจำเป็นเพียงใดสำหรับอัตราที่จะต้องขออนุญาตให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 759/2494 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2494 ข้อ 14ตามกำหนดและอัตราอย่างสูงต่อไป

(1) กระสุนโดด ปืนยาวทุกชนิด อนุญาตให้สั่งหรือนำเข้ามา ได้ไม่เกินปีละ 100 นัด แต่การสั่งหรือนำเข้ามานี้จะขอ

อนุญาตได้ไม่เกิน 50 นัด สำหรับกระสุนปืนชนิดนั้น ๆ ถ้าขอซื้อภายในราชอาณาจักรให้อนุญาตได้ไม่เกินปีละ 60 นัด แต่การอนุญาตให้อนุญาตได้ไม่เกินคราวละ 15 นัด สำหรับกระสุนปืนชนิดหนึ่ง ๆ

(2)กระสุนปืนพกทุกชนิดอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้ามาได้ไม่เกิน 50 นัด แต่การสั่งหรือนำเข้ามานี้จะอนุญาตได้ไม่เกิน

คราวละ25 นัด สำหรับกระสุนปืนชนิดหนึ่ง ๆ ถ้าขอซื้อภายในราชอาณาจักร ให้อนุญาตได้ไม่เกินปีละ 36 นัด แต่การขออนุญาตนี้ ให้อนุญาตได้ไม่เกินคราวละ 12 นัดสำหรับกระสุนปืนชนิดหนึ่ง ๆ

(3) กระสุนลูกซองชนิดต่าง ๆ แบ่งเป็น 4 ขนาด ตามรายการในบัญชีเทียบขนาดกระสุนต่าง ๆ ต่อไปนี้

ขนาดที่ 1 อนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าไม่เกินปีละ 100 นัด แต่การสั่งหรือนำเข้ามานี้จะอนุญาตได้ไม่เกินคราวละ 25 นัด

สำหรับกระสุนปืนชนิดหนึ่ง ๆ

ขนาดที่ 2 อนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าไม่เกินปีละ 200 นัด แต่การสั่งหรือนำเข้ามานี้จะอนุญาตได้ไม่เกินคราวละ 50 นัด

สำหรับกระสุนปืนลูกซองชนิดหนึ่ง ๆ

ขนาดที่ 3 อนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าไม่เกินปีละ 300 นัด แต่การสั่งหรือนำเข้ามานี้จะขออนุญาตได้ไม่เกินคราวละ 75 นัด

สำหรับกระสุนปืนลูกซองชนิดหนึ่ง ๆ

ขนาดที่ 4 อนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าไม่เกินปีละ 400 นัด แต่การสั่งหรือนำเข้ามานี้จะอนุญาตได้ไม่เกินคราวละ 100 นัด

สำหรับกระสุนปืนลูกซองชนิดหนึ่ง ๆ

แต่ทั้งนี้ขอรวมกันคราวเดียวทุกขนาดให้อนุญาตไม่เกินปีละ 1,000 นัด แต่การอนุญาตนี้จะอนุญาตไม่เกินคราวละ 250 นัด

สำหรับกระสุนปืนลูกซองชนิดหนึ่ง ๆ

จำนวนที่กำหนดนี้เป็นอันตรายอย่างสูงที่จะอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศ

ส่วนการขอซื้อภายในราชอาณาจักรให้อนุญาตได้ไม่เกินปีละ 500 นัด แต่ในการอนุญาตครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 25 นัด

เฉพาะกระสุนปืนลูกซองตามบัญชีเทียบขนาดที่ 1 กรมตำรวจได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นกระสุนปืนที่โดยปกติใช้ล่า

สัตว์ใหญ่ จึงให้อนุญาตปีละไม่เกิน 100 นัด แต่ในการอนุญาตครั้งหนึ่ง ๆ ต้องไม่เกิน 10 นัด ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้อง

กับนโยบายในการสงวนพันธ์สัตว์ป่า

(4) กระสุนอัดลมอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้า หรือซื้อภายในราชอาราจักรได้ไม่เกินคราวละ 1,000 สำหรับกระสุนปืน

อัดลมชนิดหนึ่ง ๆ

(5) กระสุนลูกกรดทุกชนิดให้อนุญาตสั่งได้ไม่เกินปีละ 100 นัด ถ้าเป็นการซื้อในราชอาณาจักรให้อนุญาตได้ไม่เกิน

คราวละ 200 นัด แต่ต้องไม่เกินปีละ 1,000 นัด

การอนุญาตกระสุนปืนตามคำสั่งนี้ ได้กำหนดอัตราขึ้นไว้ เพื่อให้เป็นระดับเดียวกันในการอนุญาตตามปกติ แต่ถ้ามี

กรณีซึ่งจะต้องผ่อนผันการออกอนุญาตเป็นพิเศษ เช่น ในกรณีที่คนต่างด้าว หรือข้าราชการสถานฑูตอันมีสัมพันธไมตรี

ต่อประเทศไทยนำติดตัวเข้ามา ก็ให้พิจารณาผ่อนผันได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายไปแล้วแจ้งให้กรมศุลกากรทราบ

ถ้าเป็นกรณีซื้อภายในราชอาณาจักร เมื่อได้ผ่อนผันไปแล้วให้รายงานเหตุที่ผ่อนผันให้กระทรวงทราบเฉพาะคนต่างด้าว

ที่ได้รับการผ่อนผันข้างต้นต้องเป็นบุคคลที่ได้รับสิทธิคุ้มกัน เช่นเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ

      ข้อ 10 ในกรณีพิเศษต่าง ๆ นอกจากนี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของนายทะเบียนเฉพาะเรื่องเฉพาะรายที่จะพิจารณาสั่งการ

      ข้อ 11 ถ้าเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจท้องที่ มีความสงสัยพฤติการณ์ไม่นาไว้วางใจว่าผู้รับใบอนุญาต

คนใดจะเป็นผู้ต้องห้ามในการออกใบอนุญาตตามาตรา 13 (7)(8) หรือ(9) ก็ให้พนักงานสอบสวนท้องที่รายงาน

พฤติการณ์ไปยังนายทะเบียนท้องที่ เพื่อเรียกตัวผู้รับอนุญาตมาทำประกันทัณฑ์บน หรือพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาต

เป็นราย ๆ ไป การทำประกันทัณฑ์บน ให้นายทะเบียนท้องที่เรียกตัวผู้รับอนุญาตมาดำเนินการดังนี้

ก. ให้นำหลักฐาน การประกอบอาชีพ และรายได้มาแสดง

ข. ให้นำหลักฐาน ภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่ และบัตรประจำตัวมาแสดง

ค. ให้นำบุคคลที่เชื่อถือได้มารับรองทำสัญญาประกันและให้ผู้ได้รับอนุญาตทำทัณฑ์บนต่อนายทะเบียนท้องที่ โดย

กำหนดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน และไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันทำประกันทัณฑ์บน

ถ้าผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวหาประกันที่เชื่อถือไม่ได้ หรือไม่ยอมทำทัณฑ์บนภายในเวลาอันสมควรตามที่นายทะเบียน

ได้กำหนดให้ ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน ให้ถือว่าผู้รับใบอนุญาตนั้นเป็นผู้ซึ่งจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ให้นายทะเบียน

ท้องที่เพิกถอนใบอนุญาตทุกรายไป

เมื่อนายทะเบียนท้องที่ได้ทำสัญญาประกันทัณฑ์บนแล้ว ให้แจ้งสารวัตรใหญ่หรือ สารวัตรสถานีตำรวจท้องที่โดยมิชักช้า เพื่อสอดส่องพฤติการณ์ และหากปรากฏว่าผู้ทำสัญญาประกันหรือทัณฑ์บนผิดสัญญาประกัน หรือทัณฑ์บนก็ให้สารวัตรใหญ่หรือสารวัตรสถานีตำรวจท้องที่ แจ้งให้นายทะเบียนท้องที่ทราบเพื่อดำเนินการต่อไป
      ข้อ 12 การเพิกถอนใบอนุญาต ให้เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่เอาใจใส่ตรวจสอบบุคคลซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนหากสงสัยพฤติการณ์ของผู้รับใบอนุญาตหรือปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ออกใบอนุญาตก็รวบรวมหลักฐานรายงานนายทะเบียนท้องที่โดยมิชักช้า เพื่อดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป

การสอบสวนคดีอาญา ในคดีความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.2490ให้พนักงานสอบสวน สอบสวนผู้ต้องหาให้ปรากฏ ว่าเป็นผู้ใด้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนหรือไม่ หากปรากฏว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน และเป็นผู้ซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ออกใบอนุญาต ก็ให้รวบรวมหลักฐานรายงานนายทะเบียนท้องที่โดยมิชักช้า และเมื่อผลคดีถึงที่สุดเป็นประการใด ให้รายงานนายทะเบียนทราบเพื่อดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวข้างต้นต่อไปเมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนผู้ใดเป็นผู้จะต้องดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาต นายทะเบียนอาวุธปืนท้องที่กรุงเทพมหานคร รายงานพฤติการณ์ข้อเท็จจริงพร้อมพยานหลักฐาน เสนอขอความเห็นชอบจากกรมตำรวจก่อนหากกรมตำรวจเห็นชอบแล้วให้ทำคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต แล้วจัดเจ้าหน้าที่ไปร่วมกับตำรวจท้องที่ที่ผู้รับอนุญาตมีภูมิลำเนาอยู่ แจ้งคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ หรือผู้ความคุมดูแลทราบ เพื่อขอรับอาวุธปืนและใบอนุญาตมีและใช้อาวุธปืนมาดำเนินการต่อไป และให้เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่นั้น ๆ ลงประจำวันไว้

เป็นหลักฐาน ในกรณีที่ไม่สามารถติดตามผู้รับใบอนุญาตได้ หรือไม่มีผู้อนุบาล หรือควบคุมดูแล ให้นายทะเบียนอาวุธปืนท้องที่ประกาศคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตไว้ ณ ที่ทำการของนายทะเบียนอาวุธปืนท้องที่ และที่อยู่ของผู้ได้รับอนุญาตภายในกำหนด 30 วัน เมื่อพ้นกำหนดดังกล่าวให้นายทะเบียนอาวุธปืนท้องที่ แจ้งสถานีตำรวจดำเนินคดีกับผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป ในกรณีที่ย้ายทะเบียนอาวุธปืน ผู้สั่งเพิกถอนแจ้งให้นายทะเบียนผู้ออกใบอนุญาตทราบเพื่อหมายเหตุในทะเบียนคุมต่อไป
      ข้อ 13 หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาต ให้บุคคลมีและใช้อาวุธปืนนี้เป็นหลักเกณฑ์โดยทั่วไป สำหรับใช้เป็นแนวทางพิจารณาของนายทะเบียนอาวุธปืนเท่านั้น หากรายใดนายทะเบียนมีเหตุผลอันสมควรว่าผู้ขอมีพฤติการณ์ไม่เหมาะสม หรือมีเหตุผลความจำเป็นไม่เพียงพอ แม้จะเป็นผู้มีคุณสมบัติไม่ขัดต่อมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. 2490 ก็ตาม นายทะเบียนจะไม่อนุญาตก็ได้มีขั้นตอนปฏิบัติ ดังนี้
1. ยื่นคำขอ ตามแบบ ป.1 ระบุ ชนิด ประเภท จำนวน พร้อมทั้งแหล่งที่จะขอซื้อพร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวและทะเบียนบ้าน หนังสือรับรองของผู้บังคับบัญชากรณีเป็นข้าราชการ หรือหนังสือรับรองของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรณีเป็นราษฏรทั่ว ๆ ไป

2. สอบสวนคุณสมบัติ

- สอบสวนในประเด็นเกี่ยวกับการต้องโทษคดีอาญา อาชีพ ความสามารถและความประพฤติ ได้แก่ ( พ.ร.บ.อาวุธปืน

พ.ศ. 2490 ม.13 )

- สอบสวนสภาพความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการพิจารณาด้วย

- ถ้าเป็นเขตกรุงเทพมหานคร กรณีเป็นบุคคลที่ไม่เคยมีอาวุธปืนมาก่อน ต้องส่งเรื่องราวคำร้องให้ตำรวจท้องที่สอบสวนคุณสมบัติ และหลักทรัพย์(ยกเว้นผู้ขอเป็นผู้ใหญ่บ้าน)

- สำหรับต่างจังหวัด ให้นายทะเบียนท้องที่พิจารณาสอบสวนคุณสมบัติอย่างรอบคอบ และรวดเร็ว โดยราษฏรให้

สอบสวนจากเจ้าพนักงานปกครองที่ใกล้ชิดเช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เฉพาะกรณีสงสัยให้นายทะเบียนพิจารณาตรวจสอบ

คุณสมบัติร่วมกับผู้บังคับกอง หรือ หัวหน้าสถานีตำรวจ

3. ถ้านายทะเบียนอนุญาตก็ให้ออก ป.3 ให้ไปซื้ออาวุธปืน

4. เมื่อได้รับ ป.3 แล้วจะต้องซื้ออาวุธปืน ณ ท้องที่ หรือ บุคคลที่ระบุไว้ใน ป.3 เท่านั้น เมื่อซื้อแล้วให้นำอาวุธปืนและ

ใบคู่มือประจำปืนไปขอ ออกใบอนุญาต ป.4

5. เมื่อออก ป.4 แล้ว นายทะเบียนต้องเพิ่มรายการลงในทะเบียนอาวุธปืนประจำรายตำบลและประเภทอาวุธปืน

การขอรับโอนมรดกอาวุธปืน

เมื่อเจ้าของอาวุธปืนตาย ให้ผู้ครอบครองอาวุธปืนแจ้งนายทะเบียนท้องที่ ดังต่อไปนี้

- ท้องที่ที่ผู้นั้นตาย หรือ

- ท้องที่ที่อาวุธปืน ขึ้นทะเบียนอยู่ หรือ

- ท้องที่ที่ผู้ครอบครองอยู่
 ขั้นตอนการขอรับโอนมรดกอาวุธปืน

1. ถ้ามีพินัยกรรมให้ดำเนินการตามพินัยกรรม ถ้ามีผู้จัดการมรดกให้ดำเนินการให้เป็นไปตามที่มีผู้จัดการ หากไม่มีให้สอบปากคำทายาท และให้ได้สาระสำคัญว่าไม่มีทายาทผู้อื่นคัดค้าน จึงจะดำเนินการต่อไปได้ เว้นมีการโต้เถียงให้รอไว้จนคดีถึงที่สุด

2. ทายาท ยื่นคำขอตามแบบ ป.1 ขอรับโอนมรดกอาวุธปืน

3. เรียก ป.4 เก่าคืน ออกใบ ป.4 ให้ใหม่ แก้ไขเพิ่มเติมรายการในทะเบียนอาวุธปืนประจำตำบล

การแจ้งย้ายอาวุธปืน

เมื่อผู้ได้รับอนุญาตให้มี และใช้อาวุธปืนย้ายที่อยู่ ต้องแจ้งการย้ายอาวุธปืนต่อนายทะเบียนท้องที่ด้วย โดยแจ้งแก่นายทะเบียนท้องที่ภายใน 15 วัน นับแต่วันย้ายออกและ ถ้าย้ายไปอยู่ต่างท้องที่ให้แจ้งการย้ายแก่นายทะเบียนท้องที่ใหม่ทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันย้ายไปถึง

กฏหมายและระเบียบเกี่ยวกับการทะเบียนอาวุธปืน

1.พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490

2. คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519

3. กฏกระทรวง ฯ (พ.ศ.2490)

4. หนังสือสั่งการ

5. คำสั่งกระทรวงมหาดไทย




กฎหมายมรดก

กฎหมายมรดก

มรดก หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ เช่นสิทธิตามสัญญาซื้อขาย สิทธิในการไถ่ถอนการขายฝาก เป็นต้น เมื่อบุคคลได้ถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินทุกอย่าง รวมทั้งที่มีในขณะนั้นถือว่าเป็นมรดกของบุคคลนั้นที่จะตกทอดไปยังลูกหลานหรือญาติสนิทที่เป็นทายาท เว้นแต่สิทธิบางอย่างซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัว ถือว่าสิทธินั้นเป็นอันสิ้นไปเมื่อบุคคลนั้นได้ตายไป ไม่ถือว่าเป็นมรดก
ทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรม
ทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรม คือ ผู้ที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันดังนี้
1.ทายาทโดยธรรม หรือเรียกว่าทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย ได้แก่ ผู้ที่มีความผูกพันกับผู้ตายโดยความเป็นญาติหรือคู่สมรสหรือเป็นบุตร ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ 6 ลำดับ ได้แก่
        ผู้สืบสันดาน ได้แก่ บุตร บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม
        บิดามารดา
        พี่น้องร่วมบิดามารดา
        พี่น้องร่วมแต่บิดา หรือมารดา
        ปู่ ย่า ตา ยาย
        ลุง ป้า น้า อา
2.ผู้รับพินัยกรรม หมายถึง ผู้ที่มีชื่อปรากฎในพินัยกรรมที่เจ้าของมรดกมีเจตนายกทรัพย์ให้ ในกรณีที่ผู้ตายประสงค์ที่จะให้ญาติของตนแต่ละคนได้รับมรดกในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน หรือต้องการให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติมามีส่วนรับมรดกของตน หรือไม่ต้องการให้ญาติของตนคนใดมารับมรดกของตัวเอง ทำได้โดยการทำพินัยกรรมระบุไว้ว่าจะยกทรัพย์สินใดให้แก่ใครบ้าง เป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งผู้รับมรดกตามพินัยกรรมนี้ เรียกว่า ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือเป็นวัด มูลนิธิ หรือโรงพยาบาลก็ได้
 
ในการทำพินัยกรรม จะต้องเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นหนังสือพินัยกรรม ซึ่งมีแบบพิธีในการทำ 3 แบบดังนี้
1.พินัยกรรมธรรมดา เป็นหนังสือพินัยกรรมที่ลง วัน เดือน ปี ทีทำมีพยานรับรอง 2 คน และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงชื่อไว้ด้วย ถ้าลงเขียนหนังสือไม่ได้ให้ประทับตราหัวแม่มือขวาลงในพินัยกรรมแทนการลงชื่อ
2.พินัยกรรมเขียนเอง ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยลายมือตัวเองทั้งฉบับ แล้วลงชื่อ และวันเดือนปี ที่ทำพินัยกรรมด้วย
3.พินัยกรรมทำที่อำเภอ ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปหานายอำเภอ หรือผู้อำนวยการเขตให้ทำพินัยกรรมให้ และต้องลงชื่อไว้ในพินัยกรรมนั้นด้วยพร้อมพยานอีก 2 คน
ในการพินัยกรรมไม่ว่าจะเป็นแบบใดนั้น ผู้ทำพินัยกรรมจะสามารถยกเลิกเมื่อใดก็ได้ และพินัยกรรมจะมีผลใช้บังคับก็ต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมได้ถึงแก่ความตายไปแล้วเท่านั้น

ความสำคัญของครอบครัว

ความสำคัญของครอบครัว

หลักฐานที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนสมรส
การหมั้น
การจดทะเบียนรับรองบุตร
การสมรส
มรดกและการทำพินัยกรรม

ครอบครัวเป็นสถาบันขั้นพื้นฐานและเป็นสถาบันหลักของสังคม ครอบครัวจึงประกอบไปด้วย สามี ภรรยา บุตรและญาติ กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวจึงเป็นกฏหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลภายในครอบครัวหรือเครือญาติ ดังนั้น หลักกฏหมายที่ใช้โดยทั่วไปอาจนำมาใช้กับกฏหมายครอบครัวไม่ได้ กฏหมายครอบครัวจึงเป็นกฏหมายที่อ้างอิงหลักศีลธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีมากที่สุด เช่น เงื่อนไขเกี่ยวกับการหมั้น การสมรส การปฏิบัติต่อกันระหว่างสามีและภรรยา การปกครองบุตร ทรัพย์สินระหว่างสามีและภรรยา ตลอดถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมรดก เป็นต้น
  
ก่อนทำการสมรสมักจะมีพิธีหมั้นก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่า การสมรสจะต้องมีการหมั้นเสมอไปทุกครั้ง การหมั้นจะมีก็ได้ไม่มีก็ได้ ที่กฏหมายบัญญัติเกี่ยวกับการหมั้นเอาไว้ด้วยนั้นก็เพื่อรักษาและส่งเสริมประเพณีของไทย
ดังนั้นการหมั้นจึงเป็นเรื่องการทำสัญญาระหว่างฝ่ายชายและหญิงเพื่อตกลงว่าจะสมรสกันแต่เป็นสัญญาที่แตกต่างจากสัญญาโดยทั่วไป คือเมื่อมีการผิดสัญญาหมั้นโดยฝ่ายหนึ่งไม่ยอมสมรสด้วย อีกฝ่ายหนึ่งจะถือเป็นเหตุไปฟ้องร้องต่อศาลบังคับให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาต้องทำการสมรสด้วยไม่ได้ จะทำได้ก็แต่เพียงให้ฝ่ายที่ผิดสัญญารับผิดใช้ค่าทดแทนเท่านั้น
ตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว ได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการหมั้นโดยสรุปได้ดังนี้
1.ชายและหญิงจะทำการหมั้นได้ต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายมีอายุต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ สัญญาหมั้นนั้นใช้ไม่ได้
2.ถ้าชายและหญิง เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ คืออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ สามารถทำการหมั้นได้ด้วยตนเอง ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายยังไม่บรรลุนิติภาวะ จะต้องได้รับคำยินยอมจากบิดาและมารดาหรือผู้ปกครองของชายและหญิงด้วย
ในการหมั้นฝ่ายชายจะต้องให้ทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นเงิน ทอง หรือแหวนเพชรแก่ฝ่ายหญิง ซึ่งทรัพย์สินนี้เรียกว่า ของหมั้น มิฉะนั้นจะถือว่าการหมั้นนี้ไม่ถูกต้อง และนอกจากนี้ฝ่ายชายยังอาจให้ทรัพย์สินแก่พ่อแม่ของหญิงคู่หมั้น โดยถือว่าทรัพย์สินนี้เป็นสินสอด หากต่อมาภายหลังฝ่ายหญิง คู่หมั้นไม่ยอมสมรสกับชายคู่หมั้นก็จะต้องคืนสินสอดและของหมั้นให้กับฝ่ายชายคู่หมั้นด้วย


การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปี บริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้

การสมรสจะกระทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกล จริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาก็ดีจะทำการ สมรสกันไม่ได้ ความเป็นญาติดังกล่าวมานี้ให้ถือตามสายโลหิตโดยไม่ คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้

ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ ไม่ได้

หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อย กว่าสามร้อยสิบวัน เว้นแต่
(1) คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
(2) สมรสกับคู่สมรสเดิม
(3) มีใบรับรองแพทย์ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการ รักษาโรคในสาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์หรือ
(4) มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้

การให้ความยินยอมให้ทำการสมรสจะกระทำได้แต่โดย
(1) ลงลายมือชื่อในทะเบียนขณะจดทะเบียนสมรส
(2) ทำเป็นหนังสือแสดงความยินยอมโดยระบุชื่อผู้จะสมรสทั้งสองฝ่าย และลงลายมือชื่อของผู้ให้ความยินยอม
(3) ถ้ามีเหตุจำเป็น จะให้ความยินยอมด้วยวาจาต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนก็ได้
ความยินยอมนั้น เมื่อให้แล้วถอนไม่ได้

การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วย กัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนดไว้ตาม กฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้
 
1.คู่สมรสทั้งสองที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ให้นำบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของทั้งสองฝ่ายไปแสดง
2. ถ้าคู่สมรสมีอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด นอกจากต้องใช้หลักฐานในข้อ 1 แล้ว ต้องนำบิดามารดาหรือผู้ปกครอง หรือหนังสือยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ซึ่งมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คนเซ็นรับรองไปแสดง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดาหรือผู้ปกครอง
การให้คำยินยอมในการสมรส
สำหรับคู่สมรสที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะหรืออายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์จะต้องได้รับความยินยอมจากพ่อและแม่ของทั้งสองฝ่ายจึงจะทำการสมรสกันได้ ซึ่งกฎหมายได้กำหนดวิธีการไว้ชัดเจน ซึ่งดำเนินการได้ดังนี้
1.ลงลายมือชื่อในทะเบียน ขณะจดทะเบียนสมรส หรือ
2.ทำเป็นหนังสือแสดงความยินยอม โดยระบุชื่อผู้จะสมรสทั้งสองฝ่ายและลงลายมือชื่อของผู้ให้คำยินยอมในหนังสือนั้นหรือ
3.ถ้ามีความจำเป็นจะให้ความยินยอมด้วยวาจาต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนก็ได้ การยินยอมนั้นเมื่อได้แล้วไม่สามารถถอนได้
การสมรสที่ดำเนินการตามเงื่อนไขและขั้นตอนตามที่กฏหมายกำหนดแล้ว ต่อมาภายหลังทราบว่า การสมรสนั้นขัดต่อเงื่อนไขที่กฏหมายกำหนด เช่น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคู่สมรสอยู่ก่อนแล้วมาจดทะเบียนซ้ำ การสมรสครั้งหลังนี้ก็ถือว่าสมบูรณ์และชอบด้วยกฎหมายอยู่จนกว่าฝ่ายที่เสียหายจะฟ้องร้องต่อศาลให้พิพากษาเพิกถอนการสมรสนั้น บุคคลอื่นไม่มีอำนาจที่จะเพิกถอนการสมรสได้ แม้นายทะเบียนผู้รับจดทะเบียนนั้นเอง
ทั้งนี้ ในการจดทะเบียนสมรสนั้น นอกเหนือจากหญิงและชายจะเป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องกันตามกฎหมายแล้ว บุตรที่เกิดมาก็เป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย คู่สมรสได้รับการยกย่องในสังคม ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ หากเป็นข้าราชการจะมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือบุตร ค่าเล่าเรียนและค่ารักษาพยาบาล
 

ในระหว่างการสมรส สามีภรรยาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมายและมีบุตรด้วยกันถือว่า บุตรผู้นั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีสิทธิ์ใช้ชื่อสกุลของบิดา แต่หากไม่มีการจดทะเบียนสมรสกันถือว่าบุตรที่เกิดนั้นเป็นบุตรนอกสมรส หรือหากบิดาไม่ปรากฏ บุตรนั้นมีสิทธิ์ใช้ชื่อสกุลของมารดา ซึ่งโดยกฎหมายจะถือว่าบุตรนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฏหมายของมารดาเสมอ
บุตรนอกสมรสจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฏหมายของบิดาได้ต่อเมื่อปฏิบัติตามที่กฏหมายกำหนดไว้ดังนี้
เมื่อบิดามารดาจดทะเบียนกันภายหลัง
บิดาได้ให้การจดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตร
เมื่อศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

ในการจดทะเบียนรับรองบุตรนั้น บิดามารดาและบุตรจะต้องไปที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ หรือสำนักงาน ถ้ามารดาและบุตรไม่ได้ไปด้วย นายทะเบียนผู้รับจดจะแจ้งไปยังฝ่ายที่ไม่มา เพื่อให้มาให้ความยินยอมหรือคัดค้านการขอจดทะเบียนนั้น ถ้าพ้น 60 วัน นับแต่วันแจ้งความของนายทะเบียนไปถึงถือว่าไม่มีการคัดค้าน นายทะเบียนก็จะรับจดทะเบียนให้ ถ้ามารดาและบุตรอยู่ต่างประเทศก็จะขยายเวลาไปเป็น 180 วัน เมื่อบิดาได้จดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว บุตรนั้นย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา นับแต่วันที่จดทะเบียนนั้นไป

กฏหมายความสามารถของผู้เยาว์


 กฏหมายความสามารถของผู้เยาว์
                  
กฏหมายบัญญัติไว้ว่า การทำนิติกรรมต่างๆ นั้น บุคคลผู้ทำนิติกรรมหรือคู่กรณีในนิติกรรมนั้น ต้องมีความสามารถถูกต้องตามกฏหมาย มิฉะนั้นนิติกรรมนั้นจะถือเป็นโมฆียะ ทั้งนี้เพราะกฏหมายต้องการคุ้มครองบุคคลบางประเภทซึ่งอาจถูกหลอกลวงให้เสียเปรียบในการทำนิติกรรมได้ กฏหมายจึงจำกัดความสามารถของผู้เยาว์ไว้ดังนี้
ผู้เยาว์ คือ บุคคลที่มีอายุยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ หรือเรียกว่า เป็นบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้เยาว์ถูกจำกัดความสามารถในการทำนิติกรรม เพราะเหตุที่อายุยังน้อย ขาดความรอบคอบ ดังนั้นผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ จึงได้ต้องได้รับความยินยอมจาก ผู้แทนโดยชอบธรรม มิฉะนั้นนิติกรรมนั้นจะเป็นโมฆียะ ซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรม ได้แก่ บิดามารดา หรือผู้ปกครอง
ผู้เยาว์อาจบรรลุนิติภาวะได้อีกทางด้วยการทำการสมรสถูกต้องตามกฏหมาย เมื่ออายุไม่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เยาว์อาจทำนิติกรรมบางอย่างได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม เช่น การซื้อสั่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นแก่ฐานะของตน เช่น ซื้อชุดนักเรียน เครื่องใช้ส่วนตัวในการเรียน เป็นต้น

ความหมายของกฏหมาย


 
   

ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองของประเทศชาติ ถือเป็นสมาชิกของสังคม มีความจำเป็นต้องเรียนรู้กฏหมาย ก็เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมและความอยู่รอดของคนในสังคม กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและวิถีการดำเนินชีวิตก็ยิ่งมีความสำคัญ เพราะความเป็นธรรมความยุติธรรมจะเกิดขึ้นในสังคมก็ต่อเมื่อมนุษย์ได้ใช้กฏหมายเป็นบรรทัดฐานในการตกลง ตัดสินข้อพิพาท การแจกจ่ายและการได้มาอย่างมีกฏเกณฑ์และเป็นที่ยอมรับของสังคม

 ความหมายของกฎหมาย

ได้มีผู้ให้ความหมายของกฏหมายไว้ดังนี้
        กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฏหมายไทย
"กฏหมาย"   คือ คำสั่งทั้งหลายของผู้ปกครองว่าการแผ่นดินต่อราษฏรทั้งหลาย เมื่อไม่ทำตาม ธรรมดาต้องลงโทษ"
        ดร.สายหยุด แสงอุทัย
"กฏหมาย"  คือข้อบังคับของรัฐที่กำหนดความประพฤติของมนุษย์ ถ้าฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายหรือถูกลงโทษ"
            กฏหมาย สามารถแยกได้เป็น 2 คำคือ  คำว่ากฏ  ซึ่งแผลงมาจากคำว่า กด หรือกำหนดความประพฤติของมนุษย์ ถ้าฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายและถูกลงโทษ
        จากคำจำกัดความของกฏหมายข้างต้น สามารถสรุปความหมายของกฏหมายได้ว่า หมายถึง ระเบียบ ข้อบังคับ บทบัญญัติซึ่งผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐหรือประเทศ ได้กำหนดมาเพื่อใช้ในการบริหารกิจการบ้านเมืองหรือบังคับความประพฤติของประชาชนในรัฐหรือประเทศนั้นให้ปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม หากผู้ใดฝ่าฝืนจะได้รับผลอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฏหมาย
 
  ลักษณะสำคัญของกฎหมาย

กฏหมายมีลักษณะสำคัญ สรุปได้ดังนี้
1.กฏหมายมีลักษณะเป็นข้อบังคับ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
บังคับไม่ให้กระทำ เช่น ห้ามลักทรัพย์ ห้ามทำร้ายร่างกาย ห้ามเสพสิ่งเสพย์ติด
บังคับให้กระทำ เช่น ประชาชนชาวไทยเมื่อมีอายุ 15 ปี ต้องมีบัตรประจำตัวประชาขน ผู้มีรายได้ต้องเสียภาษีอากร เป็นต้น
2. กฏหมายมีลักษณะเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่เกิดมีขึ้นโดยผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ เช่น ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ออกกฏหมาย ส่วนประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีรัฐสภาเป็นผู้ออกกฏหมาย และพระราชบัญญัติ มีรัฐบาลเป็นผู้ออกพระราชกำหนด พระราชกฤษฏีกาและกฏกระทรวง
3. กฏหมายจะต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้กับบุคคลทุกคนในรัฐโดยไม่มีข้อยกเว้น อย่างเสมอภาคไม่ว่าคนนั้นจะถือสัญชาติใดก็ตาม
4. กฏหมายมีผลบังคับใช้ตลอดไป จนกว่าจะมีคำสั่งยกเลิก
5. ผู้ใดฝ่าฝืนกฏหมายต้องได้รับโทษ การปฏิบัติตามกฏหมายไม่ได้เกิดจากความสมัครใจของผู้ปฏิบัติ แต่เกิดจากการถูกบังคับ ดังนั้นเพื่อให้การบังคับเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีบทลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน ได้แก่
ความผิดทางอาญากำหนดโทษไว้ 5 สถาน คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับและริบทรัพย์สิน
วิธีการเพื่อความปลอดภัย เป็นมาตรการเพื่อให้สังคมปลอดภัยจากการกระทำของผู้กระทำผิดที่ติดเป็นนิสัยไม่มีความเข็ดหลาบ โดยไม่ถือว่าเป็นโทษทางอาญา ตามประมวลกฏหมายอาญากำหนดไว้ 5 ประการ คือ การกักกัน ห้ามเข้าเขตกำหนด เรียกประกันทัณฑ์บน คุมตัวไว้ในสถานพยาบาล และห้ามประกอบอาชีพบางอย่าง
กฏหมายต้องมาจากรัฏฐาธิปัตย์ คือ กฏหมายที่บัญญัติออกมาต้องมาจากรัฐที่มีเอกราช
พนักงานของรัฐเป็นผู้บังคับให้เป็นไปตามกฏหมาย หมายความว่า เมื่อมีการกระทำผิดที่ฝ่าฝืนกฏหมาย จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิด ผู้เสียหายจะแก้แค้นหรือลงโทษกันเองไม่ได้บุคคลเหล่านี้ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้พิพากษา เป็นต้น

 ที่มาของกฎหมาย

แหล่งที่มาของกฏหมายมีอยู่มากมายหลายทาง และมีวิวัฒนาการหรือเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ทังนี้สามารถแบ่งแหล่งที่มาของกฏหมายได้ดังนี้
จารีตประเพณี เป็นแนวปฏิบัติที่ใช้ในการควบคุมความประพฤติของมนุษย์ซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเรื่องของการยึดถือและปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน
การออกกฏหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ในการปกครองระบอบราชาธิปไตย การออกกฏหมายจะเป็นพระบรมราชโองการของกษัตริย์ ต่อมาอำนาจในการออกกฏหมายเป็นของสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการออกกฏหมายโดยเฉพาะ ที่สำคัญคือ สถาบันรัฐสภาหรือสภานิติบัญญัติ ปัจจุบันรัฐที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย รัฐสภาเป็นแหล่งออกกฏหมายโดยตรง
คำสั่งและกฤษฏีกาที่ออกโดยฝ่ายบริหาร เป็นกฏหมายที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้ออกมาบังคับใช้
คำพิพากษาของศาล คำพิพากษาของศาลคือแหล่งที่มาของกฏหมายนั้นๆ เช่น กรณีที่ผู้พิพากษาเคยตัดสินคดีในลักษณะเดียวกันนี้มาก่อน เมื่อมีคดีลักษณะเช่นเดียวกันเกิดขึ้นมาอีก ผู้พิพากษาจะยึดเอาคำตัดสินที่แล้วมาเป็นหลัก
ความคิดเห็นของนักวิชาการ นักวิชาการกฏหมายมีส่วนช่วยให้เกิดกฏหมายใหม่ๆ ขึ้นบังคับใช้ในสังคม หรือนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกฏหมายต่างๆ ทีไม่มีความยุติธรรมหรือไม่มีความเท่าเทียมกันในสังคม ให้มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กฏหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กฏหมายเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงอายุของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจาก 20 ปี เป็น 18 ปี ฯลฯ
 
 จุดประสงค์และความสำคัญของกฎหมาย

จุดประสงค์ของการบัญญัติกฏหมายขึ้นมาก็เพื่อ จัดระเบียบให้กับสังคม ทั้งยังช่วยรักษาความมั่นคงให้รัฐ ระงับข้อพิพาท ประสานผลประโยชน์ทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม ช่วยพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้า โดยใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือในการรักษาระเบียบของสังคม เมื่อสังคมมีระเบียบจะทำให้ง่ายต่อการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
จากจุดประสงค์ของการบัญญัติกฏหมายขึ้นมาข้างต้น สามารถสรุปความสำคัญของกฏหมายได้ดังนี้
เป็นเครื่องมือในการควบคุมและกำหนดแนวทางพฤติกรรมของคนในสังคมให้เป็นระเบียบและเพื่อความสงบเรียบร้อย
เป็นเครื่องมือในการกำหนดและปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมแก่ประชาชนในรัฐ
เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ภายในรัฐ
เป็นเครื่องมือในการรักษาความปลอดภัยและปกป้องอันตรายและภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับสังคมหรือรัฐ
เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมให้เจริญรุ่งเรือง
 
 ประเภทของกฎหมาย

การแบ่งประเภทของกฏหมายโดยพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์หรือขอบเขตการใช้กฏหมายมาเป็นแนวทางในการแบ่งประเภท อาจแบ่งกฏหมายได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. กฏหมายระหว่างประเทศ
กฏหมายระหว่างประเทศ เป็นกฏหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐในฐานะที่เท่าเทียมกัน เป็นกฏหมายที่เกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างรัฐ ซึ่งถือเป็นกติกาในการจัดระเบียบสังคมโลก ตัวอย่างเช่น กฏหมายการประกาศอาณาเขตน่านฟ้า การส่งผู้ร้ายขามแดน และสนธิสัญญาต่างๆ เป็นต้น
2. กฏหมายภายในประเทศ เป็นกฏหมายที่ใช้บังคับภายในรัฐต่อบุคคลทุกคนที่อาศัยอยู่ภายในรัฐ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนของประเทศนั้นๆ หรือบุคคลต่างด้าว กฏหมายภายในประเทศยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ กฏหมายมหาชนและกฏหมายเอกชน
กฏหมายมหาชน   หมายถึง กฏหมายที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นคู่กรณีด้วยกับเอกชน มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดรูปแบบการปกครองรัฐ และควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนในฐานะที่รัฐจำต้องรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และผลประโยชน์ของสาธารณะ โดยทั่วไปกฏหมายมหาชนแบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ
        รัฐธรรมนูญ เป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ กำหนดรูปแบบและการปกครองของรัฐ การใช้อำนาจอธิปไตย และการกำหนดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ
        กฏหมายปกครอง เป็นกฏหมายที่ขยายความให้ละเอียดจากรัฐธรรมนูญบัญญัติเกี่ยวกับองค์กรของรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการปฏิบัติการต่างๆ ตามกฏหมาย กำหนดสิทธิของประชาชนในการเกี่ยวพันกับรัฐ
        กฏหมายอาญา เป็นกฏหมายที่มีบทบัญญัติครอบคลุมเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของรัฐ ชุมชน และประชาชนโดยส่วนรวม วัตถุประสงค์ของกฏหมายเพื่อที่จะให้ความปลอดภัย สร้างความเป็นระเบียบของรัฐและรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน
        กฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฏหมายที่กำหนดรายละเอียดวิธีพิจารณาคดีอาญาทางศาล
        พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กำหนดว่าในการพิจารณาคดีนั้น ศาลใดจะมีอำนาจในการพิจารณาคดีประเภทใด
กฏหมายเอกชน เป็นกฏหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือบุคคลกับนิติบุคคล และบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการต่างๆ ที่ให้บุคคลสามารถรักษาและป้องกันสิทธิมิให้ถูกละเมิดจากบุคคลอื่น เช่น กฏหมายเกี่ยวกับสัญญา การสมรส มรดก กฏหมายเอกชนแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
        กฏหมายแพ่ง เป็นกฏหมายที่กำหนดเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของเอกชน เช่น ความมีสภาพเป็นบุคคล ครอบครัว มรดก นิติกรรม เป็นต้น ซึ่งถ้ามีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของกันและกันแล้ว ไม่กระทบคนส่วนใหญ่ ลักษณะการลงโทษจึงมีเพียงการชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น
        กฏหมายพาณิชย์ เป็นกฏหมายที่กำหนดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคลที่ประกอบการค้าและธุรกิจ เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วน การประกัน เป็นต้น ซึ่งมีผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ ดังนั้นลักษณะของกฏหมายจึงต่างจากกฏหมายแพ่ง
        กฏหมายพิจารณาความแพ่ง เป็นกฏหมายว่าด้วยข้อบังคับที่ใช้ในการดำเนินคดีเมื่อเกิดคดีความทางแพ่ง
สำหรับประเทศไทย ได้รวมกฏหมายแพ่งและกฏหมายพาณิชย์ไว้เป็นฉบับเดียวกัน เรียกว่า ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์
 
 
 หน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฏหมาย ได้แก่
ประชาชน ได้แก่ ผู้กระทำผิด หรือผู้เสียหาย ดังนั้นประชาชนต้องมีความรู้เกี่ยวกับกฏหมายในชีวิตประจำวันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง
พนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจ ได้แก่ เจ้าพนักงานที่กฏหมายให้อำนาจและหน้าที่ในการใช้กฏหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
พนักงานฝ่ายปกครอง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน จับกุม ป้องกัน ปราบปรามผู้กระทำผิด
ตำรวจ ตามประมวลกฏหมายอาญา ตำรวจมีหน้าที่สืบสวน จับกุม สอบสวน เปรียบเทียบปรับ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมหรือควบคุมบุคคลที่ทำความผิดทางแพ่ง
เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจจับกุม ป้องกัน ปราบปรามการกระทำผิดตามกฏหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง เช่น พนักงานป่าไม้ ตำรวจศุลกากร เป็นต้น
พนักงานอัยการ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนว่าสมควรฟ้องหรือไม่ในคดีอาญา และทำหน้าที่เป็นทนายโจทย์หรือทนายจำเลย ว่าความให้ส่วนราชการในคดีแพ่ง
ทนายความ คือ นักกฏหมายที่จดทะเบียนและได้รับอนุญาต โดยมีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงจากฝ่ายโจทย์หรือจำเลยเสนอต่อศาลเพื่อพิจารณา
ศาลยุติธรรม คือ ผู้ที่ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษา ซึ่งมี 3 ระดับ คือ ผู้พิพากษาชั้นต้น ผู้พิพากษาชั้นอุทธรณ์ และผู้พิพากษาศาลฏีกา
พนักงานบังคับคดีและพนักงานราชทัณฑ์ มีหน้าที่บังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล
 

 ความจำเป็นที่ต้องเรียนรู้กฎหมาย

                ในฐานะที่เราเป็นสมาชิกของสังคมจึงมีความจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้ ทำความเข้าใจในกฏหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเราและสังคมที่เราอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อก่อเกิดประโยชน์ต่อตนเอง ซึ่งได้แก่
รู้จักระวังตน ไม่เผลอหรือพลั้งกระทำผิดโดยไม่รู้ตัว เนื่องมาจากเพราะไม่รู้กฏหมาย และเป็นเหตุให้ต้องได้รับโทษตามกฏหมาย
ไม่ให้ถูกผู้อื่นเอาเปรียบและถูกฉ้อโกงโดยที่เราไม่มีความรู้เรื่องกฏหมาย
ก่อเกิดประโยชน์ในการประกอบอาชีพ ถ้าหากรู้หลักกฏหมายที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพของตนเองแล้วย่อมจะป้องกันความผิดพลาดอันเกิดจากความไม่รู้กฏหมายในอาชีพได้
ก่อให้เกิดประโยชน์ทางการเมืองการปกครองของประเทศ เพราะเมื่อประชาชนรู้จักใช้สิทธิและหน้าที่ของตนเองตามกฏหมายแล้ว ย่อมทำให้สังคมเกิดความสงบเรียบร้อย
ในชีวิตประจำวันบุคคลมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิตตามระบบการเมือง การปกครอง ระบบกฏหมายและระบบเศรษฐกิจ เราจะต้องรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเองและรู้จักใช้สิทธิที่มีอยู่ไปประกอบอาชีพและสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ โดยมีสิทธิเลือกได้ว่าจะดำเนินชีวิตส่วนตัวอย่างไร แต่ต้องอยู่ภายในขอบเขตที่กฏหมายกำหนด บุคคลจึงต้องขวนขวายหาความรู้เกี่ยวกับกฏหมายเพื่อใช้ติดต่อสื่อสารการดำเนินวิถีชีวิตประจำวัน